ชลประทานเต้นชาวนาแหกกฎจะปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 ผวาเกิดการแย่งชิงน้ำ

ชลประทานเต้นชาวนาแหกกฎจะปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 ผวาเกิดการแย่งชิงน้ำ

สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่เต้นชาวนาจะทำนา 3 ครั้งในรอบปี เผยมีเกษตรกรแหกข้อตกลงเตรียมปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 นับพันไร่ หวั่นเกิดปัญหาแย่งชิงน้ำในช่วงเดือนเม.ย.ร่อนหนังสือถึงผวจ.เชียงใหม่แจ้งอำเภอทางตอนใต้งดปลูก

ที่สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ เป็นประธานประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำตลอดแนวแม่น้ำปิงตอนท้ายเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ประตูระบายน้ำท่าวังตาล ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ ถึงประตูระบายน้ำ(ปตร.)แม่สอย อ.จอมทอง ซึ่งประกอบด้วย ปตร.ท่าวังตาล ฝายแม่ปิงเก่า ฝายท่ามะโก๋ ฝ่ายสบร้อง ฝายพญาอุด ฝายหนองสลีก ปตร.ดอยน้อย ปตร.วังปาน และ ปตร.แม่สอย

นายธนิต จ่าภา หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำ ส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่แม่น้ำปิงตอนบน เมื่อวันที่ 23 มี.ค.60 มีน้ำไหลจากแม่น้ำปิงที่ อ.เชียงดาว ที่ 0.34 ลบ.ม.ต่อวินาที และไหลจากตัวเมืองเชียงใหม่ลงสู่เขื่อนภูมิพลที่สถานี P73A ในอัตรา 1.50 ลบ.ม.ต่อวินาที ในรอบเวรที่ 7 มีการส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัดจำนวน 4 วัน คือส่งที่ 18, 18, 12 และ 14 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำ 5.4 ล้าน ลบ.ม. โดยเริ่มส่งตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 16 มี.ค.- 20 มี.ค.เวลา 13.00 น. ซึ่งน้ำจากเขื่อนแม่งัดมาถึง ปตร.ท่าวังตาลในรอบนี้ใช้เวลา 15 ชั่วโมง เร็วกว่าเดิม 3 ชั่วโมง และใช้เวลายกระดับน้ำ 4 ชั่วโมง จากที่เคยยกในรอบเดิม 10 ชั่วโมง เนื่องจากช่องว่างของน้ำที่ต้องเติมเข้ามาน้อยลงจึงส่งผลให้น้ำลงมาเติมเต็มในระบบเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก

“สำหรับน้ำในรอบเวรนี้ใช้เวลาไปถึงฝายหนองสลีก 16 ชั่วโมง โดยใช้เวลาในการเพิ่มระดับน้ำ 6 ชั่วโมง จากเดิม 11 ชั่วโมง และจากหนองสลีกมีน้ำล้นไปท้ายน้ำถึง ปตร.ดอยน้อย ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ไปถึง ปตร.วังปาน ใช้เวลา 7 ชั่วโมง และไปถึง ปตร.แม่สอย ใช้เวลา 3 ชั่วโมง รวมแล้วน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯถึง ปตร.แม่สอย ใช้เวลา 92 ชั่วโมง จากเดิมต้องใช้เวลา 119 ชั่วโมงใช้เวลาเร็วขึ้น 27 ชั่วโมง” หน.ฝ่ายบริหารจัดการน้ำ ส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวและว่า

สำหรับการตรวจสอบปริมาณน้ำพบว่า น้ำจากเขื่อนแม่งัดส่งมาที่ 5.4 ล้าน ลบ.ม. มาถึงสถานี P75 จำนวน 4.5 ล้าน ลบ.ม. ถึงสถานี 103 บริเวณวงแหวนรอบ 3 ปริมาณ 4.7 ล้าน ลบ.ม. ส่วนน้ำที่เหลือประมาณ 2 วันถึงปตร.แม่สอย ซึ่งปริมาณน้ำก็ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำที่ส่งจากเขื่อนแม่งัด ในปีนี้ที่สถานีสูบน้ำของประปาอำเภอจอมทองมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว 46 ซม. ที่สถานีสูบน้ำบ้านแท่นคำมีการกั้นกระสอบทรายเสริมในลำน้ำ ทำให้สามารถสูบน้ำได้วันละ 12 ชั่วโมง จากเดิมในปีที่แล้วสูบได้เพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเมื่อกั้นกระสอบทรายที่จุดนี้ส่งผลให้จุดสูบน้ำสถานีประปาจอมทองมีน้ำเท้อขึ้นไปสนับสนุนด้วย

