เชียงใหม่เตรียมพร้อมเป็นเมืองมรดกโลก องคมนตรีชี้หากผ่านการรับรองจะเป็นเมืองมรดกโลกที่มีชีวิตเหตุเพราะยังมีคนอยู่ในอาศัย เชื่อศิลปวัฒนธรรมที่งดงามกว่า 720 ปีและแรงผลักดันรวมทั้งการรวมพลังจากทุกภาคส่วนจะช่วยขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย

เชียงใหม่เตรียมพร้อมเป็นเมืองมรดกโลก องคมนตรีชี้หากผ่านการรับรองจะเป็นเมืองมรดกโลกที่มีชีวิตเหตุเพราะยังมีคนอยู่ในอาศัย เชื่อศิลปวัฒนธรรมที่งดงามกว่า 720 ปีและแรงผลักดันรวมทั้งการรวมพลังจากทุกภาคส่วนจะช่วยขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย

ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในการเสนอพื้นที่เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก โดยมี นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ดร.วสุ  โปษยะนันทน์ สถาปนิกชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นวิทยากรร่วมบรรยาย โดยมีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน เครือข่ายชุมชน พระสงฆ์ นักวิชาการ ประชาชนผู้สนใจ เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 100 คน

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ เพี่อชี้แจงสถานะของเมืองเชียงใหม่ ที่ได้ถูกบรรจุบัญชีเบื้องต้น (Tentative List) เมืองมรดกโลกขององค์กรยูเนสโกแล้ว  และบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนทุกภาคส่วน ให้ประชาชนชาวเชียงใหม่เกิดความหวงแหน และการอนุรักษ์ พัฒนามรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษล้านนา ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และสิ่งแวดล้อม

นายบุญเลิศ  บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีต้นทุนทางวัฒนธรรม มีวัฒนธรรมทางศิลปวัฒนธรรมที่งดงามมากว่า 720 ปี   อบจ.เชียงใหม่ ได้เห็นความสำคัญของการรักษาเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น สภาพแวดล้อมของสถาปัตยกรรมโบราณสถาน แหล่งประวัติศาสตร์ให้สืบทอดสู่คนรุ่นต่อไป อบจ.เชียงใหม่มีความยินดีที่จะร่วมมือโดยมีแนวร่วมจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรมศิลปากร คณะสงฆ์ ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก้ ประเทศฝรั่งเศส ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ในการช่วยกันผลักดันให้พื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก

“ขณะนี้ เมืองเชียงใหม่อยู่ในบัญชีเบื้องต้นเมืองมรดกโลกขององค์กรยูเนสโกแล้ว   สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เมืองเชียงใหม่ได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกคือ ความร่วมมือในด้านต่างๆ จากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน “นายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าว

ด้านดร.วสุ   โปษยะนันทน์  ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ความเป็นมรดกโลก สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง การเตรียมความพร้อมในการหามาตรการดูแลรักษาเมืองเชียงใหม่ให้อยู่ในสภาพที่ดี  เมื่อประเทศไทยได้สมัครเข้าร่วมรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก  ทำให้มีพันธะผูกพันในการรักษาอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก  มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศไทยในการติดต่อประสานงาน ให้ข้อมูล ระหว่างประเทศไทยและคณะกรรมการมรดกโลกขององค์กรยูเนสโก โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ และมีคณะอนุกรรมการที่ดูแลในเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะ

ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้ จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน และมีอธิบดีกรมศิลปากรเป็นเลขานุการ  ในส่วนของกรมศิลปากรที่ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะอนุกรรมการชุดนี้  ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการนำแหล่งวัฒนธรรมขึ้นสู่บัญชีมรดกโลกขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง  เพื่อทำหน้าที่ กลั่นกรองแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ที่จะนำเสนอเข้าสู่การขึ้นเป็นมรดกโลกในเบื้องต้น

สำหรับการประเมินแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของคณะกรรมการมรดกโลก จะมีองค์กรที่ปรึกษาที่ชื่อว่า ICOMOS (International Council on Monuments and Sites)ทำหน้าที่จัดหาผู้เชี่ยวชาญที่จะทำหน้าประเมินแหล่งมรดกตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้หรือไม่ ความแท้ของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เช่นความแท้ในรูปแบบสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ความแท้ในเรื่องฝีมือช่าง วัสดุ การใช้สอย รวมถึงความครบถ้วนเรื่องคุณค่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการประเมินในเรื่องการมีมาตรการคุ้มครอง การจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสมหรือไม่

