นอ.แม่แตงเปิดงาน”สานต่องานพ่อ เติมน้ำเติมชีวิต”พร้อมกดปุ่มระเบิดหินภายในอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง-แม่งัดส่วนที่ 2

นอ.แม่แตงเปิดงาน”สานต่องานพ่อ เติมน้ำเติมชีวิต”พร้อมกดปุ่มระเบิดหินภายในอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง-แม่งัดส่วนที่ 2

นายอำเภอแม่แตงเป็นประธานเปิดงาน”สานต่องานพ่อ เติมน้ำเติมชีวิต”พร้อมกดปุ่มระเบิดหินภายในอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง-แม่งัดส่วนที่ 2 หน.ฝ่ายวิศวกรรมฯเผยภาพรวมงานยังล่าช้ากว่าแผน เหตุติดเขตอุทยานฯและการขออนุญาตเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิด

ที่บ้านทับเดื่อ ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง นายศราวุธ ไทยเจริญ นายอำเภอแม่แตงเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “สานต่องานพ่อ เติมน้ำเติมชีวิต” และดำเนินการงานเจาะระเบิดอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด ตามโครงการเพิ่มปริมาณในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงฯ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ นายวงศ์พันธ์ วงศ์สมุทร หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 พร้อมหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมโดยได้จัดพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพิธีบวงสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนการกดปุ่มทำการระเบิดหินภายในอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง-แม่งัด เพื่อการสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ

นายวงศ์พันธ์ วงศ์สมุทร หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวรายงานต่อประธานในพิธีว่า          จากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เมื่อปี พ.ศ.2519-2536 และอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เมื่อปี พ.ศ.2520-2528 ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริ การบริหารจัดการน้ำเริ่มมีปัญหาเนื่องจากการขาดแคลนน้ำ เพราะความเติบโตด้านการท่องเที่ยวการขยายตัวของชุมชน และภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน เป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในเขตพื้นที่ชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และพื้นที่โดยรอบ ปริมาณน้ำต้นทุนใน       อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน จึงได้ศึกษา แนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อสานต่อโครงการตามพระราชดำริทั้งสองโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรี               ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 และจะดำเนินแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กรอบวงเงิน 15,000 ล้านบาท

สำหรับการจัดพิธี “สานต่องานพ่อ เติมน้ำเติมชีวิต” ในวันนี้ เป็นการเริ่มต้น  งานเจาะระเบิดอุโมงค์ส่งน้ำครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช จากโครงการพระราชดำริของพระองค์ท่าน ซึ่งได้มอบให้กับประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ที่ใช้วิธีการเจาะระเบิด (Drill and Blast)            หากโครงการนี้แล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้เฉลี่ย 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้ง    เพิ่มปริมาณน้ำอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม และลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน ตลอดจนสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต

ทางด้านนายศราวุธ ไทยเจริญ นายอำเภอแม่แตง กล่าวว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา  จังหวัดเชียงใหม่  เป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน            ซึ่งสอดคล้องกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล  อดุลยเดช  ในการบริหารจัดการน้ำจากพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมากไปยังพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า  โดยวิธีส่งน้ำส่วนที่เหลือจากการใช้ประโยชน์  ตามหลักการแบ่งปันการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด  และสอดคล้องกับหลักการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ  คือ  การคำนึงถึงความเหมาะสม  สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ  และการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างสูงในพื้นที่ทั่วจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน

สำหรับความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่งัด-แม่กวง ขณะนี้ดำเนินการไปได้ประมาณร้อยละ 9 ช้ากว่าแผนที่วางไว้เล็กน้อย เนื่องจากติดปัญหาด้านการขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติในช่วงแรกนานประมาณ 6 เดือน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา นอกจากนี้ การขออนุญาตใช้ระเบิดและขนส่งระเบิดยังมีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนด้วย ซึ่งเพิ่งได้รับใบอนุญาตขนย้ายมาเมื่อ 8 มิ.ย. 60 ที่ผ่านมา จึงส่งผลให้การดำเนินงานมีความคืบหน้าไปไม่มากนัก แต่ยังมั่นใจว่าการดำเนินงานจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้.

 

 

You may also like

บสย. รุกโมเดล “SMEs Digital Gateway” ปั้น 11 สาขาภูมิภาคสู่ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน

จำนวนผู้