ท่าอากาศยานเชียงใหม่ทุ่ม 15,000 ล้านเดินหน้าตามแผนพัฒนาฯรองรับผู้โดยสารได้ถึง 20 ล้านคนต่อปี

ท่าอากาศยานเชียงใหม่ทุ่ม 15,000 ล้านเดินหน้าตามแผนพัฒนาฯรองรับผู้โดยสารได้ถึง 20 ล้านคนต่อปี

- in headline, เศรษฐกิจ

ท่าอากาศยานเชียงใหม่เดินหน้าก่อสร้างตามแผนพัฒนาฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารที่โตขึ้นจาก 10 ปีก่อนถึงร้อยละ 250 ส่งผลให้เกิดความแออัดและสิ่งอำนวยความสะดวกบางช่วงเวลาไม่เพียงพอ ทุ่ม 15,000 ล้านรองรับผู้โดยสารถึงปี 2568 ได้ถึง 20 ล้านคน

วันที่ 1 มีนาคม 2562 ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ได้จัดงานครบรอบ 31 ปีการดำเนินงาน โดยมีพิธีทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อพนักงาน ลูกจ้าง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยมีนายมนตรี มงคลดาว รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานท่าอากาศยานภูมิภาค), นายพัฒนพงศ์ สุวรรณชาต หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการเงินของ ทอท.รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของ ทอท. ผู้แทนจากท่าอากาศยานต่างๆ หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ กงสุลต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการ และบริษัทสายการบิน ร่วมแสดงความยินดีจำนวนมาก

นาวาอากาศตรี มณธนิก รักงาม ที่ปรึกษา 10 ทอท.และรักษาการ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวว่า ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นท่าอากาศยาน 1 ใน 6 แห่ง ภายใต้การกำกับดูแลของ ทอท.ได้รับโอนกิจการ จากกรมการบินพาณิชย์มาอยู่ในความดูแล ของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 และแปรสภาพเป็น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 โดยได้มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการให้บริการในทุกๆ ด้าน

ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร 8 ล้านคนต่อปี แต่จากแนวโน้ม                         การเติบโตของปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 250 ส่งผลให้เกิดความแออัดและสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอในบางช่วงเวลา ถึงแม้ว่าท่าอากาศยานเชียงใหม่ จะปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ขยายพื้นที่การให้บริการ และบริหารจัดการเส้นทางเดินของผู้โดยสาร เพื่อให้ผู้โดยสาร และผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกรวดเร็วมากที่สุด ภายใต้คุณภาพการให้บริการในระดับสากล         และมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) มาโดยตลอดแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ทัน    ต่ออัตราการเติบโตของปริมาณผู้โดยสาร โดยตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ท่าอากาศยานเชียงใหม่ต้องให้บริการผู้โดยสาร              ในปริมาณที่เกินขีดความสามารถ และต้องเผชิญกับปัญหาความคับคั่งของผู้โดยสาร ดังนั้น ทอท.จึงได้อนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 (2563-2565) มีเป้าหมายรองรับผู้โดยสาร 16.5 ล้านคนในปี 2565 ในวงเงินงบประมาณ 15,000 ล้านบาท และโครงการพัฒนาพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ระยะที่ 2 (2565-2568) มีเป้าหมาย   รองรับผู้โดยสาร 20 ล้านคน ในปี 2568 ในวงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามเพื่อแก้ปัญหาความคับคั่งของผู้โดยสาร คณะกรรมการ ทอท.ได้อนุมัติแผนเร่งด่วน                           เพื่อบรรเทาความแออัด (ดำเนินการก่อสร้างปี 2561-2563) ประกอบด้วย งานก่อสร้างอาคาร Private Jet Terminal พร้อมลานจอดอากาศยาน ,งานก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์สัมปทาน 1,000 คัน, งานก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์รองรับรถยนต์ 400 คัน, งานก่อสร้างอาคารสถานีดับเพลิงและกู้ภัย, งานก่อสร้างอาคารบำรุงรักษา, งานก่อสร้างอาคารคลังสินค้า,งานก่อสร้างพื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับอุปกรณ์ภาคพื้น (Ground Service Equipment :GSE)และงานปรับปรุงทางสัญจร และชานชาลาบริเวณด้านหน้าอาคารผู้โดยสาร