ดังนั้น กระบวนการในการประเมินว่าจะได้ขึ้นบัญชีมรดกโลกหรือไม่ คือการพิจารณาใน เรื่องคุณค่า ความสำคัญ ความแท้ ความครบถ้วนและสิ่งที่สำคัญคือเรื่องการจัดการ ในส่วนของประเทศไทยมีการจัดตั้งสมาคม ICOMOSไทย เป็นองค์กรอิสระที่กรมศิลปากรก่อตั้งขึ้น โดยทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนทางด้านวิชาการ แนะนำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินของ ICOMOS สากล

ดร.วสุ กล่าวอีกว่า  ขณะนี้ เมืองเชียงใหม่ได้เข้ามาอยู่ในบัญชีเบื้องต้นเมืองมรดกโลกแล้ว  มีข้อมูลต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ปรากฏอยู่ในเวปไซต์ของศูนย์มรดกโลก  ซึ่งเป็นการประกาศว่าเมืองเชียงใหม่มีความต้องการอยู่ในบัญชีมรดกโลกในอนาคต ขั้นตอนต่อไปคือการเสนอเอกสารฉบับเต็ม (Nomination Dossier) โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องมีชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีชั่วคราวอย่างน้อยหนึ่งปี  จึงจะมีสิทธิส่งเอกสารฉบับเต็มได้ ซึ่งภายในเดือนมีนาคมปี 2559 จะสามารถส่งเอกสารฉบับเต็มได้  และการส่งเอกสารฉบับเต็ม จะต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างถี่ถ้วน ในเรื่องแผนบริหารจัดการ เรื่องการกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน ในการเสนอพื้นมรดกโลกที่จะสอดคล้องกับคุณค่าที่นำเสนอ มีมาตรการในการดูแลอย่างดี  เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ส่งแล้วจะได้เป็นเมืองมรดกโลก

ในส่วนของผลการตัดสิน  จะขึ้นอยู่กับเสียงของคณะกรรมการมรดกโลก 21 ชาติ ซึ่งจะพิจารณาจากร่างมติที่ ICOMOS เป็นผู้ประเมิน   สำหรับกรณีของเมืองเชียงใหม่ ที่ได้นำเสนอสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติด้วย โดยอ้างอิงเรื่องภูเขา แม่น้ำ  อาจจะต้องส่งเรื่องให้องค์กรที่เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลกด้านธรรมชาติ คือ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ(IUCN) ซึ่งเข้ามาร่วมในการประเมินด้วย  ถือเป็นลักษณะพิเศษของเมืองเชียงใหม่ นอกจากเรื่องศิลปวัฒนธรรม จะต้องมีการประเมินสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ   เนื่องจากได้มีการอ้างอิงถึง  เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมและดำเนินการต่อไป

นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะผู้แทนรมว.มหาดไทย กล่าวว่า การที่เมืองเชียงใหม่ได้ขึ้นบัญชีมรดกโลกนั้น ถือว่าเมืองเชียงใหม่ได้เป็นสมบัติของโลก  โดยได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ให้มาอธิบายหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ในด้านกฎหมาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540  และกฎกระทรวง กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีหน้าที่ในเขตขององค์กรบริหารส่วนจังหวัดในการดำเนินการ บำรุงรักษาศิลปะจารีตประเพณี วัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และร่วมการจัดกิจกรรมใดๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมดำเนินการ

กระทรวงมหาดไทยได้มีแผนพัฒนากำหนดให้เทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลาย นำปัญหาความต้องการของแผนพัฒนาท้องถิ่นที่เกินศักยภาพ  เสนอแผนไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดชียงใหม่ เช่น ในกรณีการนำเมืองเชียงใหม่ขึ้นสู่มรดกโลก เขตเมืองเก่าของจังหวัดเชียงใหม่  อยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการดำเนินการ  แต่หากเกินกำลังการบริหารจัดการ ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ สามารถบูรณาการร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้  จัดตั้งงบประมาณลงมาดูแลได้ ปรับปรุงพัฒนาให้ถูกต้องเหมาะสม สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ต้องค่อยๆ บูรณะขึ้นมา  สิ่งที่เป็นทัศนะอุจาด ต้องค่อยๆ ปรับลดลงไป

นอกจากนี้จังหวัดเชียงใหม่ยังมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านสถาปัตยกรรม นักอนุรักษ์ ที่มีข้อมูลการวิจัยต่างๆ ที่เป็นประโยชน์  สามารถให้คำปรึกษา และการชูจุดเด่นให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองสร้างสรรค์   และ ECO Village  การพัฒนาทางศิลปวัฒนธรรมของคนเชียงใหม่ซึ่งสามารถสอดคล้องไปกับการอนุรักษ์อาคารสถาปัตยกรรม ศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งต่างๆที่มีอยู่เดิม ให้กลมกลืนไปด้วยกัน โดยยังคงอัตลักษณ์และเอกลักษณ์อันดีงามของจังหวัดเชียงใหม่ไว้ได้   หน้าที่ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยและจังหวัดเชียใหม่คือ การส่งเสริมสนับสนุน การประชาสัมพันธ์ และการอนุรักษ์เชียงใหม่ และทำให้เชียงใหม่ได้ขึ้นบัญชีมรดกโลกอย่างแท้จริง   อย่างไรก็ตาม จะมีการบรรจุเรื่องเชียงใหม่เมืองมรดกโลกไว้ในแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่อย่างแน่นอน

