รพ.สนามเรือนจำยันสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิดฯได้ระบุก่อนปล่อยตัวมีตรวจซ้ำและกักตัวอีก 14 วันเพื่อให้ปลอดโรค

รพ.สนามเรือนจำยันสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิดฯได้ระบุก่อนปล่อยตัวมีตรวจซ้ำและกักตัวอีก 14 วันเพื่อให้ปลอดโรค

ผู้ว่าฯจับมือทุกภาคส่วนแถลงยืนยันรพ.สนามเรือนจำสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิดฯในเรือนจำ แจงไม่มีการปกปิดข้อมูลส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นการตรวจค้นหาเชิงรุก ชี้ตัวเลขผู้ป่วยหนักมีเพียง 6 รายที่ส่งรักษาต่อที่รพ.ข้างนอก เผยก่อนปล่อยตัวต้องผ่านตรวจหาเชื้อซ้ำและกักตัวใน Local Quaranteen ที่อ.แม่แตงจัดไว้ 4 จุดเพื่อให้ปลอดเชื้อก่อนปล่อยตัวแต่หากยังพบเชื้อส่งรพ.สนามจังหวัดฯดูแลต่อ

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 64  เวลา 10.30 น. ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยพล.ต.ถนัดพล โกศัยเสวี รองแม่ทัพภาคที่ 3,นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่,พล.ต.วุฒิไชย อิศระ รองเจ้ากรมการแพทย์ทหารบก,นายสุรศักดิ์ เผื่อนคำ ผบ.เรือนจำกลางเชียงใหม่และนายอรรถวุฒิ พึ่งเนียม นายอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการดำเนินงานโรงพยาบาลสนามเรือนจำกลางเชียงใหม่

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้ใช้วิธี Buble and Seal ระยะเวลา 28 วันคล้ายกับการล็อคดาวน์ทุกห้อง ทุกแดน และเร่งการค้นหาผู้มีอาการเข้ารักษาในรพ.สนามและตรวจโรคทุก 14 รอบๆ สุดท้ายจะเหลือคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งในหลักการหากตรวจค้นหาแล้วไม่พบเชื้อจะสามารถส่งคืนพื้นที่ปลอดโรคให้เรือนจำได้ในวันที่ 28 พ.ค.64 นี้ ซึ่งขณะนี้การดำเนินงานเข้าสู่อาทิตย์ที่ 3 ซึ่งก็เป็นไปตามแผนงาน การรักษาตามกำหนด ซึ่งในความสำเร็จในทิศทางที่น่าพอใจนี้จังหวัดเชียงใหม่ขอบคุณเลขาสมช.รวมถึงประธานโครงการสว.พบประชาชนในภาคเหนือที่ประสานการดำเนินงานสนับสนุนจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงกองทัพบก แม่ทัพภาคที่ 3 ที่สนับสนุนแพทย์ บุคลากรและกำลังพลในการทำงานในรพ.สนามเรือนจำกลางเชียงใหม่และกรมราชทัณฑ์ที่ให้อำนาจผ่อนปรนกฎ ระเบียบให้สอดคล้องการทำงานแบบBuble and seal และกรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต และนพ.สมุทรสาครและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือ

“จำนวนตัวเลขที่ติดเชื้อทั้งหมด 3 พันกว่าคน ทั้งหมดอยู่ภายใต้การรักษาและแพร่ระบาด ซึ่งผู้ต้องขังที่ครบกำหนดพ้นโทษก็ยังต้องกักตัว 14 วันก่อนจะกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดเป็นไปตามแผนและเชื่อมั่นว่าไม่มีผลต่อการแพร่ระบาดและกระทบต่อพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่”ผวจ.เชียงใหม่กล่าว

ทางด้านพล.ต.ถนัดพล โกศัยเสวี รองแม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ขณะนี้ผ่านไป 17 วันแล้วที่เข้ามาดำเนินการรพ.สนามเรือนจำกลางเชียงใหม่ โดยรองเจ้ากรมแพทย์ทหารเป็นผู้รับผิดชอบภายในเรือนจำฯและภายนอกเรือนจำมีมทบ.33และพลทหารราบที่ 7 เป็นผู้ดูแล มีขั้นตอนการทำงานและชัดเจน ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ

“ในส่วนของประชาชนมีภาคเอกชนมาช่วยงานและสนับสนุนภาครัฐ ขอยืนยันว่าภายในเรือนจำแพทย์ พยาบาลและจนท.มีความเสี่ยงสูงในการทำงาน จึงขอความกรุณาเป็นกำลังใจให้ด้วย ข่าวที่ออกไปและกระแสที่ออกมา ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าทางจังหวัด สาธารณสุข หมอและทุกฝ่ายทำงานกันเต็มที่ขอให้มั่นใจได้”รองแม่ทัพภาคที่ 3 กล่าว

นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การควบคุมโรคในพื้นที่เรือนจำ ซึ่งการควบคุมโรคโควิดจะมี 2 ลักษณะคือพื้นที่เปิดคือในเมือง ที่อยู่อาศัย ลักษณะการควบคุมโรคใช้แนวทางศบค.เป็นหลัก แต่อีกลักษณะในพื้นที่ปิดเช่น เกาะขนาดเล็ก หรือโรงงานบางแห่งที่มีที่พักภายใน รวมทั้งเรือนจำ พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ปิดมีกิจกรรมทางสังคมไม่ซับซ้อนจำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมโรคอีกแบบ

ในการระบาดในเรือนจำ มีการตรวจพบการระบาดตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย.และได้ขออนุมัติใช้วิธีควบคุมโรคด้วยวิธีเฉพาะเนื่องจากเป็นพื้นที่ปิดและได้รับอนุมัติและเริ่มดำเนินการ 26 เม.ย.64 ซึ่งก.สาธารณสุขได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมวางแผนกับรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเราใช้สมมติฐานว่าเมื่อพบการระบาดในพื้นที่ปิดโอกาสทุกคนได้รับเชื้อแล้ว การดำเนินการ Buble and sealจึงจำกัดการระบาดจากแดนสู่แดน และไม่ให้กระจายสู่พื้นที่ด้านนอกโดยใช้วิธี seal ระหว่างแดน 14 วัน 2 รอบทั้งหมด 28 วัน

ในระหว่างควบคุมโรคก็เร่งค้นหาผู้มีอาการป่วยเข้าสู่การรักษาอย่างเร่งด่วนเพื่อรักษาให้รวดเร็ว และให้มีการจัดตั้งรพ.สนามในเรือนจำที่มีระดับเขียว เหลือง ส้มแต่สีแดงอาจจะส่งต่อ ในกรณีที่เกินศักยภาพ ถึงวันนี้ 3 สัปดาห์มีผู้ต้องขังสีแดง 6 รายที่ส่งรักษาภายนอกเทียบในเกณฑ์ถือว่าไม่มากนัก ต่อไปก็มีการตรวจภูมิคุ้มกันเมื่อครบ 14 วัน 2 รอบหรือ 28 วันซึ่งจะเหลือผู้ไม่มีภูมิคุ้มกันเพียง 10%

ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดโครงการจะสามารถคืนพื้นที่ปราศจากโควิดฯให้เรือนจำได้ ซึ่งวันนี้ดำเนินการมาได้ 3 สัปดาห์หรืออีก 7 วันก็จะครบ 28 วันและจะตรวจหาภูมิคุ้มกันอีก 5 วัน ก็คาดว่าจะสามารถส่งพื้นที่ปลอดภัยจากโควิดฯให้เรือนจำได้ในวันที่ 28 พ.ค.64 นี้

พล.ต.วุฒิไชย อิศระ รองเจ้ากรมการแพทย์ทหารบก กล่าวว่า การทำงานเพื่อลดการส่งออกและรีเฟอร์ผู้ป่วยที่มีอาการสีเหลืองหรือสีเขียวเข้มออกสู่ภายนอกได้อย่างชัดเจน โดยจัดตั้งรพ.สนามกองทัพบกโดยใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด รวมทั้งพื้นที่และอุปกรณ์ที่สามารถดูแลผู้ป่วยในระดับทุติยภูมิ โดยสามารถใส่เครื่องช่วยหายใจ ท่อหายใจและมินิไอซียูในเรือนจำเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ก็ควบคุมการระบาดและร่วมหลายฝ่ายวางมาตรการเชิงรุกเพื่อให้เรือนจำปราศจากโรคโดยเร็วที่สุด

“ตัวเลขปัจจุบัน ในการมองตัวเลขในเชิงการแพทย์ให้มองหลายจุด จุดสำคัญคือการระบาด ในพื้นที่จำกัดมีปริมาณผู้ต้องขังบางพื้นที่มากและการจะแยกระยะห่างอาจไม่สมบูรณ์แบบ ยอดผู้ต้องขัง 6 พันกว่าคนมีภูมิ 1 ใน 4 หรือ 24.7% มีผลภูมิคุ้มกันแล้ว(ผลเมื่อ 16 พ.ค.64) ผู้ต้องขังทุกคนได้รับการตรวจยืนยันหาเชื้อถึง 2 กันและตรวจหาภูมิคุ้มกันด้วย และใน 60% ที่ยังติดเชื้อ แต่อีกไม่กี่วัน 44% จะพ้นระยะ 1-2 วันหรือ 1,700 คนพ้นระยะกักตัว โอกาสจะแพร่เชื้อก็ลดลงด้วย ซึ่งลดความเสี่ยงแพร่เชื้อออกไปภายนอกและลดอัตราความสูญเสียด้วย”

