การท่าฯเปิดเวทีรับฟังความเห็นศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนขยายสนามบินรองรับอีก 20 ปีข้างหน้า

การท่าฯเปิดเวทีรับฟังความเห็นศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนขยายสนามบินรองรับอีก 20 ปีข้างหน้า

ทอท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งแรก เพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหลังเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการที่เคยศึกษามาแล้ว ตามแผนพัฒนาสนามบินรองรับผู้โดยสารใน 20 ปีข้างหน้า ขณะที่ตัวแทนสนง.โยธาฯระบุมีตึกสูงอยู่ในเส้นทางบิน 3-4 แห่งหวั่นเกิดอันตราย แนะควรศึกษาการสร้างสนามบินแห่งใหม่จะได้ประโยชน์มากกว่า

ที่ห้องป่าสักหลวง โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว นาวาอากาศเอก วิสูธ จันทนา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 โครงการศึกษาและจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ : แผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่

นายจตุกร ศรีดิษฐ ผู้อำนวยการส่วนแผนจัดการสิ่งแวดล้อม บริษัท ท่าอากาศยานไทยหรือ ทอท. กล่าวว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 1 ซึ่งครอบคลุมในส่วนของส่วนราชการ และประชาชนในเขตอำเภอเมือง อำเภอสารภีและอำเภอหางดง ที่อยู่ภายในรัศมี 5 กิโลเมตรโดยรอบท่าอากาศยานเชียงใหม่ ที่อาจจะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้เนื่องจากทอท.ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และเพื่อให้ท่าอากาศยานมีความยั่งยืนในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศ ปริมาณผู้โดยสาร รวมทั้งกิจกรรมการบินที่เกิดขึ้นในอนาคตโดยแบ่งงานออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 แผนระยะสั้นและระยะกลาง(ปี 2559-2568) มีเป้าหมายรองรับการจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2573 รองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี และช่วงที่ 2 แผนพัฒนาระยะยาวปี 2569-2573 มีเป้าหมายเพื่อรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้ถึงปีพ.ศ.2578 รองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี

ผู้อำนวยการส่วนแผนจัดการสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า ที่จริงทอท.มีการศึกษา EIA ไปแล้วเมื่อปี 2548 แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงการจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ เพื่อทบทวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันแก้ไขให้สอดคล้องกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไป โดยจะมีการลงพื้นที่สำรวจผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงหลังสงกรานต์และจะเริ่มกระบวนการสำรวจผลกระทบทางเสียง โดยกำหนดเป็นโซนทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบในปัจจุบันและอนาคต

“การศึกษาจะใช้เวลา 6 เดือน-1 ปี และหลังประเมินผลกระทบต่างๆ แล้วจะกำหนดมาตรฐานในการป้องกันและแก้ไข ติดตาม ตรวจสอบตามข้อกังวลและห่วงใยของประชาชน และจัดเวทีเพื่อนำผลศึกษาที่ได้วิเคราะห์และประมวลผลอีกครั้งประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม 2560 ซึ่งขอบเขตการศึกษาขึ้นอยู่กับผลกระทบต่างๆ ซึ่งจะได้นำความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบไปปรับปรุงและเพิ่มมาตรการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต่อไป

ขณะที่ผู้ใหญ่บ้านช่างทอง ต.สุเทพ กล่าวว่า ไม่ได้รับเชิญหรือแจ้งเรื่องการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ แต่อยากทราบว่าทางทอท.จะมีการขยายรันเวย์ออกไปอีกมากแค่ไหนในแต่ละฝั่ง ขณะที่มีคำถามถึงการเยียวยาของประชาชนในเขตเส้นทางการบิน ซึ่งหลังคากระเบื้องตกแตกตลอดและในยามวิกาลเสียงจะดังมาก

นายวิทยา ครองทรัพย์ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านริมดอย ขอให้มีการศึกษาผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบของการขยายสนามบินด้วย และให้ระบุพื้นที่ความเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน รวมถึงสิทธิของประชาชนที่ได้รับผลกระทบและจะมีการเรียกร้องเยียวยาได้อย่างไร โดยขอให้ยกตัวอย่างการเยียวยาของสนามบินต่างๆ ที่เยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบด้วย

ด้านนายวีระยุทธ วงศ์คำใส สถาปนิก สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในความเห็นด้านเมืองมองว่าความหนาแน่นเขตเมืองมากเกินไปน่าจะมีทางเลือกในการใช้ระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงกับสนามบิน เพราะเมื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์ในสถานที่แม้จะเป็นภายในเขตสนามบินแต่ก็ล้นมาภายนอก โดยเฉพาะเรื่องการจราจรที่เป็นอัมพาตทั้งช่วงเช้าและเย็น และอนาคตหากเพิ่มจำนวนเที่ยวบินไปถึง 34 เที่ยวบิน ความหนาแน่น 2 นาทีต่อลำ ซึ่งถือว่าถี่มากและทำให้การคมนาคมขนส่งภายนอกสนามบินลำบาก และไม่สามารถแข่งขันกับสนามบินอื่นได้เป็นปัญหาต่อการใช้สนามบินในอนาคต

ในเรื่องความปลอดภัยต่อทางเดินอากาศ เพราะเวลาจะก่อสร้างอาคารจะมีการสอบถามเรื่องความสูง แต่ตอนนี้มีอาคารหลายแห่ง 3-4 ตึกที่สร้างสูงเกินกว่าที่จะเป็นเส้นทางบินและมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในการเดินอากาศ แต่เป็นโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นอาคารสุจิณโณ ตึกรอบๆ สูงเกินกว่ากฎหมายการเดินอากาศ และทุกเที่ยวบินก็เสี่ยง ถ้าเครื่องบินชนโรงพยาบาลจะเอาคนเจ็บไปไหน การท่าฯจะทำอย่างไร

การออกแบบในพื้นที่เขตเมืองควรจะกำหนดพื้นที่เปิดโล่ง อาคาร ที่จอดรถ อาคารต่างๆ ส่วนของหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาให้ชัดเจน เพราะใช้สนามบินร่วมกับทหารแต่การใช้พื้นที่ตอนนี้ก็ยังไม่สอดคล้อง และเมื่อมีการปรับปรุงและขยายได้ แต่หากมีการศึกษาและย้ายไปที่ใหม่น่าจะวางผังและวางระบบได้ดีกว่า เพราะกรมโยธาฯเคยพาการท่าฯไปดูพื้นที่เขตรัศมี 60 กิโลเมตรไปแล้ว ซึ่งสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเฃียงใหม่มีความเห็นว่าทอท.ควรจะไปศึกษาการสร้างสนามบินแห่งใหม่มากกว่าที่จะมาศึกษาเพื่อขยายและปรับปรุง เพราะการสร้างสนามบินแห่งใหม่ต้องใช้เวลาอีกนานแต่จะคุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากกว่าปรับปรุงหรือขยายที่มีอยู่เดิม.

You may also like

บสย. จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา โครงการ “บสย. ร่วมใจ ทำดี เพื่อสังคม” ครั้งที่ 2 ร่วมซ่อมแซม ทาสี เครื่องเล่นเด็ก ปลูกต้นไม้ ณ สวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์

จำนวนผู้