ประเพณี“กินข้าวใหม่” สืบสานความมั่นคงทางอาหารของชนเผ่า

ประเพณี“กินข้าวใหม่” สืบสานความมั่นคงทางอาหารของชนเผ่า

- in Exclusive, headline

ลุ่มควันที่ลอยฉุยจากข้าวที่เพิ่งปลดจากเตา พากลิ่นหอมอวลของข้าวใหม่มาแตะจมูก จนหลายคนต้องสูดหายใจลึกๆ อย่างอดไม่ได้ ซ้ำในระหว่างการหุงยังใช้สมุนไพร และธัญพืชแต่งเติมให้ข้าวมีสีสันหลากหลาย น่ารับประทานยิ่งขึ้นไปอีก รอบๆ กองข้าว ถูกจัดวางด้วยอาหาร ที่มีทั้งหมู ไก่ ปลา ผัก ผลไม้ นานาชนิด รวมถึงเหล้าข้าวโพดชั้นดี ซึ่งแต่ละชาติพันธุ์ได้รังสรรค์เป็นอาหารตามความถนัด และเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เพื่อถวายต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไหว้บรรพบุรุษ และเลี้ยงแขกเหรื่อทุกคนที่มาร่วมงานกินข้าวใหม่ชนเผ่าพื้นเมือง  สุพจน์ หลี่จา นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ (สสช.) อธิบายว่า วัฒนธรรมของชนเผ่า มีความเชื่อมโยงจากจุดกำเนิดคือวิถีเกษตร เพราะเกษตรคือบ่อเกิดทั้งเรื่องวัฒนธรรม และความเชื่อ ฉะนั้นพิธีกินข้าวใหม่จึงถูกจัดขึ้น เมื่อพี่น้องชนเผ่าปลูกข้าว ปลูกพืชผัก ก่อนแบ่งปันหรือกินก็จะทำพิธีกินข้าวใหม่ก่อน เพื่อเป็นการขอบคุณบรรพบุรุษ และธรรมชาติ แสดงออกถึงความกตัญญูของพี่น้องชนเผ่าดังนั้น ท่ามกลางความแตกต่างทางพิธีกรรม จึงมีจุดหมายปลายทาง และจุดร่วมที่คล้ายคลึงกัน เช่น ชนเผ่าลีซู จัดประเพณีกินข้าวใหม่หลังเก็บเกี่ยวข้าวช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละพื้นที่ ใครมีพืชผักอะไรก็จะนำมาแลกเปลี่ยนกัน และประกอบอาหารรับประทานร่วมกัน หากข้าวคำแรก มื้อแรกที่ได้จากการเก็บเกี่ยว ชาวลีซูจะนำไปให้สุนัขที่เลี้ยงไว้ได้กินก่อน เพราะตามตำนานเล่าว่า สมัยก่อนลีซูไม่มีข้าวกิน แต่อีกฝั่งแม่น้ำตรงกันข้ามกับที่ลีซูอาศัยอยู่มีข้าวกิน กระนั้นลีซูก็ไม่กล้าข้ามไปเอาเมล็ดพันธุ์ข้าว เนื่องจากน้ำไหลลึกและเชี่ยวกราก จนมีสุนัขตัวหนึ่งสามารถว่ายข้ามฝั่งได้ เมื่อไปถึงสุนัขเอาตัวนอนกลิ้งเกลือกบนข้าวเปลือกที่ชาวบ้านตากไว้ จนเมล็ดข้าวติดกับขน ครั้นว่ายน้ำกลับเมล็ดข้าวที่ติดอยู่ก็ลอยไปกับสายน้ำ เหลือที่ยังติดกับหางแค่ 3 เมล็ด ลีซูจึงนำไปเพาะปลูกและขยายพันธุ์จนมีข้าวกินมาถึงทุกวันนี้ขณะที่ชนเผ่าม้ง ก็เชื่อว่าช่วงเวลาในรอบ 1 ปี ผีปู่-ผีย่า ได้ดูแลแต่ละครอบครัวมาเป็นอย่างดี จึงต้องมีการปลูกข้าวใหม่เพื่อจะเซ่นบูชาคุณผีปู่-ผีย่า และเจ้าที่ เมื่อข้าวใหม่สุกระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม ชาวม้งจะเริ่มใช้เคียวเกี่ยวข้าวเมื่อรวงข้าวสุกแต่ยังไม่เหลืองมาก เมื่อเกี่ยวเสร็จก็นำมานวดให้ข้าวเปลือกหลุดออก แล้วนำข้าวเปลือกมาคั่วให้เม็ดข้าวแข็ง เปลือกข้าวแห้ง เพื่อสะดวกในการตำข้าว และนำมาหุงเพื่อเซ่นไหว้ผีปู่-ผีย่า ภายในพิธีจะนำไก่ตัวผู้ที่ต้มทั้งตัวมาไหว้ตรงผีประตู ก่อนเซ่นไหว้ในตำแหน่งอื่นๆ รวม 5 จุด ขณะทำพิธีก็สวดบทสวดบอกให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือได้รับรู้และเข้ามาทานก่อน จนเสร็จพิธีคนในบ้านถึงจะทานต่อได้ส่วนปกาเกอะญอ ถือว่าพิธีกินข้าวใหม่ เป็นการขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ดลบันดาลให้ได้ผลผลิตตามที่หวัง ภายหลังการเก็บเกี่ยวข้าวในไร่นาเสร็จ จึงมีการเลี้ยงฉลองในระหว่างเพื่อนบ้าน