อ.ส.ค.เพิ่มกำลังการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ เพื่อรุกขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตั้งเป้ารายได้หมื่นล้าน

อ.ส.ค.เพิ่มกำลังการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ เพื่อรุกขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตั้งเป้ารายได้หมื่นล้าน

อ.ส.ค. เพิ่มกำลังการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์วัวแดง โดยขยายรายผลิตที่โรงงานนม อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนบน เพื่อรุกขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ  ตั้งเป้ารายได้หมื่นล้านเร่งขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค

วันที่ 23 พ.ค.62 ที่สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนบน จ.เชียงใหม่ ที่ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโรงงานอ.ส.ค.ภาคเหนือตอนบน หลังจากที่ได้มีการปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายนมในเขตภาคเหนือ และเป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายนมไปยังต่างประเทศ ว่า ในปี 2562 อ.ส.ค. ตั้งเป้ารายได้ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากปีงบประมาณ 2561 ที่ทำรายได้ 9,560 ล้านบาทโดยอ.ส.ค.ทุ่มงบลงทุนกว่า 40 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์นมเย็นที่โรงงานนม อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนบน  โดยปรับปรุงในส่วนของโรงงาน ระบบการผลิต และเครื่องจักรใหม่ ซึ่งปัจจุบันการผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์นมเย็นมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการลงทุนในการปรับปรุงและการขยายไลน์ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์นมเย็นที่โรงงานนม อ.ส.ค. จังหวัดเชียงใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ

“สำหรับการปรับปรุงโรงงานระบบการผลิต เครื่องจักร ชุดพาสเจอร์ไรส์นี้จะสามารถทำการผลิตได้ 5 ตัน / ชั่วโมง แทงค์น้ำนมดิบ ปริมาณขนาด 10 ตัน แทงค์ผสมน้ำนม ขนาด 500 ลิตร, 2 ตัน และ  3 ตัน และแทงค์พาสเจอร์ไรส์น้ำนม ขนาด 5 ตัน และขนาด 3 ตัน นอกจากนี้ ยังมีเครื่องบรรจุโยเกิร์ต เครื่องบรรจุนมถุง และเครื่องบรรจุนมขวด ปัจจุบัน อ.ส.ค. รับซื้อน้ำนมดิบจากสหกรณ์ฯรวมกว่า 44 สหกรณ์ เฉลี่ย 800 ตันต่อวัน เพื่อรองรับการผลิตในโรงงาน อ.ส.ค. ทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือตอนบน คือจังหวัดเชียงใหม่ ภาคเหนือตอนล่าง ที่จังหวัดสุโขทัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่นและ ภาคใต้ ที่จังหวัดปราณบุรี และภาคกลาง ที่ มวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี”ผอ.อ.ส.ค.กล่าวและชี้แจงอีกว่า

การขยายโรงงานนม อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนบน จังหวัดเชียงใหม่จะทำให้สามารถรองรับปริมาณน้ำนมดิบจากสหกรณ์โคนม และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจากทางภาคเหนือได้มากขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำนมดิบภาคเหนือมีปริมาณเพียงพอและมีมากกว่ากำลังการผลิตเดิมที่เคยผลิตได้ 15 ตัน / วัน ดังนั้น การขยายกำลังการผลิตของโรงงานเป็น 30 ตัน / วัน จึงทำให้  อ.ส.ค. สามารถรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรได้มากขึ้นอีกเท่าตัว เมื่อกำลังการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์สูงขึ้น สามารถส่งผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น จึงช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดเชิงรุกให้แก่ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ที่สามารถกระจายผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์นมเย็นให้เข้าถึงทั่วพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ

ปัจจุบัน  อ.ส.ค. ได้มีการทำแผนประชาสัมพันธ์ เพื่อรณรงค์และสนับสนุนให้คนไทยและเยาวชนไทยหันมาบริโภคนมที่มีคุณภาพจากนมโคสดแท้ 100%  ไม่ผสมนมผงอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย อ.ส.ค. ได้มีการพัฒนาช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการร้านไทย-เดนมาร์คระหว่าง อ.ส.ค. กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศในการเปิดร้านไทย-เดนมาร์ค  มิ้ลค์ช็อป (THAI-DENMARK MILK SHOP) ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 14 สาขาทั่วประเทศ โดยในเขตภาคเหนือ มีจำนวนทั้งสิ้น 4 สาขา ได้แก่ โรงเรียนมงฟอร์ต จ.เชียงใหม่,  มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา

นอกจากนี้ ในส่วนของร้านไทย-เดนมาร์ค มิ้ลค์แลนด์ (THAI-DENMARK MILK LAND) อ.ส.ค. มีการนำผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ที่ผลิตจากน้ำนมโคสดแท้ 100 % ได้แก่ โยเกิร์ต นมพาสเจอร์ไรส์ และไอศครีม มาเป็นส่วนผสมหลักของเมนูเครื่องดื่ม อาทิเช่น โกโก้เย็น ลาเต้ สมูทตี้ผลไม้ต่างๆ ฯลฯ เป็นต้น ปัจจุบันร้านไทย-เดนมาร์ค มิ้ลค์แลนด์ (THAI-DENMARK MILK LAND)  มีทั้งหมด 24 สาขา  ซึ่งในเขตพื้นที่ภาคเหนือ มีทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดน่าน  2 สาขา.

 

You may also like

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือลั่นสู้ พร้อมรวมพลังทวงคืนความมั่งคั่งจากนายทุน

จำนวนผู้