พิษโควิดระลอก 3 ทำให้เชียงใหม่สูญรายได้ 6-7 หมื่นล้านบาท ธุรกิจบริการ ท่องเที่ยวพังทลาย

พิษโควิดระลอก 3 ทำให้เชียงใหม่สูญรายได้ 6-7 หมื่นล้านบาท ธุรกิจบริการ ท่องเที่ยวพังทลาย

          หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่พิษโควิดระลอก 3 ทำให้เชียงใหม่สูญรายได้ 6-7 หมื่นล้านบาท ธุรกิจบริการ ท่องเที่ยวพังทลาย หวังแผนเปิดท่องเที่ยว CHARMING Chiang Mai จะช่วยดึงต่างชาติเข้ามาช่วยขับเคลื่อนฟื้นเศรษฐกิจ เชียงใหม่ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 7 ก.ย.64 ที่ห้องประชุมสำนักงานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยดร.กอบกิจ  อิสรชีวัฒน์ รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ นายสมชาย ทองคำคูณ รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และคณะกรรมการบริหารฯได้ร่วมกันแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ไตรมาสที่ 1-2 ประจำปี 2564 และแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 3 และ 4 โดยมีนายสมศักดิ์ วงศ์ปัญญาถาวร รองประธาน บ.ไทยทูพี จำกัดในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ภาคเอกชนเข้าร่วมรับฟังด้วย

ดร.กอบกิจ อิสรชีวัฒน์ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่หดตัวรุนแรงและสูญเสียรายได้ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องหดตัวสูง ทั้งการบริโภคและการลงทุนธุรกิจจำนวนมากปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงาน การบริโภคภาคเอกชนหดตัว การลงทุนภาคเอกชนชะลอลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาทั้งสองไตรมาส การลงทุนเพื่อก่อสร้างชะลอตัวตามกำลังซื้อ ภาคเกษตรบางตัวยังดีแต่บางอย่างลดลง อัตราการว่างงานสูงก้าวกระโดดขึ้นมาสูงมากในไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้

ด้านนายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่รุนแรงกว่าทุกจังหวัด ยกเว้นภูเก็ต โดยรายได้หายไปต่อเนื่องเกือบ 2 ปีและประชาชนต้องปรับตัวอย่างมาก ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการและแรงงานถูกเลิกจ้าง ธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ทรุดหนักช่วง เม.ย.-มิ.ย.2563 จากนั้นเริ่มฟื้นตัวได้ดีช่วงเดือน พ.ย. 2563 แต่ต้องเผชิญโควิดระลอก 2 และ 3 ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงครึ่งแรกปีนี้ทรุดหนักกว่าครึ่งแรกปีก่อน ดูจากเครื่องชี้การขอเส้นทางกับ Apple map จำแนกตามแหล่งท่องเที่ยว พบว่าการท่องเที่ยวเชียงใหม่ทรุดหนักกว่าจังหวัดชลบุรี ,กทม.แต่ดีกว่าจังหวัดภูเก็ต โดยการขับรถและการเดินของจังหวัดเชียงใหม่ลดลงร้อยละ 69 และ 83 จากเกณฑ์ปกติ และทรุดหนักมากช่วง เม.ย.- ส.ค. 256

ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า การทำแซนด์บ๊อกในพื้นที่ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการนำวัคซีนเข้ามาเชียงใหม่ให้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับวัคซีนแล้วเพียง 30% จึงจำเป็นต้องมีการผลักดันให้นำวัคซีนเข้ามาฉีดให้คนในทุกกลุ่มเพื่อที่จะเปิดเมืองให้ได้จึงปักธงไว้ที่วันที่ 1 ต.ค.สำหรับโครงการ Charming Chiangmai การเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ ต่อไปภาคเกษตรจะทำการเกษตรแบบเดิมไม่ได้ต้องเป็นสมาร์ทฟาร์มมิ่ง และต้องทำการตลาดออนไลน์ ตัดเรื่องพ่อค้าคนกลางออกไป

“ในเชียงใหม่มีกลุ่มดิจิตอลนอร์แมดในเชียงใหม่ประมาณ 3 หมื่นคนจากหลายประเทศทั้งสหรัฐฯ อังกฤษและยุโรปที่เข้าแฝงตัวอยู่ในเชียงใหม่ ซึ่งคนกลุ่มนี้ทำงานและมีไลฟ์สไตล์ของตัวเองจะทำงานในสถานที่ที่มีไวไฟดีพอ มาทำงานเขียนโปรแกรมเมอร์ซึ่งมีรายได้เฉลี่ย 50,000-100,000 บาทต่อคน แต่เชียงใหม่ยังมีปัญหาเรื่องระบบขนส่งสาธารณะที่ดีหากนำรถบัสไฟฟ้ามาให้บริการในช่วงที่แผนการลงทุนรถไฟฟ้ารางเบาที่ใช้เงินลงทุนสูงยังไม่เกิดขึ้นก็จะช่วยสนับสนุนและทำให้ระบบเชื่อมโยงการเดินทางได้ดียิ่งขึ้นและจะสามารถดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาเชียงใหม่ให้มากขึ้นด้วย”นายจุลนิตย์ กล่าวและว่า

ถ้าหากภาคธุรกิจ บริการท่องเที่ยวสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ตามแผนจะทำให้เศรษฐกิจของเชียงใหม่เริ่มขับเคลื่อนได้และทำให้ไตรมาส 4 เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตามยอมรับว่ามูลค่าความเสียหายของการระบาดโควิดฯรอบหลังเดือนเม.ย.สูงถึง 6-7 หมื่นล้านบาท โดยภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ธุรกิจบริการ รถเช่า สปา

ส่วนทางด้านนายพัลลภ แซ่จิว รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า  สำหรับการผลักดันโครงการเชียงใหม่ชาร์มมิ่งซึ่งจะดำเนินการใน 3 พื้นที่ก่อนคืออ.เมือง แม่ริมและแม่แตง สำหรับอ.ดอยเต่าเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งนายอำเภอจึงต้องรอความพร้อมของพื้นที่อีกครั้ง สำหรับอ.เมืองได้กำหนดพื้นที่ไว้ในเขตสี่เหลี่ยมเมืองเก่า ส่วนอ.แม่แตงจะเน้นไปที่ปางช้างแม่ตะมาน ต.กึ๊ดช้าง และต.สบก๋าย สำหรับอ.แม่ริมก็ตำบลแม่สาและโป่งแยง ซึ่งการท่องเที่ยวและบริการจะอยู่ภายใต้กระบวนการคือรถทัวร์นำเที่ยว และต้องได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น

“ตอนนี้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายไปแล้วในวันนี้ และหากแผนที่นำเสนอต่อศบค.ได้รับการอนุมัติก็คาดว่าจะทำให้เชียงใหม่มีเม็ดเงินจากภาคธุรกิจบริการ ท่องเที่ยวถึง 2 หมื่นบาทต่อคน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวัคซีนด้วย เพราะจากการสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ยังไม่ถึง 1 ล้านคนขณะที่ตัวเลขเป้าหมายผู้ได้รับวัคซีนต้องได้ร้อยละ 70 หรือ 1.2 ล้านคนก่อนถึงจะเปิดดำเนินการตามแผนได้”รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่กล่าว.

You may also like

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือลั่นสู้ พร้อมรวมพลังทวงคืนความมั่งคั่งจากนายทุน

จำนวนผู้