ครบรอบ 4 ปี การต่อสู้โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย

ครบรอบ 4 ปี การต่อสู้โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย

ครบรอบ 4 ปี การต่อสู้โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ชุมชนและภาคประชาสังคมร่วมเรียกร้องรัฐบาลใหม่ปลดระวางถ่านหิน

เชียงใหม่, 24 กันยายน 2566 – กรีนพีซ ประเทศไทย, กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์, EarthRights International, ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น, กลุ่ม สม-ดุล เชียงใหม่, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงาน ‘Omkoi Coal or Home นิทรรศการ 4 ปี การต่อสู้และเสียงคนอมก๋อย’ ที่ลานหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทบทวนการต่อสู้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาของชาวอมก๋อย สร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อสาธารณชนถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากมีโครงการเหมืองถ่านหินขึ้นที่ตำบลกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเรียกร้องรัฐบาลใหม่ฟังเสียงชุมชน ยกเลิกโครงการเหมืองถ่านหินในทันที

ในงานมีการเปิดเผยข้อมูลจากรายงานวิจัย ‘อมก๋อย แหล่งอากาศดีที่อาจสิ้นสูญ: แผนที่ความเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศกรณีดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย’ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกรีนพีซ ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยนเรศวร [1] เป็นครั้งแรก โดยระบุว่าหากมีโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยเกิดขึ้น ชุมชนกะเบอะดินและชุมชนโดยรอบที่ดำรงชีวิตด้วยเกษตรกรรมแบบพึ่งพิงธรรมชาติจะเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงด้านมลพิษทางอากาศและน้ำที่อาจเกิดขึ้นต่อพื้นที่ทำเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม

รายงานดังกล่าวใช้แบบจำลอง AERMOD เพื่อประเมินการสะสมของมลพิษทางอากาศ และคาดการณ์ความเสี่ยงต่อสุขภาพว่าโครงการเหมืองถ่านหินจะทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่น PM2.5 และ PM10 ในบรรยากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังรุนแรงต่อผู้ปฏิบัติงานบริเวณโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย และชุมชนที่ใช้พื้นที่เกษตรกรรมรอบโครงการ นอกจากนี้ ที่ดินทำกินและพืชผลทางการเกษตรอาจมีผลกระทบจากไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ในระดับที่จะส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน และจากการตกสะสมของฝุ่นที่พาโลหะและกึ่งโลหะพิษ เช่น สารหนู (As) และ ตะกั่ว (Pb) มาตกสะสมในดิน รวมถึงความเสี่ยงการปนเปื้อนของปรอทในแหล่งน้ำหลักของชุมชนอมก๋อยอย่างห้วยผาขาวและห้วยอ่างขาง

“โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จากจำนวนวันที่มีค่าความเข้มข้นของ PM2.5 และ PM10 เกินค่าที่ยอมรับได้ถึง 200 วันใน 1 ปี และส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินพื้นที่เกษตรกรรมจากการตกสะสมของกรดจากไนโตรเจนออกไซด์ (NO2) รวมทั้งความเสี่ยงจากการบริโภคปลาปนเปื้อนปรอทอาจจะส่งผลกระทบต่อระดับสติปัญญาของเด็ก โครงการวิจัยนี้ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ครบถ้วนของการประเมินผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับที่ได้รับความเห็นชอบไปแล้ว ซึ่งไม่มีการประเมินความเสี่ยงจากสถานการณ์การปลดปล่อยมลพิษที่เป็นไปได้เหล่านี้ และยังไม่มีการประเมินสภาพการตามธรรมชาติของการปนเปื้อนโลหะและกึ่งโลหะพิษในพื้นที่เกษตรกรรม จึงไม่สามารถสร้างแผนที่ความเสี่ยงเพื่อเป็นข้อมูลให้ชุมชนและผู้อนุมัติอนุญาตมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ ทำให้ EIA ดังกล่าวไม่สามารถทำหน้าที่ทางวิชาการตามกฎหมายได้” รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าว

โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2530 ที่บริษัทเอกชนขอซื้อที่ดินในหมู่ 12 บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย ในปี 2543 มีการขอจดทะเบียนประทานบัตรทำเหมืองแร่ตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2543 หลังจากนั้นในปี 2553 ได้มีการศึกษาจัดทำรายงาน และนำเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในปี 2561 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ได้ปิดประกาศเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบว่าได้มีการขอประทานบัตรโครงการดังกล่าว ส่งผลให้ชุมชนกะเบอะดินตื่นตัวและเริ่มต่อสู้ปกป้องวิถีชีวิต ทรัพยากรและเศรษฐกิจของชุมชนที่พึ่งพาการมีอยู่ของระบบนิเวศที่หลากหลายของชนเผ่าพื้นเมืองจากการเข้ามาของโครงการเหมืองถ่านหิน รวมทั้งภาคประชาสังคมที่พร้อมใจกันปกป้องอมก๋อยเช่นกัน อาทิผู้คนที่ร่วมเปล่งเสียงเหล่านี้

