ทีเส็บเปิดเทรนด์ไมซ์เมืองรองในกลุ่มอาเซียนในงาน ASEAN MICE Conference 2018

ทีเส็บเปิดเทรนด์ไมซ์เมืองรองในกลุ่มอาเซียนในงาน ASEAN MICE Conference 2018

ทีเส็บเริ่มงาน ASEAN MICE Conference 2018 เปิดเทรนไมซ์เมืองรองในกลุ่มอาเซียน ใช้แพลตฟอร์มสร้างการรับรู้และความเข้าใจ แลกเปลี่นแนวคิดการขับเคลื่อนเมืองไมซ์และสร้างศักยภาพ หวังกระจายรายได้ สร้างเศรษฐกิจยั่งยืนตามแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เผยปี 60 จัดงานไมซ์ใน 5 เมือง 4,612 งานมีนักเดินทางเข้าร่วมกว่า 692,788 คน เม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 63,773.04 ล้านบาท

ที่โรงแรมแชงกรีลา เชียงใหม่ นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผอ.สายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ     ทีเส็บพร้อมด้วยนางสาวอะมีเลีย โรชี่แมน ประธานฝ่ายปฏิบัติการซาราวัค คอนเวนชั่น บูโรหรือ SCB ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน ASEAN MICE Conference 2018 ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ     ทีเส็บ ใช้แพลตฟอร์มการเข้าร่วมงานประชุมท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 37 (37th ASEAN Tourism Forum 2018 : ATF 2018) ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเชิญกูรูด้านไมซ์ของไทยและอาเซียนนำเสนอเมืองไมซ์ซิตี้และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ แนวทางการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ของเมืองต่างๆ ให้พร้อมรองรับการจัดงานไมซ์ และการกระจายกิจกรรมไมซ์จากเมืองหลักสู่ภูมิภาคท้องถิ่นในพื้นที่เมืองรอง หวังให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาและนวัตกรรม ทีเส็บ กล่าวว่า การทำงานภายใต้ความร่วมมือกับประเทศอาเซียน ถือเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนทางความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ก่อให้เกิดความร่วมมือในระดับภูมิภาค และการประสานงานเชิงนโยบายในการส่งเสริมธุรกิจไมซ์ของอาเซียน โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานในภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับความต้องการของนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากทั่วโลกให้มาจัดงานไมซ์ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งแนวโน้มของการส่งเสริมพื้นที่หรือเดสติเนชั่น เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น

นอกจากการส่งเสริมเมืองหลักและเมืองหลวงของประเทศให้รองรับการจัดงานไมซ์แล้วนั้น ยังเน้นการสร้างพื้นที่อื่นๆ ที่มีศักยภาพในการรองรับไมซ์ สร้างทางเลือกที่หลากหลายให้แก่กลุ่มลูกค้า  และยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่เมืองอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) มุ่งเน้นให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการพัฒนาประเทศตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง มีการกระจายรายได้ไปยังทุกภูมิภาค ทีเส็บจึงได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ ให้สอดรับกับเทรนด์ปัจจุบัน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  และแผนแม่บทอุตสาหกรรมไมซ์ที่เน้นการเติบโตอย่างเท่าเทียม ด้วยการพัฒนาระบบส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ภูมิภาค เสริมสร้างศักยภาพของไมซ์ซิตี้ และเมืองรองที่มีศักยภาพ รวมทั้งการพัฒนาแนวคิด Area-Based ที่เพิ่มการทำงานเชิงพื้นที่ ลงลึกระดับภูมิภาค สร้างการทำงานเชิงรุกกับผู้ประกอบการของแต่ละท้องถิ่น ให้มีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมไมซ์ มีส่วนร่วมในงานส่งเสริมกิจกรรมไมซ์ไทยมากขึ้น และวางกลยุทธ์เพื่อผลักดันตลาดไมซ์ในแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะ

สำหรับการจัดงาน ASEAN MICE Conference 2018 ในช่วงเวลาของการจัดงาน ATF 2018 นั้น จึงเป็นงานที่ทีเส็บริเริ่มขึ้นเพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มสร้างการรับรู้ ความเข้าใจและแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับ การขับเคลื่อนเมืองไมซ์และการสร้างศักยภาพของเมืองรอง ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกประเทศในอาเซียนต่างให้ความสนใจ และเร่งขับเคลื่อนให้เป็นโมเดลในการพัฒนาไมซ์

โดยงานครั้งนี้ จัดขึ้น ภายใต้แนวคิด ASEAN MICE Cities: Asia’s Power House ที่รวบรวมกูรูด้านไมซ์จากไทยและอาเซียนมาร่วมพูดคุยในหัวข้อที่สำคัญ อาทิ Thailand MICE Cities : Powering Up for the Future แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์เมืองไมซ์ซิตี้ของไทยอย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น และพัทยา ที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนเมืองและท้องถิ่น ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และภาพลักษณ์ของเมือง

Destination Success: Collaboration and  Partnerships. A case study on Best Cities Global Alliance” โดยนายพอล วาลลี กรรมการผู้จัดการ Best Cities Global Alliance ร่วมถ่ายทอดนวัตกรรมการพัฒนาศักยภาพของเมืองต่างๆ ให้สามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นเมืองจุดหมายปลายทางด้านไมซ์ / Developing Future MICE Destinations: Standards, Co-created Spaces, and Local Aspirations โดย ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโทบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติการจัดการสากล คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมถ่ายถอดแนวทางการพัฒนาจุดหมายปลายทางแห่งไมซ์ ทั้งด้านการสร้างมาตรฐานในระดับประเทศและระดับสากล การทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการระหว่างชุมชนหรือท้องถิ่นเพื่อให้เกิดกิจกรรมไมซ์ในรูปแบบใหม่ๆ และผู้แทนจากเมืองซาราวัค ประเทศมาเลเซีย เมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น และเมืองเคียงจู สาธารณรัฐเกาหลี  มาร่วมเสวนาในหัวข้อ MICE Cities: Seeing Opportunities, Not Challenges ถ่ายทอดมุมมองของการเป็นเมืองรองที่ผันทรัพยากรของเมืองให้กลายเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ และสร้างโอกาสที่ยิ่งใหญ่ให้กับเมืองของตน

ด้าน นางสาวอะมีเลีย โรซี่แมน ประธานฝ่ายปฏิบัติการ ซาราวัค คอนเวนชั่น บูโร หรือ SCB กล่าวว่า เมืองรองนั้นสามารถสร้างการรับรู้และสร้างการเติบโตในแง่ของเศรษฐกิจได้หากมีแผนการตลาดที่ดี มีการสร้างแบรนด์ และสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองที่ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบเมืองหลวง ดังเช่นที่ซาราวัคได้นำเอาความโดดเด่นของเกาะบอร์เนียวมาผนวกเข้ากับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐาน เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดกิจกรรมไมซ์ระดับโลกให้มาจัดงานที่นี่ได้ดังเช่น  The 55th ICCA Congress 2016

โดยซาราวัคนั้น มีเป้าหมายในการสร้างเมืองให้เป็นจุดหมายปลายทางแห่งการจัดงานไมซ์หรือ Business Event มีพันธมิตรสำคัญคือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ให้ความร่วมมือและพร้อมจะพัฒนาศักยภาพตัวเองเพื่อให้สามารถรองรับกิจกรรมเชิงธุรกิจเหล่านี้ได้ ทุกคนต่างให้ความสำคัญ และพร้อมเป็นตัวแทนของประเทศที่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อน มีการกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันที่ชัดเจน อาทิ ลดช่องว่างหรืออุปสรรคทางการสื่อสารให้ได้อย่างรวดเร็ว เป้าหมายเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีผู้รับผิดชอบดูแลพันธมิตรในแต่ละภาคส่วน โดยได้มีการตั้งฝ่าย Government and Industry Relations ขึ้นเพื่อทำหน้าที่โปรโมท เชื่อมโยง และส่งเสริมหน่วยงานต่างๆ ให้ทำงานควบคู่ไปกับ SCB

