พร้อมเปิดยุทธการสนองคำสั่ง”บิ๊กตู่”แก้ปัญหาคลองแม่ข่าเน่าเสียหลังปล่อยให้เป็นมหากาพย์มานาน

พร้อมเปิดยุทธการสนองคำสั่ง”บิ๊กตู่”แก้ปัญหาคลองแม่ข่าเน่าเสียหลังปล่อยให้เป็นมหากาพย์มานาน

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษรับบัญชา”บิ๊กตู่”ลุยแก้ปัญหาน้ำเสียคลองแม่ข่า เตรียมเปิดยุทธการตรวจสอบ 272 สถานประกอบการที่ปล่อยน้ำเสียโดยไม่บำบัด พร้อมเสนอให้อปท.และประปาเป็นผู้จัดเก็บน้ำเสีย

เมื่อวันที่ 9 พ.ค.60 ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารอำนวยการศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นประธานประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเสียคลองแม่ข่าและคุณภาพน้ำคูเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ และหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือด้วย

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ที่ต้องขึ้นมาหารือปัญหาน้ำเสียคลองแม่ข่าเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและสั่งการให้กรมควบคุมมลพิษขึ้นมาดูว่าจริงๆ แล้วมันเกิดปัญหาอะไรขึ้นถึงยังแก้ไขไม่ได้ ซึ่งจริงๆ ปัญหาน้ำเสียคลองแม่ข่าหมักหมมและมีมายาวนานเป็นมหากาพย์ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องของการจัดการน้ำเสียก็ถือเป็น 1 ในยุทธศาสตร์ชาติด้วย โดยขณะนี้สิ่งที่ดำเนินการอยู่คือเรื่องของโครงสร้างหรือระบบบำบัดน้ำเสียกับเรื่องของการสร้างจิตสำนึก ซึ่งทั้งสองอย่างต้องทำควบคู่กันไป แต่สิ่งที่สำคัญคือการจัดการเรื่องโครงสร้างเนื่องจากระบบยังไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา

“ผมมาครั้งนี้จะต้องให้เห็นผลอย่างน้อย 1-2 เรื่องไม่ใช่แค่มารับรู้และเล่าสู่กันฟัง เพราะกรมควบคุมมลพิษร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาไว้แล้ว 3 มาตรการหลักคือคืนน้ำต้นทุนตามธรรมชาติให้คลองแม่ข่า มาตรการลดการระบายน้ำเสียจากชุมชนและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดรวมถึงการซ่อมแซมระบบท่อรวบรวมน้ำเสียของเทศบาลนครเชียงใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสีย เพื่อเตรียมฟื้นฟูคุณภาพน้ำในคลองแม่ข่าอย่างยั่งยืน”อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวและว่า

ปัญหาคุณภาพน้ำคลองแม่ข่ามีความสกปรกสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่และจุดระบายน้ำจาก ทต.ช้างเผือกและทต.ป่าแดด ซึ่งก็มีสาเหตุจากน้ำต้นทุนตามธรรมชาติที่ไหลลงมาจนถึงคลองแม่ข่าลดลงเนื่องจากมีคลองชลประทานระบบป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่และการขยายตัวของเมืองทำให้น้ำไหลลงสู่คลองแม่ข่าลดลงและคลองแม่ข่ากับสาขามีสภาพตื้นเขิน มีการระบายน้ำเสียจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงคลองแม่ข่าตลอดแนวถึง 7 แห่ง โดยเฉพาะชุมชนต้นน้ำและกลางน้ำทั้งเทศบาลตำบาลช้างเผือก เทศบาลนครเชียงใหม่และเทศบาลตำบลป่าแดด โดยจากทต.ช้างเผือกประมาณ 4,000 ลบ.ม.จากลำเหมืองกลางของเทศบาลนครเชียงใหม่ซึ่งเป็นน้ำเสียจากตลาดเมืองใหม่และชุมชนป่าแพ่งประมาณวันละ 1-2 หมื่นลบ.ม.และจากร่องกระแจะอีก 8,000 ลบ.ม.ลำคูไหวอีกหมื่นกว่าลบ.ม.รวมทั้งหมดกว่า 35,411 ลบ.ม.ต่อวัน

นอกจากนั้นระบบท่อรวบรวมน้ำเสียของเทศบาลนครเชียงใหม่ก็ยังชำรุดทำให้รวบรวมน้ำเสียได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีน้ำเสียเข้าระบบประมาณ 13,000 ลบ.ม.ต่อวันขณะที่ระบบมีความสามารถรองรับได้ถึง 5 หมื่นลบ.ม.ต่อวัน

นายจตุพร กล่าวต่อไปอีกว่า ได้ให้ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่นำมาตรา 80 มาใช้ในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะจากการสำรวจพบว่ามีผู้ประกอบการหรือสถานประกอบการถึง 272 แห่งที่ปล่อยน้ำเสียลงคลองแม่ข่า แต่ปัจจุบันมีการสำรวจตรวจสอบแล้วจริงๆ ได้เพียง 67 แห่ง จากเดิมที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาควางแผนไว้ว่าภายในปี 2560 จะดำเนินการให้ได้ 100 แห่งและอีก 172 แห่งในปี 2561 นั้นขอให้ดำเนินการให้เสร็จภายในปีนี้ โดยเฉพาะในวันที่จะเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาปิดและสรุปเรื่องหมอกควันและไฟป่าภาคเหนือ ก็จะให้พบผู้ประกอบการที่ปล่อยน้ำเสียลงคลองแม่ข่าด้วยเลย ถึงเวลาแล้วที่ต้องเอาจริงไม่ต้องเกรงใจใครอีกต่อไป

“ปีนี้จะต้องตรวจสอบให้ครบทั้ง 272 แห่ง แม้ว่าทางสิ่งแวดล้อมภาคบอกเจ้าหน้าที่มีน้อยจะให้เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางมาช่วย รวมทั้งขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาในเชียงใหม่ให้ส่งนักวิชาการมาช่วย ปัญหาคลองแม่ข่าจะไม่ปล่อยให้ทอดเวลาออกไปอีกแล้ว และเรื่องนี้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองต้องช่วย อย่าห่วงเรื่องกระทบฐานเสียง บางทีอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการเดียวกับกรุงเทพฯขอกำลังทหาร ตำรวจมาช่วยในการออกไปตรวจสอบ วันที่รัฐมนตรีฯมาเชียงใหม่ถือเป็นวันเปิดยุทธการในการจัดการ และทางกรมควบคุมมลพิษจะเสนอรัฐบาลให้เห็นชอบเรื่องการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย โดยให้การประปาส่วนภูมิภาคหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ เพราะตอนนี้ได้ทำเรื่องเสนอขอให้องค์การจัดการน้ำเสียไปอยู่กระทรวงมหาดไทยแล้ว”อธิบ”ีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว.

You may also like

บสย. จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา โครงการ “บสย. ร่วมใจ ทำดี เพื่อสังคม” ครั้งที่ 2 ร่วมซ่อมแซม ทาสี เครื่องเล่นเด็ก ปลูกต้นไม้ ณ สวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์

จำนวนผู้