“4 ปีที่ผ่านมา เราต่อสู้ตามสิทธิของตัวเองและสู้เพื่อชุมชนของเรา เราคิดว่าไม่ควรมีชุมชนไหนควรได้รับผลกระทบจากถ่านหินหรือการพัฒนาของรัฐที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทุนควรเข้าใจบริบทชุมชน วิถีชุมชน และคำนึงถึงตัวชุมชนมากๆ และไม่เอาเปรียบชาวบ้าน สำหรับ 4 ปีที่ผ่านมา เราแลกมาเยอะเลยค่ะ เราต้องมีบทบาทหน้าที่หรือภารกิจเพื่อจะหยุดยั้งการทำเหมืองแร่ถ่านหิน ทั้งการทำข้อมูล การสร้างความเข้าใจ การเดินทางไม่หยุดหย่อน และเสียโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตประจำวันของเราไป”

– พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนจากหมู่บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

“ผมอยากฝากเตือนว่าการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนรอบนี้  มันไม่ใช่แค่การเมืองเลือกตั้ง ชุมชนที่ลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าชาวบ้านรู้สิทธิของตัวเองมากขึ้น เขาพร้อมที่จะเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมาแชร์กระบวนการตัดสินใจของรัฐในทุกพื้นที่และเกิดขึ้นถี่ขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลต้องตระหนักถึงจุดนี้ว่าในทุกโครงการควรเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างโปร่งใส ให้ประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนจริงๆ ในทุกมิติถึงจะขับเคลื่อนประเทศไปได้ ถ้าปิดกั้นจะยิ่งนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม”

– สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

“การเดินหน้าโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย อาจเปลี่ยนเชียงใหม่จากเมืองที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ  ให้เป็นเมืองปลดปล่อยมลพิษแห่งใหม่  ทั้งสารพิษและโลหะหนักต่างๆ สู่อากาศ ผืนดิน และแหล่งน้ำ ส่งผลต่อต้นทุนชีวิตของทุกคน แต่รัฐบาลใหม่ยังคงเพิกเฉยในการประกาศปลดระวางถ่านหิน ทั้งที่มีการศึกษา[2] ชี้ว่าประเทศไทยสามารถเลิกใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าและเลิกนำเข้าไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินได้อย่างเร็วที่สุด ภายในปี 2570 หรืออย่างช้าที่สุดภายในปี 2580  เราจึงอยากเห็นการประกาศปลดระวางถ่านหิน ซึ่งการประกาศนี้จะสะท้อนเจตจำนงทางการเมืองที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดประชาธิปไตยทางพลังงานของรัฐบาล”

– พีรณัฐ  วัฒนเสน นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม กรีนพีซ ประเทศไทย

ภายในงาน ‘Omkoi Coal or Home นิทรรศการ 4 ปี การต่อสู้และเสียงคนอมก๋อย’ ยังมีกิจกรรมศิลปะการแสดง กิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรมของคนอมก๋อยผ่านภาพถ่าย ดนตรี ภาพยนตร์ ยำมะเขือส้มสูตรเด็ด การทอล์ค ‘ #ฮักเจียงใหม่บ่เอาถ่านหิน สิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วมที่หายไป’ และการแสดงจุดยืนไม่ต้องการเหมืองถ่านหินผ่านกิจกรรมสู่ขวัญ #ฟาดฝุ่น ประติมากรรมช้างเปรอะเปื้อนด้วยมลพิษสีดำ สัญลักษณ์ของแคมเปญ #ฮักเจียงใหม่บ่เอาถ่านหิน ซึ่งมุ่งขยายการรับรู้เรื่องราวการต่อสู้ของคนอมก๋อยมาสู่คนรักเชียงใหม่

นอกจากนี้ ชุมชนและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมจะร่วมจัดกิจกรรม “ชัยชนะจะสมปองต้องต่อสู้” 4 ปีแห่งการไม่สยบยอมให้อมก๋อยกลายเป็นเหมืองถ่านหิน ณ ที่ว่าการอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 28 กันยายนนี้

ขอบคุณภาพจากเพจกะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์

You may also like

กลุ่ม Chiang Mai Pride จับมือร่วมกับ Asset World Corporation (AWC) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงาน “Chiang Mai Colourful Pride Month 2024” เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และเชื่อมโยงการท่องเที่ยว

จำนวนผู้