ทั้งนี้ การเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ก่อให้เกิดประโยชน์กับเมืองหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ไปยังชุมชน การเกิดกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) ที่มากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีและการศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ มีการประชาสัมพันธ์เมืองให้เป็นที่รู้จักไปยังทั่วโลก และมีโอกาสสร้างพันธมิตรระหว่างประเทศ ดังเช่นการเดินทางมาร่วมกิจกรรมที่เชียงใหม่ใจครั้งนี้ ก็เชื่อว่าจะเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ที่ดีสำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของเมืองได้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

นอกจากงาน ASEAN MICE Conference 2018 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 24 มกราคม 2561 แล้วนั้น ในช่วงสัปดาห์ของการจัดงาน ATF 2018 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยทีเส็บยังได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และจังหวัดขอนแก่น ในการประกาศให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุม PATA Destination Marketing Forum 2018 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2561 ณ จังหวัดขอนแก่น นับเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยขอนแก่นเป็นหนึ่งในไมซ์ซิตี้ของไทยที่มีศักยภาพและความพร้อมในการรองรับการจัดงานประชุมระดับนานาชาติ

ซึ่งการจัดประชุม PATA Destination Marketing Forum 2018 จะเป็นเวทีที่มีผู้เข้าร่วมงานทั้งหน่วยงานองค์กร ผู้ประกอบการ บริษัทท่องเที่ยว และการประชุมในภูมิภาคเอเซีย แปซิฟิค โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เข้าร่วมงานชาวไทย ที่จะเดินทางมาจากจังหวัดขอนแก่นและเมืองรองต่างๆ โดยงานแถลงข่าวการจัดงาน PATA Destination Marketing Forum 2018 นี้ กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 26 มกราคม 2561 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่

และในช่วงเย็นวันเดียวกัน ยังจัดให้มีพิธีมอบรางวัล ASEAN MICE Venue Standard ภายในงาน ASEAN Tourism Awards & Closing Ceremony ให้กับผู้ประกอบการไมซ์ทั้ง 10 ประเทศอาเซียน ที่ผ่านการตรวจประเมินมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์อาเซียน นับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งที่ทีเส็บได้ผลักดันให้มาตรฐานสถานที่การจัดงานไมซ์ของไทย เข้าสู่การสร้างมาตรฐานสถานที่จัดงานระดับอาเซียน และมีผู้ประกอบการไมซ์ในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้ผ่านมาตรฐาน และได้รับตราสัญลักษณ์มาตรฐานสถานที่จัดงานของอาเซียนจากประเทศบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย โดยแต่ละประเทศจะรับมอบตราสัญลักษณ์ดังกล่าวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ

“ในปีงบประมาณ 2560 (เดือนกันยายน 2559-เดือนตุลาคม 2560) เกิดการจัดงานไมซ์ใน จ.เชียงใหม่, พัทยา จ.ชลบุรี, จ.ขอนแก่น และ จ.ภูเก็ต จำนวน 4,612 งาน มีนักเดินทางกลุ่มไมซ์เข้าร่วมงาน 692,788 คน ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของจังหวัดเหล่านี้กว่า 63,773.04 ล้านบาท ซึ่งหากเมืองรองหรือจังหวัดต่างๆ มีการพัฒนาศักยภาพและเกิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการในทุกภาคส่วนแล้ว จะช่วยพัฒนาเมืองให้มีความพร้อมและมีศักยภาพรองรับการจัดกิจกรรมไมซ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก ส่วนจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในภาพรวมนั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 36,364,467 คน สร้างรายได้ให้กับประเทศ 179,601 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ 1,047,959 คน สร้างรายได้ 88,459 ล้านบาท และนักเดินทางกลุ่มไมซ์ภายในประเทศ 35,316,508 ล้านคน สร้างรายได้ 91,142 ล้านบาท นางศุภวรรณ กล่าวทิ้งท้าย.

ณัชชา อุตตะมัง ข่าว.

You may also like

บสย. รุกโมเดล “SMEs Digital Gateway” ปั้น 11 สาขาภูมิภาคสู่ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน

จำนวนผู้