ส่วนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 (ดำเนินการก่อสร้างปี 2563-2565) ประกอบด้วย งานก่อสร้างทางขับขนานเส้นใหม่พร้อมทางขับออกด่วน เพื่อให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้                              29-31 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากเดิมที่รองรับได้ 24 เที่ยวบินต่อชั่วโมง,งานก่อสร้างและปรับปรุงลานจอดอากาศยานจาก 20 หลุมจอดเป็น 31 หลุมจอด โดยเป็นหลุมจอดประชิดอาคาร 12 หลุมจอด และหลุมจอดระยะไกล 19 หลุมจอด พร้อมติดตั้งสะพานเทียบเพิ่มเติม 6 ชุด พร้อมระบบ เติมน้ำมันอากาศยานทางท่อ งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ พื้นที่ 70,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้  5.3 ล้านคนต่อปี, งานก่อสร้างอาคารสำนักงาน ทชม.และสายการบิน พร้อมที่จอดรถยนต์ จำนวน 1,600 คัน, งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ พื้นที่ 48,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 11.2 ล้านคนต่อปี, งานก่อสร้างและปรับปรุงขยายขีดความสามารถของระบบบำบัดน้ำเสีย, งานก่อสร้างโรงผลิตน้ำประปา,งานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย,งานก่อสร้างและปรับปรุงระบบถนนภายในท่าอากาศยานเป็น 3 ช่องจราจรและก่อสร้างทางยกระดับ แยกผู้โดยสารขาเข้าและขาออก    

ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ยังกล่าวถึงผลการดำเนินงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่                                ในปี 2561 ว่า ปริมาณการจราจรทางอากาศ (มกราคม-ธันวาคม 2561) มีอากาศยานพาณิชย์ ขึ้น-ลง 78,208 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 8.63 มีสายการบินที่บินประจำภายในประเทศ จำนวน 8 สายการบิน ทำการบิน     ใน 13 เส้นทาง และสายการบินระหว่างประเทศ จำนวน 26 สายการบิน ทำการบินใน 27 เส้นทาง มีเที่ยวบินเฉลี่ย   252 เที่ยวบินต่อวัน 2. มีจำนวนผู้โดยสาร 10.99 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 7.42 เฉพาะผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศมีประมาณ 2.68 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.35 ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้โดยสารชาวจีนถึงกว่า 1.69 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณร้อยละ 19 การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารชาวจีนดังกล่าว นำมาซึ่งความเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศชาติ ขณะเดียวกันก็ทำให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่จำเป็นต้องขยายเวลาให้บริการในบางช่วงเวลาโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญๆ เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน และสงกรานต์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของชุมชนที่อาศัยโดยรอบและในแนวขึ้นลงของอากาศยานบ้าง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ต้องขออภัยที่ได้สร้างผลกระทบดังกล่าวให้แก่ชุมชนรอบข้าง อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็น ต้องเพิ่มเที่ยวบินนอกเวลาทำการปกติ ท่าอากาศยานเชียงใหม่จะขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า        ส่วนปริมาณการขนถ่ายสินค้าปีที่ผ่านมามีปริมาณลดลงเหลือ 14,615 ลดลงจากปี 2560 ร้อยละ 15.53  

นาวาอากาศตรี มณธนิก กล่าวด้วยว่า สำหรับการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของ ทอท.นั้น ในปี 2561 ท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ  สนับสนุนด้านการศึกษาและสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงได้จัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับชุมชน ตลอดจนให้การสนับสนุนกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ สถานศึกษา ชุมชนท้องถิ่น และกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสนับสนุนน้ำดื่ม การสนับสนุนงบประมาณและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของจังหวัด รวมถึงการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายในท่าอากาศยานเชียงใหม่ สำหรับจัดกิจกรรมของท้องถิ่นและชุมชน

ในส่วนของการก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 นั้น หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการและได้มอบหมายให้ทอท.เป็นดำเนินการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดทางวิชาการ เกี่ยวกับทางด้านเทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบิน ทั้งทิศทางลม สิ่งกีดขวางต่างๆ โดยเบื้องต้นพื้นที่ที่ทำการศึกษายังเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างอ.บ้านธิจังหวัดลำพูนกับอ.สันกำแพง โดยในส่วนของพื้นที่ก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่นั้นก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุดต้องรอผลการศึกษานี้ให้แล้วเสร็จก่อน.

 

 

You may also like

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือลั่นสู้ พร้อมรวมพลังทวงคืนความมั่งคั่งจากนายทุน

จำนวนผู้