และเลี้ยงผีที่สำคัญ คือ ผีเรือน ผีบรรพบุรุษ และผีน้ำ เป็นต้น“เรียกได้ว่า แค่ข้าวอย่างเดียวก็เป็นบ่อเกิดของความเชื่อ ความงดงาม และมีความสำคัญต่อพี่น้องชนเผ่าอย่างมาก เพราะข้าวคือชีวิต วิถีข้าวจึงเป็นวิถีคน แต่ละชาติพันธุ์จะภาคภูมิใจกับวิถีชีวิตและประเพณีกินข้าวใหม่ของตัวเอง แม้ว่าจะประกอบพิธีกรรมแตกต่างกันออกไปตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และได้ทำพิธีกินข้าวใหม่ในชุมชนของตนเองแล้ว แต่วันนี้มาร่วมกันทำพิธีครั้งใหญ่ เพื่อสื่อให้สังคมรับทราบว่า ในยุคโควิด-19 พี่น้องชนเผ่าก็ยังมีความมั่นคงทางอาหาร และมีใจเผื่อแผ่แบ่งปันให้คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดด้วย โดยหลังจากประกอบพิธีและร่วมรับประทานอาหารกันแล้ว พืชพรรณธัญญาหารที่แต่ละชนเผ่านำมาด้วย จะถูกแจกจ่ายให้คนอื่นๆ นำไปทำเป็นอาหาร หรือเพาะปลูกขยายพันธุ์ต่อไป” นายก สสช. กล่าวกระนั้น ต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องที่ดิน การเข้าถึงที่ดินอย่างไม่เท่าเทียม เช่น มี พ.ร.บ. หรือกฎหมายต่างๆ ที่บอกว่าพี่น้องชนเผ่าไปอยู่ในเขตอุทยาน เขตป่าสงวน ทั้งที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ตรงนั้นสืบต่อจากบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคน ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางการเกษตรได้อย่างเต็มที่ ส่งผลถึงความมั่นคงทางอาหารที่ลดลง และพิธีกรรมก็น้อยลง เนื่องจากวิถีเกษตรคือบ่อเกิดเรื่องวัฒนธรรมของพี่น้องชนเผ่าทั้งหมดจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนนโยบายอาหารโภชนาการและสุขภาพเด็กวัยเรียน (สสส.) ย้ำว่าการกินข้าวใหม่ เป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงทางอาหารอย่างชัดเจน เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จะประกอบพิธีนี้เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ และไม่ใช่เฉพาะเรื่องการกินข้าว หากยังผนวกด้วยอาหารพื้นเมือง ที่ส่วนใหญ่มีน้ำพริก ผักนึ่ง ผักสด หมู ไก่ ให้สารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ทั้งยังเป็นแบบอินทรีย์ เพราะไม่ได้ใส่ปุ๋ยเคมี หรือสารกำจัดศัตรูพืชต่างๆ ดังนั้นถ้าประเพณีนี้คงอยู่สืบไป และมีหน่วยงานต่างๆ  เข้ามาส่งเสริมเรื่องการกินที่ถูกต้อง ได้สารอาหารครบ และปลอดภัย ก็จะทำให้สุขภาพและคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ดีขึ้นอย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าพี่น้องชนเผ่าก็พยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม เช่น ช่วงโควิด-19 ระบาด มีการใช้ภูมิปัญญาประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของตนเอง  ปิดหมู่บ้าน และเน้นรับประทานอาหาร พืชผักที่มีในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่เลี้ยงเอง พืชปลูกเอง ขึ้นเองตามธรรมชาติ เพื่อป้องกันเชื้อโรค และไม่แพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น นับเป็นการปรับตัวให้สามารถดำรงชีพได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างกลมกลืนและยั่งยืน.

You may also like

เกษตรกร ชี้ซีพีเป็นรายเดียวเข้มนโยบายตรวจสอบย้อนกลับ ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มาจากการเผา

จำนวนผู้