ถกเสรีภาพการชุมนุมฯ ชี้”เดินมิตรภาพ”พลิกโอกาสใช้ กม.ควบคุมรัฐ

ถกเสรีภาพการชุมนุมฯ ชี้”เดินมิตรภาพ”พลิกโอกาสใช้ กม.ควบคุมรัฐ

เชียงใหม่ / เสวนา “เสรีภาพในการชุมนุม หรือมั่วสุมทางการเมือง” นักวิชาการ-ทนาย ชี้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558  และคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ถูกเลือกใช้ตามใจผู้มีอำนาจ แต่กรณีเดินมิตรภาพ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่ทำให้เห็นว่ากฎหมายไม่ได้เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือทรงพลังของสังคมในการควบคุมรัฐด้วยเมื่อเวลา 13.00-15.30 น. วันที่ 7 ก.พ. ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาเรื่อง “เสรีภาพในการชุมนุม หรือมั่วสุมทางการเมือง” ที่ห้อง LB 1201 คณะนิติศาสตร์ มช. วิทยากรประกอบด้วย นายสุรชัย ตรงงาม (ทนายความ กรณีก้าวเดินเพื่อมิตรภาพ) นายกฤษดา ขุนณรงค์ (กรณีโรงไฟฟ้าเทพา) รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล (กรณีมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร) นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มช. และดำเนินรายการโดย นายกฤษณ์พชร โสมณวัตรรศ.สมชาย กล่าวว่า หลังเหตุการณ์รัฐประหารสังคมไทยต้องเผชิญปัญหา เกี่ยวกับเสรีภาพ การชุมนุม ที่ถูกคุกคาม และถูกทำลาย ซึ่งที่ผ่านมาคณะนิติศาสตร์ มช.ได้รับทุนจากศาลรัฐธรรมนูญ ทำวิจัยเรื่อง “เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย” และทำวิจัยเสร็จก่อนเกิดรัฐประหาร ปรากฏว่างานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2560 แต่กลับล้มเหลวทางวิชาการ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เพราะไม่สามารถใช้เป็นสิ่งชักจูง หรือโน้มน้าว ให้รัฐใช้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งของการออก พรบ.การชุมนุมสาธารณะได้เลยทั้งที่สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นการแสดงออก  ความคิดเห็นและข้อมูล อันเป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางการเมือง ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน ถกเถียง ตอบโต้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขปัญหาทางการเมืองต่างๆ

“สำหรับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558  และคำสั่ง คสช.ที่  3/2558 เป็นกฎหมายอัปลักษณ์ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ไม่สามารถเกิดการโต้แย้งได้ และการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐที่ผ่านมามักมีการเลือกใช้กับบางกลุ่ม นำมาใช้ตามใจผู้มีอำนาจ ซึ่งเชื่อว่ารัฐต้องการให้กลุ่มเห็นต่างมีคดีติดพัน เพื่อปรามการเคลื่อนไหว” รศ.สมชาย กล่าวนายกฤษดา กล่าวว่า  การใช้กฎหมายปิดกั้นเสรีภาพการชุมนุม กรณีเทใจให้เทพา ที่มีจุดประสงค์คือเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี และปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวถูกดำเนินคดีจำนวน 17 คน ทั้งนี้โดยปูมหลัง เดิมกลุ่มคัดค้าน ได้ยื่นหนังสือคัดค้านโรงไฟฟ้ามาแล้ว 100 กว่าครั้ง แต่ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐ จึงเป็น ที่มาของการเดินไปยื่นหนังสือนายกฯ เพื่อให้เห็นความจริงใจของชาวบ้าน

“ครั้งแรกไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะมองว่าเป็นสิทธิประชาชนในการเข้าไปยื่นหนังสือต่อนายกฯ แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่กดดัน และได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่ากิจกรรมเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ทางกลุ่มจึงส่งตัวแทนไปขออนุญาตในการจัดกิจกรรม สุดท้ายก็ถูกเจ้าหน้าที่ปิดกั้นขวางทางเดิน นำไปสู่การสลายการชุมนุม และจับกุมในที่สุด” นายกฤษดา กล่าวทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นโครงการขนาดใหญ่กินเนื้อที่ประมาณ 2,300 ไร่ มีชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการร่วม 5,000 ราย นอกจากนี้รัฐยังไม่ให้ความสำคัญกับการประชาพิจารณ์ ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ซ้ำกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะฝ่ายคัดค้านจะถูกปิดกั้นจากเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร

จึงถือได้ว่าการใช้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ในกรณีเดินเทใจให้เทพา เป็นเครื่องมือการกีดกันการชุมนุม ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนายสุรชัย กล่าวว่า กิจกรรมการเดินมิตรภาพ We Walk เป็นการรวมตัวของ 4 กลุ่ม คือ 1 กลุ่มหลักประกันสุขภาพ 2 กลุ่มความมั่นคงทางอาหาร 3 กลุ่มสิทธิชุมชนและ 4 กลุ่มเรียกร้องเสรีภาพ แรกเริ่มในวันที่ 19 ม.ค.นั้นไม่ได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ เพราะเป็นการประชุมทางวิชาการ และเป็นการเดินไปหาเพื่อน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปขอนแก่นต่อมาเมื่อกลุ่มแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ขอชุมนุมสาธารณะ กลับพบปัญหาคือความคลุมเครือในหนังสือตอบกลับ เช่น ในการใช้เครื่องเสียงต้องขออนุญาต ตาม พ.ร.บ.การใช้เครื่องขยายเสียงอีก และข้อความ อย่าให้เป็นการชุมนุมทางการเมืองเพราะอาจขัดคำสั่ง คสช 3/2558 จนในเช้าวันที่ 26 ก็ถูกปิดกั้นการเดินจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทางกลุ่มจึงใช้วิธีเดินครั้งละ 4 คนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็โดนกดดันจากเจ้าหน้าที่ เช่น การถ่ายรูป และยังข่มขู่เจ้าอาวาสวัด เพื่อไม่ให้กลุ่มมีที่พักอาศัย เป็นต้นดังนั้น ในมุมมองเพื่อหาทางออก และเสรีภาพในการชุมนุม จึงเสนอว่าต้องยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 เช่นการเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อ ยกเลิกกฎหมายดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 133  และศึกษาวิจัยการบังคับใช้การชุมนุมสาธารณะ 2558 รวมทั้งให้มีการแก้ไขให้สนับสนุนเสรีภาพการชุมนุม โดยรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง สุดท้ายเสรีภาพการชุมนุมจะเป็นจริงได้ ด้วยการปฏิบัติการทางสังคมและสองเท้าของพวกเราเองด้านนายสงกรานต์ กล่าวว่า กรณีศึกษาเรื่องการเดินมิตรภาพ ของกลุ่ม We Walk ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคม ที่เมื่อผู้เดินถูกรัฐใช้ปฏิบัติการทางกฎหมายแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่ม 8 คน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.3/2558 แล้วปล่อยตัวโดยไม่มีประกัน แต่จุดประสงค์คือเพื่อขัดขวางการเคลื่อนไหว และส่งสัญญาณไปยังผู้ร่วมกิจกรรมรายอื่นว่าอาจถูกดำเนินคดีเช่นกัน หากผลลัพธ์กลับตรงข้าม ยังมีกิจกรรมเดินต่อไป นอกจากนี้ประชาชนยังยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม พร้อมยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษาทำให้ศาลเรียกตำรวจระดับสูงเข้าเป็นผู้ถูกฟ้องคดีเพิ่มเติม และออกคำสั่งให้ตำรวจยุติการขัดขวางกิจกรรมเดิน ทั้งยังให้อำนวยความสะดวกในการเดินจนถึงวันสุดท้ายของกิจกรรม แสดงให้เห็นว่ากฎหมายไม่ได้เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือทรงพลังของสังคมในการควบคุมรัฐด้วย จึงเป็นภารกิจร่วมของสังคม ที่ต้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายที่เชื่อว่ากฎหมายเป็นข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐกับประชาชน เป็นเครื่องมือของสังคมในการควบคุมรัฐ และเป็นเครื่องมือในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ให้อยู่ร่วมกันด้วยข้อตกลงที่มีเหตุมีผล ไม่ใช่ด้วยอำนาจบังคับที่ไร้ความชอบธรรม.

You may also like

บสย. รุกโมเดล “SMEs Digital Gateway” ปั้น 11 สาขาภูมิภาคสู่ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน

จำนวนผู้