ทางด้านนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากจังหวัดเชียงใหม่ได้ขึ้นบัญชีขึ้นเบื้องต้นในการเสนอเป็นเมืองมรดกโลกแล้ว คงจะใช้ระยะเวลาเตรียมการอีกไม่เกิน 10 ปี เพื่อเตรียมการเสนอเป็นมรดก ซึ่งระยะ10 ปีนี้ ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกัน  ประเด็นสำคัญในการเตรียมการเข้าสู่มรดกโลก มี 4 ประเด็น สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงการคัดเลือกพื้นที่เสนอเป็นมรดกโลก ซึ่งจะต้องเป็นพื้นที่มีความสำคัญ มีคุณค่า  ประเด็นต่อมาคือความร่วมมือของเจ้าของพื้นที่  การหาข้อตกลงร่วมกัน  ประการที่สามคือกลไกต่างๆต้องมีการบริหารจัดการ มีการออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อทำให้พื้นที่จะเป็นมรดก ยังมีความพร้อม  มีความสะดวกสบาย เหมาะสม มีการเรียนรู้  ระบบสาธารณูปโภค  ทางเท้า รูปแบบบ้านเรือน  การกำหนดความสูง ต่ำของอาคาร  ความสะอาด สุขาภิบาล การบริการขนส่งมวลชนที่เหมาะสม กับพื้นที่  เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์กติกาที่เทศบาลสามารถออกเป็นเทศบัญญัติมาเป็นข้อกำหนดดูแล  และประการสุดท้าย การเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ข้างเคียง  คือความร่วมมือระหว่างพื้นที่ชุมชนที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างเคียง ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จะต้องเข้ามาเป็นทีมเดียวกัน ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองมรดกโลกแล้วมีการไปท่องเที่ยวยังพื้นที่ข้างเคียงต่อ

นอกจากนี้การพัฒนาต่างๆจะต้องมีมาตรฐาน เช่น มาตรฐานภาคบริการ ทางเดินเท้า ระบบบำบัดน้ำเสีย คูคลอง ระบบสายไฟ เมื่อประกาศเป็นเขตมรดกโลก อาจจะต้องมีการนำสายไฟต่างๆลงใต้ดิน ทำให้เป็นภาพที่เผยแพร่ไปสู่สายตาคนทั่วโลกแล้ว เกิดความรู้สึกอยากมาเที่ยว ทำให้เห็นคุณค่าของผู้ที่ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการกำหนดแผนยุทธศาสตร์หรือการกำหนดแผนงานในงานทำงาน กำหนดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรท้องถิ่น งบประมาณที่ใช้  ซึ่งจะต้องอาศัยการทำงานในเชิงบูรณาการหรือการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน  และในการขับเคลื่อน ที่ดีจะต้องมียุทธศาสตร์หรือแผนงานรองรับ  ซึ่งการเชื่อมโยงแผนงาน จะเชื่อมอยู่ใน 2 มิติ คือ 1.เชื่อมโยงในเนื้อหาและเวลาการทำงาน  2.เชื่อมโยงในทางความคิดความรู้สึกของชุมชนที่จะมีส่วนร่วมในการทำงาน

ขณะที่นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ในปีหน้า จังหวัดเชียงใหม่จะมีอายุครบ 720 ปี จังหวัดเชียงใหม่มีศิลปวัฒนธรรม สามารถแบ่งได้เป็น 3 ยุคใหญ่ๆ คือ ยุคแรกที่พญามังรายสร้างเมือง  ยุคที่เมืองเชียงใหม่ไปอยู่กับพม่า และยุคที่พญากาวิละเปลี่ยนมาอยู่กับสยามจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น เมืองเชียงใหม่จึงจุดเด่นมีวัฒนธรรมที่หลากหลายผสมผสานกันอยู่

