เชียงใหม่พอใจผลดำเนินงานช่วง “60 วันห้ามเผาเราทำได้”เผยค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานเพียง 4 วันลดลงจากปีก่อนร้อยละ 71

เชียงใหม่พอใจผลดำเนินงานช่วง “60 วันห้ามเผาเราทำได้”เผยค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานเพียง 4 วันลดลงจากปีก่อนร้อยละ 71

เชียงใหม่พอใจผลดำเนินงานช่วง “60 วันห้ามเผาเราทำได้”เผยค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานเพียง 4 วันลดลงจากปีก่อนร้อยละ 71 พร้อมกำหนดรอบเวรการเผาเพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงกว่า 5 หมื่นไร่ โดยจำกัดวันละ 3 ชั่วโมง ยกเว้นพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ หากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย

นายสมคิด  ปัญญาดี ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่มีสภาพภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ โอบรอบไปด้วยภูเขาสูง เมื่อเกิดการเผาไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่า หรือพื้นที่การเกษตร จะส่งผลให้เกิดหมอกควันปกคลุมเป็นบริเวณกว้างและเป็นเวลานาน หมอกควันดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อโรคระบบทางเดินหายใจ หรือแม้แต่เกิดการระคายเคืองแสบลูกตา หากได้รับและสัมผัสโดยตรง ซึ่งปัญหาวิกฤติหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งนั้น เช่น การเผาป่า เพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ข้าวไร่ ฯลฯ การเผาเศษหญ้า ใบไม้ ขยะ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรต่างๆ หากปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นเรื่อรัง และก็แก้ไขกันไปอย่างไม่รู้จบสิ้น จะส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเมืองที่แออัดอากาศถ่ายเทไม่สะดวก และสิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ ภาพลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก และจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่

อย่างไรก็ตามผลการดำเนินโครงการ 60 วันห้ามเผาเราทำได้ เพื่อเชียงใหม่ไร้หมอกควัน ในช่วง ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 20 เมษายน 2560 จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ ในช่วง 60 วันห้ามเผา ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ ณ เวลา 09.00 น. (PM10) มีค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน มีเกินค่ามาตรฐาน 4 วัน ลดลงจากปีที่แล้วที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน 14 วัน ลดลง 71% ระดับค่า PM10 สูงสุดถึงของปี 2559 ที่สูงถึง 192 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปีนี้ลดลงเหลือสูงสุด 153 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในปี 60 และอากาศยานขึ้นลงได้ปกติ ไม่ดีเลย์ หรืองดเที่ยวบิน เนื่องจากปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่

การตรวจจุดความร้อน Hotspot โดยการนำข้อมูลดาวเทียมระบบ MODIS ซึ่งเป็นเครื่องมือถ่ายภาพที่ได้รับการติดตั้งบนดาวเทียม TERRA และ AQUA  วันละ 4 ช่วงเวลา จากความละเอียดของจุดภาพที่ 1 กิโลเมตร ในช่วง 60 วันห้ามเผา ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 20 เมษายน 2560 สามารถตรวจพบจุดความร้อน Hotspot ทั้งหมด จำนวน 609 จุด วันที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ วันที่ 17 มีนาคม 2560 จำนวน 59 จุด โดยมีค่าเฉลี่ยพบจุดความร้อน Hotspot 10.15 ต่อวัน พบจุดความร้อน Hotspot รายอำเภอมากที่สุด 5 อันดับ คือ อ.เชียงดาว 95 จุด อ.ฮอด 85 จุด อ.อมก๋อย 59 จุด อ.ดอนเต่า 50 จุด และอ.แม่แตง 39 จุด อำเภอที่ไม่ตรวจพบจุดความร้อน Hotspot คือ อ.กัลยาณิวัฒนา และอ.สารภี

และแบ่งข้อมูลการตรวจพบจุดความร้อน Hotspot แบ่งตามประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน พบว่าเกิดมากที่สุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ชุมชนและอื้นๆ พื้นที่เกษตร พื้นที่ริมทางหลวง (250 เมตร) และเขต สปก. ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 พบว่าการตรวจพบจุดความร้อน Hotspot ลดลงทุกประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน พื้นที่เผาไหม้จังหวัดเชียงใหม่ ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม Landsat-8 บันทึกข้อมูล ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 6 เมษายน 2560 ตรวจพบพื้นที่เผาไหม้แล้ว จำนวน 485,994 ไร่

