ถกบทเรียนทุ่งป่าคา ชี้กระบวนการยุติธรรมไม่ใช้ข้อเท็จจริง เตรียมยื่นฏีกาช่วย

ถกบทเรียนทุ่งป่าคา ชี้กระบวนการยุติธรรมไม่ใช้ข้อเท็จจริง เตรียมยื่นฏีกาช่วย

จ.เชียงใหม่ (21 พ.ค.58)/ศูนย์ชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มช. จัดเสวนา “บทเรียนทุ่งป่าคา สู่การปฏิรูประบบยุติธรรมในสังคมไทย”  ระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ชี้กระบวนการยุติธรรมไม่ได้ใช้ข้อเท็จจริงพิสูจน์ความถูกต้อง เตรียมยื่นถวายฎีกาช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินดคี

เมื่อเวลา 13.00 – 16.30 น. ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้มีการจัดเสวนา “บทเรียนทุ่งป่าคา สู่การปฏิรูประบบยุติธรรมในสังคมไทย” โดยมีกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากคดีบ้านทุ่งป่าคา อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน นักวิชาการ นักกิจกรรม พระภิกษุ และ องค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมกว่า 80 คน

อาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ ประธานกรรมการและหัวหน้าศูนย์ชาติพันธุ์และการพัฒนา กล่าวว่าผู้เข้าร่วมเสวนาส่วนใหญ่ได้รับทราบข้อมูลและปัญหาของกลุ่มชาวบ้านทุ่งป่าคามาโดยตลอด ตั้งแต่ทหารเข้าจับกุมในความผิดฐานครอบครองไม้ต้องห้าม แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจากคำพิพากษาของศาล ก็ทำให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง แต่ใช้การตัดสินแบบรวบยอด ดังนั้นบทเรียนของชาวบ้านทุ่งป่าคา อาจไม่ใช่กรณีเดียวของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทย ไม่มีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมจึงไม่ใช้ข้อเท็จจริงตามสภาพเข้ามาพิจารณา การเสวนาในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อหาคำตอบใน 3 ประเด็น คือ 1 บทเรียนจากทุ่งป่าคา จะนำไปสู่การเรียกร้องความยุติธรรม ได้หรือไม่ 2 สมาชิกในครอบครัวของผู้ถูกดำเนินคดี มีการเข้าไปช่วยเหลือและแก้ไขเฉพาะหน้าอย่างใด และ 3  หลังจากมีคำพิพากษาของศาลไปแล้ว อยากให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากกลุ่มชาวบ้าน

นายพงษ์ศักดิ์ เต็มสามารถ ราษฎรบ้านทุ่งป่าคา ซึ่งบิดาถูกจับกุมคดีครอบครองไม้ กล่าวว่าการเข้าจับกุมของ จนท.ทหาร ใช้วิธีเหมารวม มีการให้ชาวบ้านเซ็นชื่อแทนกัน ชาวบ้านบางคน ครอบครองไม้ไว้ซ่อมแซมบ้านกลับถูกจับกุม ขณะที่บางคนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าไม้ กลับไม่โดนจับกุม นอกจากนี้ปัจจุบัน ยังมีการขอคืนพื้นที่ของราษฎรบางรายที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการครอบครอง ทำให้ชาวบ้านต้องประสบปัญหาทั้งถูกจับกุมคดีครอบครองไม้ และบุกรุกผืนป่าด้วย

ด้าน ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มช. กล่าวว่าก่อนการเสวนาได้ส่งอีเมล์ถึงฝ่ายทหารมณฑลทหารบกที่ 33 เพื่อเชิญเข้ารับทราบข้อเท็จจริงในการเสวนา โดยเฉพาะประเด็นว่าทหารโกหก เพราะฝ่ายทหารเคยแจ้งว่าจะไม่จับคนจน แต่กลุ่มที่เข้าจับกุมราษฎรบ้านทุ่งป่าคา เป็นทหารพรานที่สังกัด มทบ.33 ทั้งนี้กรณีบ้านทุ่งป่าคาก่อให้เกิดแนวคิด 3ข้อ ได้แก่ 1) หลังรัฐประหารทุกครั้ง ทหารจะเข้ามาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องป่าไม้ เนื่องจากต้องการสร้างความชอบธรรมหลังทำรัฐประหารให้คนชนชั้นกลางใน กทม. ได้เห็น ส่วนคนที่ตกเป็นแพะคือคนที่อ่อนแอในสังคม 2) การช่วยเหลือเฉพาะหน้าให้กับราษฎรบ้านทุ่งป่าคา ควรมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา และ 3) ควรมีการรื้อคดี และยื่นถวายฎีกา