สำหรับการเตรียมตัวนำเมืองเชียงใหม่เป็นมรดก ทางเทศบาลได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ในเขตเทศบาล เรื่องของระบบสาธารณูปโภคต่างๆ  เช่นการปรับปรุงตกแต่งอาคาร การควบคุมความสูงของอาคารไว้ไม่ให้เกิน 12 เมตร และอาคารรูปทรงสิ่งปลูกสร้างต้องเป็นอาคารทรงล้านนาและ สีจะต้องเป็นโทนสีเดียวกันคือ ขาว ครีมและน้ำตาล โดยอนุญาตให้มีสีอื่นปนได้ไม่เกิน 20%  มีการพูดคุยกับการไฟฟ้าเพื่อย้ายสายไฟลงไปไว้ใต้ดิน โดยเริ่มจากถนนสายพระปกเกล้าก่อนขยายไปเส้นทางอื่น  และการปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ขั้นตอนต่อมา เทศบาลนครเชียงใหม่ได้จัดรถจักรยานไว้ปั่นชมตัวเมือง  การเปลี่ยนรถเมล์ที่ใช้น้ำมันไปใช้รถเมล์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และสามารถห้อยรถจักรยานไปด้วย เพื่อตอบโจทย์ของยูเนสโกในเรื่องสิ่งแวดล้อม  และอาจกันพื้นที่ไม่ให้รถบัสขนาดใหญ่เข้ามาวิ่งในเขตเมืองเก่า และเรื่องการจัดโซนนิ่งสถานบันเทิง ซึ่งถ้าเป็นสถานบันเทิงขอเปิดใหม่จะไม่อนุญาต ส่วนสถานบันเทิงเก่า จะกำหนดระยะเวลาในการย้ายออกนอกพื้นที่เขตเมืองเก่า โดยอาจกำหนดระยะเวลา 3-4 ปี ซึ่งต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจกับหลายภาคส่วนด้วย เพราะบางส่วนไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของเทศบาลหรืออาจปรับเปลี่ยนเวลาเปิดปิดสถานบันเทิงให้เร็วขึ้น เช่นกฎหมายอาจอนุญาตให้เปิดถึงเที่ยงคืนแต่ในเขตเมืองเก่าอาจปรับเวลาเปิด 4 ทุ่ม

“คาดว่าภายใน 2 เดือน อาคารย่านประตูเชียงใหม่และอาคารด้านแจ่งศรีภูมิด้านในจะเปลี่ยนไป  สิ่งสำคัญคือต้องมีการพูดคุยกัน ซึ่งทุกวิธีจะมีทางเลือกว่าจะทำไวหรือช้า เช่นเรื่องสีของเมืองถ้าอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว ก็ต้องออกกฎหมายเทศบัญญัติ   ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ ลำพังเทศบาลฝ่ายเดียวคงทำไม่สำเร็จ แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะเจ้าของบ้าน เพื่อให้เชียงใหม่เติบโตอย่างยั่งยืน”นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่กล่าว

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวว่า แหล่งทางวัฒนธรรมของประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้ว คือ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร   อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งทั้ง 3แห่ง เป็นแหล่งมรดกโลกที่ไม่มีคนอยู่อาศัย ถ้าเมืองเชียงใหม่ได้ขึ้นเป็นเมืองมรดกโลก จะเป็นเมืองมรดกโลกที่มีชีวิต เพราะมีคนอยู่อาศัย  จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยืนยาว วัฒนธรรมชัดเจน ไม่เหมือนที่อื่น แต่ได้สร้างวัฒนธรรมของตนเองขึ้นมา 700 กว่าปี มีอารยธรรมทั้งด้าน สิ่งก่อสร้าง ภาษา เครื่องแต่งกาย อาหาร การออกแบบบ้านเรือน วิจิตรศิลป์ต่างๆ

จังหวัดเชียงใหม่มีคุณลักษณะที่สำคัญ 5 ประการ คือ เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมของล้านนา ศูนย์กลางการศึกษา ศูนย์กลางการค้าขาย พณิชย์ ศูนย์กลางการท่องเที่ยว และเป็นศูนย์กลางของศาสนานิกายเถรวาท   ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังคือ ความเป็นศูนย์ กลางการค้าและศูนย์กลางการท่องเที่ยวเพราะอาจมีผลกระทบทำให้ความเป็นศิลปวัฒนธรรมล้านนาสูญหายไปได้ การเตรียมตัวของเมืองเชียงใหม่เพื่อที่จะให้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลก จะต้องเตรียมการ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ  การเตรียมตัว ข้อมูล รายละเอียดเอกสารให้พร้อม และ ต้องจัดตั้งหน่วยงาน คณะกรรมการ บริหารจัดการเมืองมรดกโลก

 

 

You may also like

บสย. จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา โครงการ “บสย. ร่วมใจ ทำดี เพื่อสังคม” ครั้งที่ 2 ร่วมซ่อมแซม ทาสี เครื่องเล่นเด็ก ปลูกต้นไม้ ณ สวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์

จำนวนผู้