นวัตกรรมระบบล้างผักและผลไม้ด้วยฟองไมโครนาโนโอโซน

นวัตกรรมระบบล้างผักและผลไม้ด้วยฟองไมโครนาโนโอโซน

มช.แถลงผลงานนวัตกรรมระบบล้างผักและผลไม้ด้วยฟองไมโครนาโนโอโซน  ทางเลือกใหม่เพื่อความปลอดภัยทางอาหารมิติใหม่ของคนไทย ในการนำมาใช้ในการล้างผักผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว สามารถลดการสะสมของจุลินทรีย์ โดยเฉพาะแบคทีเรียก่อโรค ได้ถึงร้อยละ 90 และสารพิษกำจัดแมลงตกค้างโดยเฉพาะกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และคาร์บาเมทที่มีการใช้กันมากในปัจจุบันได้ถึงร้อยละ70

เมื่อบ่ายวันที่ 27 ธ.ค.65 ที่ศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานในการแถลงข่าวและขอบคุณสื่อมวลชนประจำปี 2565 ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดขึ้น เพื่อแนะนำศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย นวัตกรรมเด่นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ข้อมูลข่าวสาร กิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย ร่วมให้รายละเอียดและตอบข้อซักถามในด้านต่างๆ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีการบริหารนวัตกรรมฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และพันธกิจสากล การสื่อสารองค์กร /ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นที่ปรึกษาในโครงการวิจัย”ปั้นดาว”กล่าวว่า  นวัตกรรมระบบล้างผักและผลไม้ด้วยฟองไมโครนาโนโอโซนเพื่อความปลอดภัยทางอาหาร (Micronanobubble Ozone Washing System for Food Safety of Fruit and Vegetable) ต้นแบบเทคโนโลยีระดับกึ่งอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นโดย รศ.ดร.กานดา หวังชัย สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่เพื่อความปลอดภัยทางอาหารสำหรับผู้บริโภค โดยนวัตกรรมดังกล่าวนี้ ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการวิจัย “ปั้นดาว” จากศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สำนักงานโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว.) กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)

ทั้งนี้ ตัวเครื่องนวัตกรรมดังกล่าว มีขนาดความจุปริมาตร 140 ลิตร แบบอัตโนมัติ ขนาด 156x70x93 เซนติเมตร ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากเทคโนโลยีไมโครบับเบิลโอโซน ซึ่งเป็นมิติใหม่ของคนไทยในการนำมาใช้ในการล้างผักผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว ที่สามารถลดการสะสมของจุลินทรีย์ โดยเฉพาะแบคทีเรียก่อโรค ได้ถึงร้อยละ 90และสารพิษกำจัดแมลงตกค้างโดยเฉพาะกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และคาร์บาเมทที่มีการใช้กันมากในปัจจุบันได้ถึงร้อยละ70 ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถล้างผักหรือผลไม้ได้ปริมาณมาก ประหยัดน้ำ และใช้เวลาในการล้างเพียง 15 นาทีต่อการล้างหนึ่งครั้ง อีกทั้งช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้ให้สดได้นานขึ้น มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นระบบที่ได้การยอมรับจากระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ด้านการจัดการโรงคัดบรรจุ และผ่านการทดสอบจากผู้ใช้งานจริงมาแล้วอีกด้วย

รองอธิการบดีการบริหารนวัตกรรมฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และพันธกิจสากลฯ กล่าวอีกว่า ในปี 2566 นี้ มช.จะนำเครื่องดังกล่าวติดตั้งและใช้งานในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันงานวิจัยที่ต่อยอดในเชิงพาณิชย์นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจา ซึ่งมช.ได้จดสิทธิบัตรไว้แล้ว และคาดว่าในอนาคตผลงานวิจัยชิ้นนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยและยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย.

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้