บาทหลวงวินัย บุญลือ จากคณะเยซูอิต สวนเจ็ดริน กล่าวว่าคดีบ้านทุ่งป่าคาชุมชนท้องถิ่น ตกเป็นแพะให้กับขบวนการค้าไม้ นอกจากนี้การพิจารณาคดีของศาลยังดูจากสำนวนที่ตำรวจเขียนส่งให้ โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และปัจจุบันกลุ่มชาวบ้านุ่งป่าคาที่ได้รับผลกระทบยังขาดหน่วยงานเข้ามาดูแล ซึ่งหากชาวบ้านออกมาเรียกร้องสิทธิ อาจถูกหน่วยงานของรัฐ เข้าไปข่มขู่ได้

พะตีจอนิ โอ่โดเชา ที่ปรึกษาเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) กล่าวถึงแนวทางการต่อสู้ห้วงต่อไป โดยเฉพาะการยื่นถวายฎีกา โดยจะต้องจัดหาคนเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้าน นอกจากนี้ยังอาจจัดเวทีหารือร่วมกันหลายฝ่าย โดยใช้กลไกการเจรจาของเครือข่ายที่ดินกับรัฐบาลหรือภายใต้กลไกลตามมติ ครม.เมื่อ 3 ส.ค.53

ขณะที่พระครูพิพิธสุตาทร ประธานกรรมการเครือข่ายศาสนาระดับประเทศ และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเริ่มต้นจากตำรวจจนมาถึงอัยการ โดยในส่วนของตำรวจต้องมีการปฏิรูปการทำงานใหม่ นอกจากนี้สังคมไทย เป็นสังคมที่ชอบช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ที่เป็นทุกข์ แต่ความทุกข์ของกลุ่มคนเล็กๆ กลับรู้สึกเฉยๆ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาบ้านทุ่งป่าคา จึงต้องรวบรวมองค์ความรู้เสนอต่อสังคมให้เข้าใจปัญหา รวมถึงป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

อ.เคน แคมป์ ที่ปรึกษาเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย กล่าวว่าระบบยุติธรรมในปัจจุบันยังไม่สร้างความเป็นธรรมเพราะเป็นผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ นอกจากนี้ผู้ถือกฎหมายจะยึดหลักตามตัวอักษรของกฎหมาย มากกว่าความยุติธรรมที่เกิดขึ้นจริง กรณีบ้านทุ่งป่าคา จะต้องมีการสร้างเครือข่าย เพื่อรวมพลังในการต่อสู้

ทั้งนี้ภายหลังการเสวนา ทางผู้จัดได้สรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาบ้านทุ่งป่าคาที่ได้จากการระดมความคิดเห็นของวิทยาการและผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ 1) การเตรียมข้อมูล ให้กับคณะกรรมการสิทธิฯ ซึ่งจะลงพื้นที่บ้านทุ่งป่าคา ประมาณวันที่ 25 มิ.ย. นี้  2) การเข้าเยี่ยมและช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีที่เรือนจำแม่สะเรียง 3) การเข้าดูแลครอบครัวของผู้ถูกดำเนินคดี 4) การจัดตั้งกองทุนอยุติธรรม 5) การเตรียมยื่นถวายฎีกา 6) การขอให้นักวิชาการที่เข้าร่วมเสวนา เข้าเป็นที่ปรึกษาช่วยเหลือชาวบ้าน และ 7) การเข้าพบผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน เพื่อชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้น.

You may also like

กลุ่ม Chiang Mai Pride จับมือร่วมกับ Asset World Corporation (AWC) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงาน “Chiang Mai Colourful Pride Month 2024” เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และเชื่อมโยงการท่องเที่ยว

จำนวนผู้