หน.ฝ่ายบริหารจัดการน้ำ ส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวอีกว่า ปัญหาที่พบคือจากสถานีสูบน้ำหน้า ปตร.แม่สอย 5 สถานี และท้าย ปตร.อีก 1 สถานี ที่มีการปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 แต่ได้มีการปลูกข้าวในรอบที่ 3 อีกประมาณ 780 ไร่ ซึ่งแจ้งว่าจะทำการปักดำในวันที่ 1 เม.ย.60 นี้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีอีก 1 สถานีแจ้งอย่างไม่เป็นทางการมาแล้วว่าจะมีการปลูกข้าวด้วยเช่นกันแต่ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดว่าจะมีกี่ไร เชื่อว่าหากรวมทั้ง 7 สถานที่มีข้อมูลเข้ามานี้ คาดว่าน่าจะมีพื้นที่ที่ปลูกข้าวในรอบที่ 3 นี้มากกว่า 1,000 ไร่

ทางด้าน นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า การปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 3 ถือเป็นเรื่องนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำในรอบเวรที่เหลืออยู่ เพราะในอนาคตยังไม่รู้ชัดว่าฝนจะมาเมื่อไร ทั้งที่ได้มีการประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งระบบไปแล้วโดยมีข้อสรุปว่าขอให้ทำนาแค่เพียงรอบที่ 2 หรือนาปรังรอบแรกเท่านั้น แต่ยังปรากฏว่ามีผู้ฝ่าฝืนมติที่ประชุมผู้ใช้น้ำจะปลูกข้าวในรอบที่ 3 ของปีอีก และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าข้าวเป็นพืชใช้น้ำน้อย อีกทั้งนโยบายและข้อสั่งการของ รมว.เกษตรฯ ไม่ให้มีการปลูกข้างนาปรังรอบที่ 2 โดยเด็ดขาด แต่ยังพบว่ามีเกษตรกรในบางพื้นที่ฝ่าฝืนอีก

“ปัญหาที่จะตามมาคือพฤติกรรมเลียนแบบ หากพื้นที่นี้ปลูกได้ พื้นที่ที่ยังไม่ได้ปลูกในบริเวณเดียวกันหรือใกล้เคียงกันก็จะปลูกตามบ้าง นั่นหมายถึงจะต้องมีการใช้น้ำในปริมาณที่มากเกินกว่าแผนที่กำหนดไว้แต่ต้น ตรงนี้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนโดยตรงอย่างแน่นอน ซึ่งจะมีปัญหาคือการใช้น้ำในปริมาณที่มากในช่วงเวลาเดียวกันในเดือนเมษายนต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคม ทั้งลำไยก็ต้องการน้ำมากในช่วงนี้ ข้าวที่ปลูกในรอบที่ 3 ก็ต้องการน้ำมากในช่วงเวลานี้เช่นกัน ต้องเกิดปัญหาแน่นอน”ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

เรื่องของการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 หรือรอบที่ 3 ของปีนี้ ในส่วนของสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ จะเร่งทำเอกสารเพื่อนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ให้ทราบเป็นการเร่งด่วนภายในสัปดาห์หน้า โดยขอให้จังหวัดเชียงใหม่มีข้อสั่งการไปยังทุกอำเภอตั้งแต่ สารภี หางดง สันป่าตอง ดอยหล่อ จอมทอง และ ฮอด งดการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 หรือการปลูกข้าวในรอบที่ 3 นี้โดยเด็ดขาด เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดฯ ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้ได้ทั้งลำไยและข้าวที่จะปลูกในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งจะส่งให้ผลผลิตของทั้งข้าวและลำไยเกิดความเสียหายได้.

You may also like

บสย. จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา โครงการ “บสย. ร่วมใจ ทำดี เพื่อสังคม” ครั้งที่ 2 ร่วมซ่อมแซม ทาสี เครื่องเล่นเด็ก ปลูกต้นไม้ ณ สวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์

จำนวนผู้