เชียงใหม่ / เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ จับมือสภาลมหายใจ และนักวิชาการ มช. ยื่นศาลปกครอง ฟ้อง “นายกฯ ตู่” – กก.วล.-ก.ล.ต. ไม่ใช้มาตรการทางกฎหมายกำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉินแก้ไขวิกฤติ PM 2.5เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 เม.ย.66 กลุ่มต่างๆ ใน จ.เชียงใหม่ ประมาณ 40 คน ได้แก่ เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ และประชาชน ได้เดินทางไปรวมตัวบริเวณข้างศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ และทำกิจกรรมชูป้าย เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 รวมทั้งแสดงละคร เรียกร้องความสนใจจากผู้สัญจรผ่านไปมา
ต่อมาได้เคลื่อนขบวนไปยังหน้าศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ ก่อนที่ รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มช. จะเป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำอะไร ทำไมปอดถึงพัง : ประชาชนภาคเหนือฟ้องนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหตุไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายแก้วิกฤติฝุ่น PM 2.5” เนื้อหาโดยสรุป คือเครือข่าย และองค์กรต่างๆ ข้างต้น ได้ร่วมกันยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน นโยบาย และแผนที่มีอยู่ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤติฝุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้เปิดให้ประชาชนลงชื่อสนับสนุนการฟ้องตั้งแต่วันที่ 7-9 เม.ย.66 ที่คณะนิติศาสตร์ มช. ซึ่งมีผู้มาร่วมลงชื่อ 727 คน และลงชื่อออนไลน์เพื่อสนับสนุนประเด็นการแก้ไขวิกฤติฝุ่นจากเกษตรพันธะสัญญาอีก 980 คน ขณะเดียวกันยังได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมอื่นๆ เช่น มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และกรีนพีซ ประเทศไทย เป็นต้น
โดยการฟ้องร้องครั้งนี้ มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อหลัก คือ 1. ฟ้องนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อเกิดภัยพิบัติร้ายแรงให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เมื่อนายกฯ ไม่ได้ใช้อำนาจนี้ ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของเหตุการณ์
2.ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 แต่ 4 ปีในการใช้แผนนี้ แทบไม่เห็นความคืบหน้า และปัญหายังคงรุนแรงอยู่ ถือเป็นความผิดปกติที่ไม่อาจยอมรับได้
3. ฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ที่มีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขต ให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อในแบบรายงาน 56-1 One Report หรือแบบอื่นๆ ในฐานะเอกสารสำคัญสำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย
ทั้งนี้การใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศสะอาด คือสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และสิทธินี้ได้รับการรับรองผ่านกฎหมายที่มีอยู่แล้ว แต่รัฐละเลยที่จะทำตามกฎหมายนั้น การฟ้องร้องในครั้งนี้จึงเรียกร้องสิ่งที่เรียบง่ายและเป็นพื้นฐาน ร่วมทางคืนสิทธิขั้นพื้นฐาน ทวงคืนปอดให้ประชาชนร่วมกัน.