สำรวจภาวะเศรษฐกิจ 8 จังหวัดภาคเหนือผู้ประกอบการครวญต้นทุนสูงรายได้ลด เชื่อเศรษฐกิจไม่ดียาวไปถึงไตรมาสถัดไป

สำรวจภาวะเศรษฐกิจ 8 จังหวัดภาคเหนือผู้ประกอบการครวญต้นทุนสูงรายได้ลด เชื่อเศรษฐกิจไม่ดียาวไปถึงไตรมาสถัดไป

คณะเศรษฐศาสตร์ มช.เผยผลวิจัยสำรวจภาวะเศรษฐกิจรอบเดือนม.ค.-มี.ค. จากการสำรวจผู้ประกอบการใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนพบต้นทุนสูง ไม่ลงทุนเพิ่ม ธุรกิจมีการแข่งขันสูง รายได้ลด มองเศรษฐกิจไตรมาสถัดไปเชื่อยังเป็นแบบเดิม แม้บางส่วนยังมีความหวังระบบเศรษฐกิจจะมีทิศทางดีขึ้นและประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ผศ.ดร.จารึก สิงหปรีชา รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมด้วย รศ.ดร.ศศิเพ็ญ พวงสายใจ ผอ.แผนงานวิจัย คณะเศรษฐศาสตร์ มช.ได้สรุปผลภาวะเศรษฐกิจในรอบเดือนมกราคม-มีนาคม 2560 โดยกล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนา:การพยากรณ์เศรษฐกิจภาคเหนือ แผนงานวิจัยและพัฒนา:การวิจัยและบริการวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นการสำรวจภาวะเศรษฐกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอบความคิดเห็นของผู้ประกอบการถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ เพื่อนำมาใช้ในการพยากรณ์เศรษฐกิจของภาคเหนือรายไตรมาส

ทั้งนี้จากการสำรวจจากผู้ประกอบการใน 8 จังหวัดภาคเหนือประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยาและแม่ฮ่องสอน จากผู้ประกอบการทั้งหมด 1,920 ราย โดยมีกิจการประเภทต่างๆ ได้แก่ ร้านขายของชำ ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายยา ร้านขายผลิตภัณฑ์เสริมสวย ร้านขายโทรศัพท์ ร้านขายหนังสือ ร้านขายวัสดุ อุปกรณ์ทางการเกษตร ร้านขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านขายอุปกรณ์ตกแต่งรถ ร้านขายอาหารสัตว์ ร้านขายของขวัญ ร้านขายของฝาก ร้านขายอาหาร ร้านบริการเช่าที่พักรายวัน รายเดือนและร้านบริการรถเช่า ซึ่งรายงานนี้จะเป็นการคาดการณ์ในด้านจำนวนลูกค้า ผลประกอบการ รายได้  การลงทุนในไตรมาสถัดไป ภาระหนี้สิน แรงงานหรือลูกจ้างและด้านการใช้วัตถุดิบ

ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลทั่วไปของกิจการใน 8 จังหวัดภาคเหนือซึ่งได้เปิดดำเนินกิจการมาตั้งแต่ 4-10 ปี โดยมีรายได้เฉลี่ย 131,361 บาทต่อเดือน ขณะที่มีรายจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 85,288 บาทต่อเดือน และในภาพรวมกิจการส่วนใหญ่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของจำนวนลูกค้า มีเพียงร้อยละ 24.53 ของกิจการทั้งหมดที่มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น และร้อยละ 16.41 ของกิจการทั้งหมดที่มีจำนวนลูกค้าลดลง โดยจังหวัดพะเยาและลำพูนจากการสำรวจพบว่ามีจำนวนลูกค้าลดลงมากที่สุด

นอกจากนั้นยังพบว่ากิจการที่มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น มีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 17.19 ส่วนใหญ่เป็นกิจการประเภทร้านขายอาหาร เนื่องจากลูกค้าประทับใจในการให้บริการ มีการจัดโปรโมชั่นให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ มีสินค้าให้ลูกค้าเลือกหลากหลาย ประกอบกับอยู่ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว ส่วนกิจการที่มีจำนวนลูกค้าลดลงมีอัตราการลดลงเฉลี่ยร้อยละ 27.06 ส่วนใหญ่เป็นกิจการประเภทร้านขายอาหาร เนื่องจากลูกค้ามีทางเลือกที่หลากหลาย กิจการมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้นและประชาชนมีรายได้ลดลงมีการจับจ่ายใช้สอยลดลง

จากการสำรวจผลประกอบการและรายได้ในภาพรวมพบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมีเพียงร้อยละ 25.26 ของกิจการทั้งหมดที่มีผลประกอบการหรือรายได้เพิ่มขึ้นและร้อยละ 16.09 ของกิจการทั้งหมดที่มีผลประกอบการหรือรายได้ลดลง ซึ่งผลประกอบการที่มีรายได้เพิ่มขึ้นมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.33 ส่วนใหญ่เป็นกิจการประเภทร้านขายอาหาร เนื่องจากกิจการเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น มีลูกค้ามาใช้บริการมากขึ้น มีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย มีการหาลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น ราคาเป็นที่ประทับใจของลูกค้า จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประกอบกับช่วงนี้ร้านกำลังเป็นที่นิยม ส่วนกิจการที่รายได้ลดลงมีอัตราลดลงเฉลี่ยร้อยละ 27.30 ส่วนใหญ่เป็นร้านขายอาหาร เนื่องจากลูกค้าลดคู่แข่งมากขึ้น ขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดีทำให้ลุกค้ามีกำลังซื้อลดลง

การสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า ด้านการลงทุนในไตรมาสถัดไปในภาพรวมกิจการส่วนใหญ่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีเพียงร้อยละ 15.73 ของกิจการทั้งหมดที่จะมีการลงทุนเพิ่ม และร้อยละ 6.46 จะมีการลงทุนในไตรมาสถัดไปลดลง ซึ่งกิจการที่จะมีการลงทุนเป็นประเภทร้านขายอาหาร เนื่องจากต้องการกำไรมากขึ้นต้องการมีสินค้าหลายแบบไว้รองรับความต้องการของลูกค้า เป็นการรองรับเทศการท่องเที่ยวที่จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นประชาชนจะมีกำลังซื้อมากขึ้น และจะมีการขยายกิจการ ส่วนกิจการที่จะมีการลงทุนในไตรมาสถัดไปลดลงมีอัตราลดลงเฉลี่ยร้อยละ 26.68 ส่วนใหญ่ก็เป็นร้านอาหารเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ลูกค้าที่มาใช้บริการลดลงมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นและไม่กล้าเสี่ยงลงทุน

ส่วนภาระหนี้สินจากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีเพียงร้อยละ 17.14 ของกิจการทั้งหมดที่มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นและร้อยละ 30.7 มีภาระหนี้สินลดลง ซึ่งกิจการที่มีหนี้สินเพิ่มเป็นพวกร้านขายอาหารเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงขึ้น รายได้ลดลง ลูกค้าที่มาใช้บริการลดลง ต้องการรักษาสภาพคล่องให้กับกิจการและมีการปรับปรุงกิจการ ส่วนกิจการที่มีภาระหนี้สินลดลงเป็นร้านอาหารที่มีลูกค้าเพิ่ม มีการปรับตัวดีด้านการดำเนินกิจการและขยายกิจการ

กิจการส่วนใหญ่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องลูกจ้างหรือแรงงาน มีเพียงร้อยละ 5.89 ที่จ้างเพิ่มซึ่งก็เป็นร้านอาหารที่ลูกค้ามาใช้บริการเพิ่ม มีการขยายกิจการหรือขยายสาขาและเพี่มปริมาณการผลิตและร้อยละ 3.33 มีลูกจ้างลดลงก็เป็นร้านอาหารที่มีลูกค้าน้อย ยอดขายลดลง เช่นเดียวกับการใช้วัตถุดิบของกิจการที่ส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลงจะมีร้อยละ 10.36 ที่เพิ่มขึ้นและร้อยละ 6.98 ใช้วัตถุดิบลดลง

จากการสำรวจวิจัยเกี่ยวกับสถานภาพทางเศรษฐกิจของกิจการโดยรวมของภาคเหนือยังพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้อุปสรรคในการดำเนินกิจการภาพรวมพบว่าอยู่ในระดับปานกลาง และอุปสรรคที่ส่งผลต่อการดำเนินกิจการมากที่สุดคือด้านการแข่งขัน ซึ่งทำให้จำนวนลูกค้าลดลง ส่วนด้านการเงินอุปสรรคส่วนใหญ่ที่กิจการประสบอยู่คือราคาสินค้าวัตถุดิบสูงขึ้น ค่าจ้างสูง แรงงานที่มีส่วนใหญ่ก็ไม่มีประสบการณ์ ต้นทุนสินค้ามีราคาสูงขึ้น ค่าขนส่งราคาสูง เศรษฐกิจตกต่ำ มีการขายตัดราคากันและอัตราการเสียภาษีสูง ทำให้ต้นทุนต่างๆ สูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามจากการคาดการณ์เศรษฐกิจในไตรมาสถัดไปคือในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.2560 ร้อยละ 48 มองว่าเศรษฐกิจก็ยังจะเหมือนเดิมเนื่องจากเป็นธุรกิจส่วนตัว เป็นร้านขนาดเล็กและมีลูกค้าประจำ โดยร้อยละ 38 มองว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเนื่องจากกิจการเป็นที่รู้จักมากขึ้น ลูกค้ามีความประทับใจในการให้บริการและคาดว่าระบบเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ร้อยละ 14 มองว่าเศรษฐกิจจะแย่ลง เนื่องจากการแข่งขันมากขึ้น คู่แข่งมากขึ้น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและประชาชนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง.

You may also like

บสย. จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา โครงการ “บสย. ร่วมใจ ทำดี เพื่อสังคม” ครั้งที่ 2 ร่วมซ่อมแซม ทาสี เครื่องเล่นเด็ก ปลูกต้นไม้ ณ สวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์

จำนวนผู้