ในหลวงพระราชทานสิ่งของหลายอย่างมาให้ตามโครงการาชทัณฑ์ปันสุข ทั้งรถชีวนิรภัย ได้นำมาใช้ในเรือนจำและเอื้อประโยชน์ฝ่ายแพทย์มาก ซึ่งตัวเลขผู้ต้องขังที่ติดเชื้อไม่ค่อยนิ่ง เนื่องจากเรือนจำกลางเชียงใหม่มีผู้ต้องขังเข้าใหม่และมีการตรวจวิเคราะห์ทุกวันผลจะออกอีกวัน จึงทำให้ตัวเลขมีการคลาดเคลื่อนของข้อมูล จึงเป็นตัวเลขประมาณการโดยจะอัพเดทต่างกันไม่มาก ณ วันนี้ผู้ต้องขังเมื่อวานเย็น 6,311 คน ติดเชื้อ 3,793 คน มีภูมิคุ้มกันพันกว่าคน และจำนวน 923 คนไม่ติดเชื้อ ผู้คุมฉีดวัคซีนหมดแล้วมีผู้คุมติดเชื้อเพียง 7 คน

ขณะที่นายสุรศักดิ์ เผื่อนคำ ผบ.เรือนจำกลางเชียงใหม่ กล่าวว่า เรือนจำกลางเชียงใหม่มีผู้ต้องขัง 6,400 กว่าคน มี 10 แดนและแยกกัน แดนที่พบคือแดน 4 เป็นผู้ต้องขังแรกรับซึ่งมี 7 ห้องและกักตัวตามมาตรฐาน เราผ่านโควิดมา 2-3 รอบแต่รอบนี้สภาวะสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดสภาวะที่กรมราชทัณฑ์เสียใจและขอโทษพี่น้องประชาชนด้วย แต่ก็ได้ความกรุณาจากจังหวัดและทุกภาคส่วนมาช่วยเหลือสนับสนุน

“มีการแพร่ระบาดในแดน 4 ซึ่งผู้ต้องขังไปเรียนหนังสือแดน 6 และมีผู้ต้องขังแดน 5 และ 7 ซึ่งเป็นผู้ต้องข้งยาเสพติดมาเรียนหนังสือด้วยจึงแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และเมื่อเกิดการระบาดการกักตัวจะมากกว่า 14 วันเป็น 28 วันและมีการตรวจหาเชื้อด้วย ณ วันนี้ผู้ต้องขังที่ไม่ติดเชื้อเกือบพันคน และเป็นผู้ต้องขังใหม่ 172 คน โดยให้กินยาฟ้าทะลายโจร น้ำขิง น้ำกระชายขาวและมีภูมิคุ้มกันเกือบ 3 พันคนทำให้เกิดกำลังใจกับแดน 4และ 5,7,8 ซึ่งการรักษาขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวและได้รับการดูแลจากรองเจ้ากรมการแพทย์ทหารบก และมีประชาชนไปบริจาคเสมอ”ผบ.เรือนจำกลางเชียงใหม่ กล่าว .

ส่วนทางด้านนายอรรถวุฒิ พึ่งเนียม นายอำเภอแม่แตง กล่าวว่า ทางคณะกรรมการควบคุมโรคจ.เชียงใหม่มีคำสั่งแต่งตั้งสถานที่กักกันโรคเพื่อรองรับคนที่ถูกปล่อยจากเรือนจำในช่วงนี้ และกรณีประกันตัวในชั้นศาลหรือชั้นพนักงานสอบสวน เพื่อกักกันโรค 14 วันมาอยู่ในสถานที่ควบคุม ทางอ.แม่แตงร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 13 ตำบลจัดตั้งสถานกักกันตัว 4 ศูนย์ที่ค่ายนเรศวรมหาราช,ทต.สันมหาพน,บ้านพักรับรองการไฟฟ้าเขื่อนแม่งัดฯ กองร้อยตชด.33 รวม 4 จุด

“ทั้งในเรือนจำมีการกักตัวผู้ที่จะพ้นโทษ 14 วันและตรวจหาเชื้อ RPCR และเมื่อถึงวันจะปล่อยก็ตรวจหาเชื้อซ้ำ หากพบผลยังเป็นบวกจะส่งตรงไปที่รพ.สนามจังหวัดเชียงใหม่ แต่ถ้าผลตรวจเป็นลบก็จะส่งมาที่ Local Quaranteen และตรวจหาเชื้ออีกหากพบผลเป็นบวกก็จะส่งรพ.สนามจังหวัดเชียงใหม่ สำหรับผลดำเนินงานในรอบ 21 วันได้รับผู้กักกัน 57 คน ซึ่งมีผลบวกจากการตรวจหลายรอบและส่งไปรพ.สนามทั้งหมด 30 คนและมีผู้กักกันจนครบและผลตรวจเป็นลบ 4 คนและได้รับปล่อยตัวและยังอยู่ในศูนย์ Local Quaranteen อีก 23 คน”นายอำเภอแม่แตงกล่าว

You may also like

บสย. จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา โครงการ “บสย. ร่วมใจ ทำดี เพื่อสังคม” ครั้งที่ 2 ร่วมซ่อมแซม ทาสี เครื่องเล่นเด็ก ปลูกต้นไม้ ณ สวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์

จำนวนผู้