คาดใช้งบฯ 5,000 ล้านแก้ปัญหาคลองแม่ข่าผู้ว่าฯจี้ไปทำแผนปฏิบัติงานให้ชัดหลังถูกติงแผนแม่บทมีแต่กรอบกว้างๆ

คาดใช้งบฯ 5,000 ล้านแก้ปัญหาคลองแม่ข่าผู้ว่าฯจี้ไปทำแผนปฏิบัติงานให้ชัดหลังถูกติงแผนแม่บทมีแต่กรอบกว้างๆ

ผู้ว่าฯเชียงใหม่ขอให้แต่ละหน่วยไปจัดทำแผนงานโครงการ หลังกรรมาธิการฯติงจะใช้งบ 5 พันล้านแต่แผนแม่บทไม่ชัด ผอ.ชลประทานเชียงใหม่แนะแก้บุกรุก-น้ำเสียให้ได้ ส่วนการหาแหล่งน้ำต้นทุนเติมคลองแม่ข่าคืบไปมาก ด้านที่ดิน/เจ้าท่าเชิญ 146 รายที่บุกรุกคลองแม่ข่ามาฟังการชี้แจงต้นเดือนหน้า

ที่ห้องประชุม 3 อาคารอำนวยการศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการปฏิบัติการดูแลคลองแม่ข่าระดับชุมชน ซึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่ได้มีประกาศแต่งตั้งเมื่อ 16 มิ.ย.60

ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า นอกจากโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูคลองแม่ข่าแล้ว ในส่วนของการสร้างจิตสำนึกสาธารณะในการแก้ไขปัญหาก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของการปล่อยน้ำเสียจากแหล่งชุมชนลงคลองแม่ข่า ซึ่งอยากให้แต่ละชุมชนหรือแต่ละบ้านมีถังดักไขมัน และอยากให้เริ่มจากตัวเอง ครอบครัวและในชุมชนของตนก่อนซึ่งหากมีการดำเนินการในสว่นนี้ได้ก็จะช่วยลดปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงคลองแม่ข่าได้มากขึ้น

“ในช่วงที่มีฝนตกและน้ำท่วมขังเนื่องจากการระบายน้ำไม่ดี ผมและผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ไปดูการขุดลอกท่อระบายน้ำในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ก่อนที่จะลงสู่คลองแม่ข่า พอเปิดฝาท่อออกมาพบว่ามีไขมันเกาะเต็มจนน้ำไม่สามารถจะไหลระบายได้ ซึ่งจริงๆ เรื่องของการขายอาหารข้างถนนก็ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว แต่ตัวผู้ประกอบการเองก็ควรจะมีจิตสำนึกไม่ใช่เทของเหลือหรือสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงท่อระบายน้ำหมด ซึ่งถังดักไขมันนี้เท่าที่ทราบก็จะมีหลายระดับราคาตั้งแต่ 800-1,000 บาทขึ้นไป ก็อยากให้แต่ละชุมชนและคณะกรรมการปฏิบัติการฯชุดนี้ช่วยนำไปกระตุ้นด้วย”นายปวิณ กล่าว

ทางด้านนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับความก้าวหน้าของคณะกรรมการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนให้คลองแม่ข่า เมื่อ 15 ส.ค.ที่ผ่านมาได้ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการด้านการมีส่วนร่วมและกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งทางกรรมาธิการฯได้สอบถามเช่นเดียวกันว่าถ้าจะแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่าทั้งระบบต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งก็ประมาณการไปว่าประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 12 ปีแต่ปัญหาคือขณะนี้ยังไม่มีแผนแม่บทหรือแผนปฏิบัติการ

“คลองแม่ข่าเป็น 1 ใน 7 ชัยยะมงคลเมืองเชียงใหม่มีลำน้ำสาขามากมาย แต่ปัจจุบันลำน้ำที่เคยเห็นชัดเจนถูกบุกรุก เพราะการขยายตัวของเมืองและปัญหาน้ำเสียก็เพิ่มมากขึ้น ในส่วนของคลองแม่ข่าเองวันนี้ได้แบ่งโซนพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนคือพื้นที่ต้นน้ำจากน้ำตกแม่สา-บ้านสุขิโต,จากสุขิโต-ถ.มหิดล จุดนี้ถือเป็นพื้นที่แม่ข่าตอนกลางและมีปัญหาน้ำน่าเสียรุนแรงที่สุด และจากมหิดล-ป่าแดดซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำ แต่ตอนช่วงท้ายก็มีปัญหาจากน้ำเสียในพื้นที่ตอนกลางที่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับคนในชุมชนม.9และ12 ต.ป่าแดดค่อนข้างมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง”ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

สำหรับการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนได้มีการสร้างฝายเพื่อผันน้ำจากขุนช่างเคี่ยนลงสู่อ่างเก็บน้ำแม่หยวก และมีการสร้างหนองเขียว 2 เพื่อเอาน้ำต้นทุนไปเติมคลองแม่ข่า เมื่อปี 59 ที่ผ่านมาก็มีการใช้ท่อขนาดใหญ่เอาน้ำจากอ่างแม่หยวกไปเติมและผันน้ำเก็บเข้าอ่างฯเพื่อนำไปใช้ในช่วงฤดูแล้ง มีการขุดลอกและปรับปรุงอ่างแม่หยวกและอาหารเพื่อน้ำน้ำเติมคลองแม่ข่า ส่วนคลอง 19 และ 16 ก็นำน้ำจากชลประทานแม่แตงผันสู่ห้วยแก้วเข้าไปเติมคูเมือง โดยที่แจ่งศรีภูมิกับแจ่งขะต้ำจะส่งน้ำลงคลองแม่ข่าอีกทอด

ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า จุดดีของคลองแม่ข่าคือสามารถหาแหล่งน้ำจากที่อื่นมาเติมได้ และมีชัยภูมิที่ดีสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ อีกทั้งยังเป็นคลองหลักในการระบายน้ำออกจากเมือง ส่วนการบำบัดน้ำเสียก็มีโรงบำบัดน้ำเสียที่ป่าแดดซึ่งใช้งบก่อสร้างถึง 3 พันล้านบาทและสามารถเปิดดำเนินการได้

อย่างไรก็ตามจุดอ่อนของคลองแม่ข่าก็คือการปฏิบัติงานขาดการปฏิบัติจริง ส่วนใหญ่พูดแต่ไม่ปฏิบัติ ปัญหาการบุกรุกคลองแม่ข่ามีมานานแต่ยังแก้ไขไม่ได้ มีการบุกรุกจนทำให้ลำน้ำสาขาหลายแห่งหายไป จิตสำนึกของสถานประกอบการและคนในพื้นที่ยังไม่มี มีการโยนขยะ สิ่งปฏิกูล ของเสียลงลำน้ำ มีการปลูกสร้างสิ่งที่กีดขวางทางน้ำ แม้ว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญ ชุมชนมีความตื่นตัวและอยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและเป็นโอกาสสำคัญแต่ต้องยอมรับว่าการเมืองเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินงานด้วย และการแก้ไขปัญหาการบุกรุกนั้น จริงๆ ชลประทานที่พื้นที่ว่าง ด้านหลังอบจ.เชียงใหม่เป็นพื้นที่ของโครงการชลประทานแม่แตง ที่สามารถให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปก่อสร้างแฟลตหรือที่อยู่อาศัยให้กับคนที่บุกรุกและย้ายออกได้ แต่ก็ยังไมมีใครที่จะมาดำเนินการ

“วันนี้ชลประทานได้ผันน้ำจากหลายแห่งมาเติมให้คลองแม่ข่าหลายครั้งแล้ว และกำลังจะซ่อมแซมกังหันชัยพัฒนาอีก 13 ตัวที่ขอมาจากกรมชลประทานเพื่อนำมาติดตั้งที่คลองแม่ข่า ส่วนแผนระยะยาวในการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนนั้นขณะนี้กำลังก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่งัดฯ-แม่แตง-แม่กวง ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2564 ซึ่งหากดำเนินการเสร็จก็จะกันน้ำจากแม่แตงมาช่วยแม่ข่าปีละ 40 ล้านลบ.ม.”นายเจนศักดิ์ กล่าวและว่า

ในวันนี้ที่ไปชี้แจงคณะกรรมาธิการฯนั้น ก็โดนท้วงติงเรื่องแผนแม่บทที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งกรรมาธิการฯบอกว่าเรื่องงบประมาณไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นแผนที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร จะขับเคลื่อนแบบไหน

ทางด้านผู้แทนของสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดทำแนวเขตพื้นที่คลองแม่ข่าว่า ในวันที่ 1 กันยายนนี้จะเชิญผู้ที่บุกรุกพื้นที่คลองแม่ข่าตั้งแต้แม่ริม-หางดง จำนวน 146 ราย โดยแยกเป็นมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำ 132 รายและไม่มีสิ่งปลูกสร้าง 14 รายมาพูดคุย อีกครั้งที่หอประชุม 80 พรรษา

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวสรุปในการประชุมร่วมกันครั้งนี้ว่า ขอให้ทางคณะกรรมการไปดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการและต้องมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน เพื่อนำมาเป็นแผนรายปีและจัดทำงบประมาณเพื่อที่จะฟื้นฟูคลองแม่ข่า เพราะขณะนี้แผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่ามีแต่กรอบกว้างๆ ยังไม่มีแผนปฏิบัตงาน แผนโครงการที่ชัดเจนของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบ หากมีแผนที่ชัดเจนและขับเคลื่อนตามแผนนั้นก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่าที่กำหนดกรอบไว้ 12 ปีเห็นผลเป็นรูปธรรมได้.

You may also like

บสย. จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา โครงการ “บสย. ร่วมใจ ทำดี เพื่อสังคม” ครั้งที่ 2 ร่วมซ่อมแซม ทาสี เครื่องเล่นเด็ก ปลูกต้นไม้ ณ สวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์

จำนวนผู้