รมว.ทรัพย์ประชุมเตรียมพร้อมรับมือไฟป่าหมอกควันและฝุ่นฯ8พ.ย.นี้ที่เชียงใหม่

รมว.ทรัพย์ประชุมเตรียมพร้อมรับมือไฟป่าหมอกควันและฝุ่นฯ8พ.ย.นี้ที่เชียงใหม่

ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตรวจติดตามความพร้อมรมว.ทรัพย์มาประชุมมอบนโยบายเตรียมการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2567 ในวันที่ 8 พ.ย.นี้

วันนี้ (วันศุกร์ ที่ 27 ตุลาคม 2566) เวลา 10.00 น. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานประชุมอธิบดีกรมภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนคณะทำงานเพื่อตรวจติดตามความพร้อมในการจัดการประชุมมอบนโยบายเตรียมการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2567 ของพล.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าเชียงใหม่ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมประชุมหารือกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคณะฯ และนำเสนอสรุปผลการดำเนินงานการเตรียมการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2567 ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเกิดจากเวทีการประชุมถอดบทเรียนของทุกภาคีเครือข่าย ปี 66 และการประชุมหารือร่วมกันของคณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน PM2.5 ระดับจังจังหวัด ที่มีการประชุมร่วมกันทุกสัปดาห์ สามารถสรุป แนวทางสำคัญ ๆ ที่โดดเด่นและแตกต่างจากปีที่ผ่านมา ใน 5 ประเด็น ดังนี้

1. การกำหนดค่าเป้า ปี 67 ด้วยการตกลงร่วมกันกับภาคีเครือข่ายในจังหวัด โดยกำหนดค่าเป้าหมาย 4 ตัวชี้วัด สำคัญคือ ลดสถิติการเกิดจุดความร้อน (Hotspot), ลดพื้นที่เผาไหม้ (Burn Scar Area), ลดจำนวนวันที่ค่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐาน (Pm 2.5) และลดจำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง COPD ใลดลงจากปี 2566 อย่างน้อยร้อยละ 50
2. การตั้งคณะทำงานฯ ที่แตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา 2 มิติ คือ
2.1 เน้นการบูรณาการและการมีส่วนร่วม โดยเรียนเชิญ นักวิชาการ ผู้แทนภาคประชาสังคม ภาคประชาชน สื่อมวลชน ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ เกี่ยวกับปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM 2.5 มาร่วมคิด วิเคราะห์ วางแผน และทำงานกับภาคราชการที่มีอำนาจหน้าที่ และมีข้อมูลจริงที่ได้เก็บรวบรวมไว้
2.2 แบ่งทีมทำงานออกเป็น 7 กลุ่มป่า + ( 1 พื้นที่พิเศษ บริเวณด้านหน้าดอยสุเทพ ) เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นเขตปกครองตามอำเภอ 25 อำเภอ เป็น 7 กลุ่มป่า แล้วให้แต่ละคณะทำงานกลุ่มป่า ร่วมกันออกแบบยกร่างแผนงานป้องกันแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการเชื้อเพลิงในระดับพื้นที่ ให้สอดคล้องกับบริบทภูมิสังคมและนำแผนงานดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็น สร้างการยอมรับ ในระดับอำเภอ ตำบล/หมู่บ้าน/ชุมชน ก่อนประกาศแผนอย่างเป็นทางการทั้งจังหวัดภายใน 15 พ.ย.66
3. การบูรณาการงบประมาณ โดยจะรวบรวมข้อมูลงบประมาณ ของทุกภาคส่วน ทั้งราชการส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น และของภาคประชาสังคม เอกชน องค์กรการกุศล ทั้งหมด ให้เป็นหนึ่งเดียว แล้วประกาศให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการสถานการณ์ ลดความซ้ำซ้อน และให้ประชาชนตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส
4. ระบบการบริหารสถานการณ์ ยังคงแบ่งเป็น 3 ห้วงเวลา คือ ก่อน (ต.ค.-ธ.ค..) ระหว่าง (ม.ค.-พ.ค.) และหลัง ( มิ.ย.- ต.ค.) แต่จะเน้นการทำงานช่วงก่อนสถานการณ์ให้มากขึ้นและเร็วขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับภารกิจหลังสถานการณ์ ที่จะต้องทุ่มเทอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ให้ได้
5. การมีส่วนร่วม ปีนี้จะมีการเปิดรับอาสาสมัคร จิตอาสาภาคประชาชน ตั้งเป้าไว้ที่ 100,000 คน เพื่อมาร่วมคิด ร่วมขับเคลื่อนและทำงาน อย่างเป็นระบบและจริงจัง โดยจะพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และเพื่อป้องกันกรณีจิตอาสาประสบเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด บาดเจ็บหรือเสียชีวิต จะได้มีการช่วยเหลือจากทางราชการได้ตามระเบียบต่อไป.

You may also like

กลุ่ม Chiang Mai Pride จับมือร่วมกับ Asset World Corporation (AWC) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงาน “Chiang Mai Colourful Pride Month 2024” เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และเชื่อมโยงการท่องเที่ยว

จำนวนผู้