สสจ.เชียงใหม่แจงแก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพส่งผลดีต่อรพ.ชุมชนไม่กระทบสิทธิประชาชน

สสจ.เชียงใหม่แจงแก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพส่งผลดีต่อรพ.ชุมชนไม่กระทบสิทธิประชาชน

สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ยกทีมแจงกรณีปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ยันไม่กระทบสิทธิ์หรือลิดรอนสิทธิ์บัตรทอง ชี้การแก้ไขส่งผลต่อการอยู่รอดของโรงพยาบาลชุมชน ยันที่ผ่านมารพ.หลายแห่งขาดทุนเหตุค่ารักษารายหัวไม่พอ ส่งผลให้การส่งเสริมสุขภาพประชาชนทำได้ไม่เต็มที่

วันที่ 11 ก.ค. 60 ที่ห้องประชุม 4 อาคารอำนวยการศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ โดยร.อ.ภูรีวรรธน์ โชคเกิด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ชี้แจงกรณีปรับปรุงแก้ไข พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองว่า ในช่วงเดือน มิ.ย. 2560 ซึงมีการจัดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 4 ภาค และเกิดความเข้าใจที่คาดเคลื่อนของพี่น้องประชาชน ตามที่เป็นข่าว รวมถึงเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2560 กลุ่มตัวแทนผู้ใช้บัตรทองในจังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้ยุติการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และให้ผู้ใช้บัตรทองจังหวัดเชียงใหม่คลายความกังวลลง ขอยืนยันว่า เจตนารมณ์ของการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้แก้ไขที่ระบบบริการจัดการ เพื่อให้มีความคล่องตัวและสามารถสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการมากขึ้น ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการแก้ไขพรบ.มากขึ้น ไม่กระทบสิทธิ และไม่ได้ลิดรอนสิทธิใดๆ

สำหรับประเด็นที่ผู้ใช้บัตรทองจังหวัดเชียงใหม่มีความกังวลอยู่ว่า ประชาชนจะต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล 30 – 50 เปอร์เซ็นต์ ขอชี้แจงว่าไม่มีการแก้ไข ยังคงตาม พรบ.เดิม  ส่วนประเด็นการขอให้เพิ่มอำนาจแก่สปสช.ในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์รวม ซึ่งเดิมทำได้เพียง 4.9 เปอร์เซ็นต์นั้น เนื่องจากที่ผ่านมา คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ทักท้วงว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่มีระเบียบรองรับในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์รวม ซึ่งไม่มีการแก้ไขยังคงตาม พรบ.เดิม ให้มีการจัดซื้อยาร่วมเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์เหมือนเดิม เพียงแต่จะปรับระบบการจัดซื้อยาเพื่อให้ระบบจัดซื้อร่วมที่มีธรรมาภิบาล มีความเท่าเทียมระหว่างสิทธิมากขึ้นและมีประสิทธิภาพ โดยให้มีคณะกรรมการร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนหลักในการประสานงาน เพื่อดำเนินการเรื่องการต่อรองราคา

ส่วนประเด็นการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข มีสัดส่วนผู้ให้บริการมากกว่าผู้รับบริการ ซึ่งข้อเท็จจริงในการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา มีความไม่สมดุลในองค์ประกอบ จำนวนและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ โดยมีข้อทักท้วงจากหน่วยตรวจสอบ ในประเด็นการออกประกาศระเบียบ ว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ จึงมีการปรับ เพิ่ม ลด ผู้เกี่ยวข้องหลักในด้านต่างๆ ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น รวมทั้งผู้แทนภาคประชาชนด้วย เพื่อให้มีส่วนร่วมในการบริหารกองทุน รวมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบตามบทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน ทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและการจ่ายเงินชดเชยค่าใช้จ่ายที่เป็นธรรมให้แก่หน่วยบริการ

กรณีที่กังวลว่า การแยกเงินเดือนออกจากงบฯรายหัว จะทำให้เกิดปัญหาการกระจุกตัวของบุคลากรในเขตเมือง ขอเรียนว่าประเภทจำนวนบุคลากรของหน่วยบริการ ถูกกำหนดโดยกรอบอัตรากำลังคนที่คิดตามภาระงานระดับของโรงพยาบาล ซึ่งถูกกำหนดในระดับประเทศ ทำให้การกระจายตัวของบุคลากรดีขึ้นและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ การแก้ไขประเด็นนี้จะทำให้สามารถประเมินความเพียงพอของเงินกองทุนต่อการบริการสาธารณสุขได้ รวมทั้งสะท้อนปัญหาหรือสถานการณ์ทางการเงินที่แท้จริงของหน่วยบริการภาครัฐได้ และยังส่งผลให้มีงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการจัดบริการสาธารณสุขแก่ประชาชนได้อย่างครอบคลุมและมีคุณภาพมากขึ้น

“ผู้มีสิทธิบัตรทองยังเหมือนเดิม คือ คนไทยทุกคนที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ซึ่งไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลจากกฎหมายประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราช รัฐวิสาหกิจ ไม่มีการแก้ไขประเด็นผู้มีสิทธิแต่อย่างใด  และโรงพยาบาลรัฐยังคงปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเหมือนเดิม ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่โดยตรงของโรงพยาบาลไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินที่ได้รับจัดสรร”ร.อ.ภูรีวรรธน์ โชคเกิด กล่าว

ทางด้านน.พ.จตุชัย มณีรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เหตุที่ต้องมีการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพนั้นเพราะรัฐจัดสรรเงินมาให้ตามรายหัวซึ่งจะรวมทั้งเงินเดือนและค่ารักษาพยาบาล เฉพาะเงินเดือนก็คิดเป็น 58% ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรรแล้ว ดังนั้นโรงพยาบาลไหนที่มีประชากรน้อยก็จะมีปัญหา และจังหวัดก็ไม่มีอำนาจให้กันเงินหรือโยกเงินไปช่วยด้วย ในเชียงใหม่ที่ผ่านมามีโรงพยาบาล 7-8 แห่งที่ขาดทุนแม้กระทั่งรพ.นครพิงค์ เงินบำรุงถูกตัดลดงบประมาณลงไปเรื่องๆ แต่ 15 ปีที่ผ่านมาอยู่ได้ก็เพราะใช้วิธีการหารายได้จากส่วนอื่น แต่เมื่อแก้กฎหมายใหม่แล้ว เรื่องของงบประมาณและการบริหารจัดการจะคล่องมากขึ้น

นพ.จรัส สิงห์แก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสารภี กล่าวว่า การปรับปรุงพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพจะส่งผลดีต่อการอยู่รอดของโรงพยาบาลชุมชน เพราะอย่างอดีตที่ผ่านมาสำหรับโรงพยาบาลสารภีได้รับการจัดสรรเงินรายหัวเฉลี่ยที่ 1,086 บาท แต่คนใข้มีมากและต้องส่งต่อมารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ซึ่งค่าใช้จ่ายรายหัวต้องจ่าย 1,600 บาทต่อราย ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหางดง สันกำแพง ดอยสะเก็ด สารภี สันทรายได้รับผลกระทบไปหมด ภาระในการดูแลให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้นจึงลำบากเพราะได้เอางบฯไปใช้ในการรักษาพยาบาล แต่การแก้ไขกฎหมายใหม่ จะทำให้แยกระหว่างการรักษาและการส่งเสริมสุขภาพประชาชน ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่ดี.

 

You may also like

บสย. รุกโมเดล “SMEs Digital Gateway” ปั้น 11 สาขาภูมิภาคสู่ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน

จำนวนผู้