สำหรับการบังคับใช้กฎหมายในช่วงเวลา 60 วัน ห้ามเผาในช่วงที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ได้ ดำเนินคดีรวมทั้งหมด จำนวน 11 คดี แบ่งเป็น คดีกระทำผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข จำนวน 8 คดี และคดีกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ จำนวน 6 คดี รวมทั้งหมด 14 คดี ตามพระราชบัญญัติ การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 25 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะมีโทษความผิดมาตรา 74 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกิน 2,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  และตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช 2484 มาตราที่ 54 มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจําทั้งปรับในกรณี ได้กระทำเป็นเนื้อที่ 25 ไร่ มีโทษจำคุก 2 ปี ถึง 15 ปีและปรับเงิน 10,000 บาทถึง 100,000 บาท

ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อมฯ กล่าวอีกว่า ในช่วงหลัง 60 วันห้ามเผาฯ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กำชับสั่งการแต่ละอำเภอให้ถือปฏิบัติตามแผนทั้งการกำหนดพื้นที่ และช่วงเวลาการเผาอย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีหลายพื้นที่ลักลอบเผา โดยเฉพาะพื้นที่ สปก. ทำให้แนวโน้มค่า PM10 ในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มสูงขึ้น สูงสุดอยู่ที่ 102 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ที่สถานีตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่

ขณะเดียวกัน ทิศทางลมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้ามาจากจังหวัดตาก ทำให้ค่า PM10 เพิ่มสูงขึ้น เพียง 3 วันหลังสิ้นสุด 60 วันห้ามเผา พบจุดความร้อนเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ 53 จุด ส่วนใหญ่ยังเกิดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าอนุรักษ์ ทั้งนี้ หากพบว่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 ในจังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มสูงถึง 110 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ศูนย์อำนวยการสั่งการ จะขอให้ทุกพื้นที่หยุดเผาทันที โดยเฉพาะในระหว่างวันที่ 5 – 7 พฤษภาคม ที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จะเสด็จมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ให้ถือเป็นภารกิจสำคัญไม่ได้เกิดการสะสมของหมอกควัน หากแนวโน้มค่า PM10 ยังสูงต่อเนื่องให้หน่วยฝนหลวงขึ้นปฏิบัติการลดหมอกควันทันที

“ขณะนี้มีปริมาณเชื้อเพลิงกว่า 5 หมื่นไร่ และได้มีการจัดรอบเวรในการเผาซึ่งต้องอยู่ในช่วงเวลา 14.30-18.00 น.หรือวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งรอบต่อไปเป็นของอำเภอแม่แจ่ม กัลป์ยาณิวัฒนา เวียงแหง อมก๋อย แม่วาง แม่แตงและแม่อาย สำหรับเชื้อเพลิงที่อยู่ในพื้นที่เจ้าของต้องทำแนวกันไฟและควบคุมให้อยู่ในพื้นที่ตนเอง โดยต้องทำแนวกันไฟด้วย แต่หากลุกลามไปไหม้พื้นที่ป่าก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ไม่อนุญาตให้มีการเผาโดยเด็ดขาด เช่นเดียวกับพื้นที่โล่งแจ้งหากเผาต้องอยู่ในช่วงเวลาที่กำหนด”นายสมคิดกล่าว

ทางด้านนายชานนท์ คำทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ฝุ่นละอองที่เกินค่ามาตรฐานยังตรวจพบที่ลำปาง ที่ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ 165 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  แต่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน และแพร่ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

สาเหตุหลักมาจากการลักลอบเผาเพื่อหาของป่า ล่าสัตว์ และการเตรียมพื้นที่เกษตรกรมควบคุมมลพิษ จึงขอให้ทุกจังหวัดระดมสรรพกำลังเฝ้าระวังการเกิดไฟ และดับไฟอย่างต่อเนื่อง รวมถึงควบคุมกิจกรรมอื่นๆที่อาจทำให้เกิดฝุ่นขึ้นในพื้นที่ และขอให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าที่เริ่มสูงขึ้นและแนะนำการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนในการงดเผาป่าและเศษวัสดุการเกษตรในช่วงนี้ต่อไป.

 

You may also like

บสย. รุกโมเดล “SMEs Digital Gateway” ปั้น 11 สาขาภูมิภาคสู่ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน

จำนวนผู้