เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง ประกาศเดินหน้าขับเคลื่อนสภาชนเผ่า-พ.ร.บ.

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง ประกาศเดินหน้าขับเคลื่อนสภาชนเผ่า-พ.ร.บ.

เชียงใหม่ (9 ส.ค.60) / ตัวแทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนสภาชนเผ่าพื้นเมืองให้เข้มแข็ง เชื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยได้ พร้อมหนุน พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง ให้คุ้มครองสิทธิทุกด้านอย่างครอบคลุมเมื่อเวลา 10.30 น. ที่เวทีสมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3 และกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2560 ตัวแทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง ประกอบด้วย นายเกรียงไกร ชีช่วง ตัวแทนจากภาคกลางตะวันตก นายวิทวัส เทพสง ตัวแทนจากภาคใต้ นายสุพจน์ หลี่จา ตัวแทนภาคเหนือตอนบน น.ส.วณิชยา กันทะยอง ตัวแทนภาคเหนือตอนล่าง และ ว่าที่ ร.ต.สมโภชน์ ดาศรี ตัวแทนจากภาคอีสาน ได้ร่วมแสดงเจตนารมณ์ และเฉลิมฉลองเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองนายวิทวัส กล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมือง อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัด และชายฝั่งอันดามันของไทยมาหลายร้อยปี มีภาษา วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับ ทั้งที่ควรจะมีสิทธิในที่ดินที่อยู่อาศัย ที่ทำกินทั้งบนบก และในทะเล รวมทั้งยังถูกอคติจากสังคม ทำให้ขาดโอกาสการเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ และขาดความมั่นคงในด้านการสร้างที่อยู่อาศัย  ขณะเดียวกันยังมีภัยคุกคามต่อวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองในภาคใต้คือ การรุกคืบของธุรกิจพัฒนาที่ดิน ธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงกฎระเบียบในเขตของพื้นที่อนุรักษ์และคุ้มครอง ส่งผลให้กลุ่มชนเผ่าในภาคใต้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง ดังนั้น เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองภาคใต้ขอประกาศเจตนารมณ์ว่า

เราจะสร้างความมั่นคงในชีวิตและที่ดิน โดยการร่าง พ.ร.บ.เขตส่งเสริม และคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ และ พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย, ให้มีการพิสูจน์สิทธิในที่อยู่อาศัย ของชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่ภาคใต้ ด้วยวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยึดเอกสารสิทธิ์, ให้ชาวเล สามารถประกอบอาชีพประมง โดยใช้เครื่องมือแบบดั้งเดิม และขอให้มีการดำเนินการในพื้นที่เขตผ่อนปรน เพื่อให้ชาวเลได้เข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ยังจะเร่งแก้ปัญหาสัญชาติ ในกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ยังไม่มีบัตรประชาชน, ให้มีการส่งเสริมด้านการศึกษาตามหลักสูตรวิถีภูมิปัญญา แก่เด็กและเยาวชนรวมถึงสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง, เร่งแก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ ขอให้มองชนเผ่าพื้นเมืองอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน, ให้ส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชนเผ่าพื้นเมือง และขอให้รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุน ชุมชนเครือข่ายที่เข้มแข็งอยู่แล้ว โดยจัดสรรงบประมาณ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้มีการจัดงบประมาณส่งเสริม วันรวมญาติชาวเลในเดือน พ.ย.ของทุกปีนายสุพจน์ กล่าวว่า พวกเราตระหนักอยู่เสมอว่าเราคือคนไทย มีการดำรงชีวิตด้วยองค์ความรู้ ภูมิปัญญา วิถีวัฒนธรรมที่ดีงามของชนเผ่า และตามรอยพระราชา อย่างไรก็ตามพวกเรายังประสบปัญหา และความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต ด้วยข้อจำกัดของกฎหมาย ประกอบกับแผนพัฒนาต่างๆ ของรัฐบาล ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง จนทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิ ความเป็นคนได้อย่างสมบูรณ์

ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นประกอบด้วย เรื่องสิทธิสัญชาติ, สิทธิในเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย ของชนเผ่าพื้นเมือง ที่อยู่ในเขตอุทยาน, สิทธิในเรื่องการศึกษาและสิทธิในเรื่องการรับบริการด้านสุขภาพ, การลดความสามารถในการผลิตอาหารของชนเผ่าพื้นเมือง ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งรัฐส่งเสริมเรื่องของเกษตรแปลงใหญ่ อันเป็นระบบที่ใช้สารเคมีเป็นหลัก เป็นผลให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการไม่มี พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง ก็ทำให้ไม่มีเวทีในการแสดงออก เพราะสภาจะเป็นเครื่องมือในการทำงานให้พี่น้องชนเผ่า ดังนั้นเครือข่ายภาคเหนือตอนบน จะขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ให้ถึงที่สุดด้าน น.ส.วนิสชยา ได้ประกาศเจตนารมณ์ จะร่วมขับเคลื่อนสภาชนเผ่าพื้นเมือง ให้มีความเป็นปึกแผ่นสามัคคี เป็นพลังที่แข็งแกร่งต่อไป และจะร่วมผลักดัน พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้เกิดความเสมอภาค เคารพในสิทธิความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยรัฐต้องยอมรับการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมือง ให้มีที่ยืนอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และส่งเสริมให้ชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

นายเกรียงไกร กล่าวว่า จุดยืนของชนเผ่าพื้นเมืองในภาคกลางตะวันตกนั้น จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งในการสานพลังเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก ซึ่งเราจะยังคงเฝ้าติดตามนโยบายที่เกิดผลกระทบต่อพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง โดยจะขับเคลื่อนให้เกิดความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และเกิดการยอมรับ เข้าใจ ทั่วประเทศ รวมถึงจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพื้นที่ต้นแบบให้เป็นรูปธรรม สอดคล้องกับภาครัฐ และแนวทางที่ยั่งยืนต่างๆ ทั้งนี้เชื่อว่าเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง หรือสภาชนเผ่าพื้นเมือง สามารถเป็นส่วนหนึ่งในกลไกของสังคมไทยได้

ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.สมโภชน์ กล่าวว่าในความเป็นตัวตน กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองเกิดมาก่อนยุคประวัติศาสตร์ในอุษาคเนย์ มีร่องรอยความเป็นอยู่มากกว่า 3,000 ปี อาศัยอยู่ในแผ่นดินนี้มาก่อนที่จะมีการประกาศอาณาจักร หรือแบ่งเขตแดน แต่จากสภาพปัญหาต่างๆ ทำให้พวกเราต้องมีสภาชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อขับเคลื่อนต่อไป เพราะที่ผ่านมากลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองในภาคอีสานถูกกลไกอำนาจรัฐ ทำให้กลายเป็นพลเมืองชั้น 3 ในนามตัวแทนชนเผ่าพื้นเมือง 16 กลุ่มในภาคอีสาน จึงขอประกาศ ณ ที่นี้ว่า เราจะเป็นหนึ่งในองคาพยพที่จะก้าวเดินไปด้วยกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากตัวแทนประกาศเจตนารมณ์บนเวทีเรียบร้อยแล้ว ชนเผ่าพื้นเมืองที่เข้าร่วมกิจกรรมในห้องประชุมทั้งหมด ได้ร่วมใจกันยืนขึ้น และกล่าวคำว่า “พวกเราชนเผ่าพื้นเมือง จะดำรงอยู่คู่สังคมไทย” จำนวน 3 รอบ เพื่อแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่และเป็นหนึ่งเดียว.

You may also like

บสย. เปิด 4 บริการใหม่ Line OA “TCG First” ชวน SMEs จองคิวรับคำปรึกษา 24 ชม. ช่วย ลูกค้า บสย. เช็คข้อมูลค้ำประกัน สะดวก รวดเร็ว ดีเดย์ 2 พ.ค.นี้

จำนวนผู้