ฝุ่นคลี่คลาย ฝนหลวงลุยช่วยพื้นที่เกษตรและอ่างเก็บน้ำช่วงฤดูเพาะปลูกต่อ เผยพร้อมร่วมมือช่วยคลี่คลายไฟป่าฝุ่นควันภาคเหนือในปีต่อไป

ฝุ่นคลี่คลาย ฝนหลวงลุยช่วยพื้นที่เกษตรและอ่างเก็บน้ำช่วงฤดูเพาะปลูกต่อ เผยพร้อมร่วมมือช่วยคลี่คลายไฟป่าฝุ่นควันภาคเหนือในปีต่อไป

ฝุ่นภาคเหนือคลี่คลาย ฝนหลวงฯ ลุยช่วยเหลือพื้นที่เกษตร-อ่างเก็บน้ำช่วงฤดูเพาะปลูก ย้ำพร้อมจับมือจังหวัดเชียงใหม่รับมือสถานการณ์ฝุ่นในปีถัดไป เผยตั้งแต่ 30 มี.ค.-27 เม.ย.66 ใช้อากาศยานขนาดกลาง (CASA) และประยุกต์ใช้อากาศยาน (CN, CASA) ติดตั้งเครื่องพ่นสเปรย์ฉีดน้ำแรงดันสูงบรรเทาและลดความหนาแน่นของฝุ่นละอองในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 28 วัน 85 เที่ยวบิน ใช้น้ำจำนวน 97,200 ลิตร และน้ำแข็งแห้ง จำนวน 21,800 กิโลกรัมและใช้เฮลิคอปเตอร์ตักน้ำดับไฟป่า 42 เที่ยวบิน

วันที่ 28 เมษายน 2566 เวลา 13.00 น. นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประชุมสรุปผลการปฏิบัติการฝนหลวงภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีนายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ผู้แทนจากกองบิน 41 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

อธิบดีกรมฝนหลวง กล่าวว่า ปีนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยประสบปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองที่อยู่ในเกณฑ์เกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งในปีนี้สถานการณ์ค่อนข้างวิกฤติเป็นเวลาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากความแห้งแล้ง และมีการเผาไหม้ชีวมวลต่าง ๆ ทั้งจากในประเทศและประเทศข้างเคียง อีกทั้งเป็นช่วงของฤดูกาลที่จะมีชั้นบรรยากาศที่มีอุณหภูมิผกผัน ส่งผลให้ฝุ่นละอองไม่สามารถระบายหรือเคลื่อนตัวจากผิวพื้นขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือขึ้นไปได้ จึงทำให้มีการสะสมของฝุ่นละอองและมีความรุนแรงมากขึ้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวเป็นประจำทุกปีและประสานกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อวางแผนช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม – 27 เมษายน 2566 ได้ปฏิบัติการฝนหลวงด้วยอากาศยานขนาดกลาง (CASA) และประยุกต์ใช้อากาศยาน (CN, CASA) ติดตั้งเครื่องพ่นสเปรย์ฉีดน้ำแรงดันสูงซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยเปิดชั้นบรรยากาศ เพื่อให้ฝุ่นละอองที่มีการสะสมลอยตัวขึ้นไปได้ เป็นการบรรเทาและลดความหนาแน่นของฝุ่นละอองในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมผลปฏิบัติการจำนวนทั้งสิ้น 28 วัน 85 เที่ยวบิน ใช้น้ำจำนวน 97,200 ลิตร และน้ำแข็งแห้ง จำนวน 21,800 กิโลกรัม ช่วยเหลือบริเวณพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา ลำพูน สุโขทัย และจังหวัดน่าน รวมถึงใช้เฮลิคอปเตอร์ตักน้ำดับไฟป่าบริเวณอำเภอฮอดและอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติการรวม 42 เที่ยวบิน ใช้ปริมาณน้ำ 25,200 ลิตร ซึ่งผลจากการปฏิบัติภารกิจทั้งหมดได้ช่วยบรรเทาให้สถานการณ์แต่ละพื้นที่ลดความรุนแรงลงได้

นายสุพิศ กล่าวอีกว่า ตลอดการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว กรมฝนหลวงฯ ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานในพื้นที่ ช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงในช่วงเดือนเมษายนที่สถานการณ์ค่อนข้างวิกฤติ กรมฝนหลวงฯ ได้รับการสนับสนุนการอำนวยความสะดวกในด้านการจราจรทางอากาศ โดยวิทยุการบิน การท่าอากาศยานเชียงใหม่และกองบิน 41 อำนวยความสะดวกเรื่องหลุมจอดเครื่องบิน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่และกองบิน 41 สนับสนุนกำลังพลปฏิบัติงานภาคพื้นในการจัดเตรียมสารฝนหลวงและนำขึ้นเครื่องบิน และสนับสนุนน้ำที่ใช้ในการโปรย รวมถึงยังมีหน่วยงานที่สำคัญ ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนับสนุนน้ำแข็งแห้งไม่น้อยกว่า 30 ตัน และกรมชลประทาน สนับสนุนรถบรรทุกเพื่อการขนส่งสารฝนหลวงและน้ำแข็งแห้ง ซึ่งเป็นการผนึกกำลังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนกันอย่างเต็มที่

อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองในปีนี้จะคลี่คลายลงแล้ว แต่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังคงมีการเฝ้าติดตามและเฝ้าระวังกันต่อไป และพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควัน ฝุ่นละอองในปีหน้าด้วยความพร้อมทั้งด้านอากาศยาน เจ้าหน้าที่ และความร่วมมือจากหน่วยงานของแต่ละจังหวัด และหลังจากนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค จะปฏิบัติการฝนหลวงภารกิจบรรเทาปัญหาภัยแล้งช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก และเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อน อ่างเก็บน้ำ สำหรับใช้การอุปโภคบริโภคและด้านการเกษตร รวมถึงยังมีการเฝ้าระวังการเกิดพายุลูกเห็บเนื่องจากพายุฤดูร้อน เนื่องจากในช่วงวันที่ 28 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2566 ประเทศไทยตอนบนหลายพื้นที่มีอากาศร้อนร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับจะมีความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ซึ่งจะส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจเกิดลูกเห็บตกบางแห่ง ทั้งนี้พี่น้องประชาชน พี่น้องเกษตรกร สามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร แจ้งสถานการณ์ความต้องการน้ำเพื่อขอรับบริการฝนหลวงได้เป็นประจำทุกวันที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภูมิภาค อาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ หน่วยงานอำเภอ-จังหวัด ช่องทางโซเชียลมีเดีย @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-1095100 ต่อ 410 .

You may also like

เกษตรกร ชี้ซีพีเป็นรายเดียวเข้มนโยบายตรวจสอบย้อนกลับ ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มาจากการเผา

จำนวนผู้