กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ชวนนักปั่นร่วมกิจกรรม “แรลลี่ 4 จังหวัด สัมผัสมนต์เสน่ห์ล้านนา” สัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรมและธรรมชาติ

กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ชวนนักปั่นร่วมกิจกรรม “แรลลี่ 4 จังหวัด สัมผัสมนต์เสน่ห์ล้านนา” สัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรมและธรรมชาติ

กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ชวนนักปั่นร่วมกิจกรรม “แรลลี่ 4 จังหวัด สัมผัสมนต์เสน่ห์ล้านนา” สัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรมและธรรมชาติ 2 วัน 1 คืน ใน 4 จังหวัด 4 สไตล์ 4 ชุมชน หวังโปรโมทการท่องเที่ยวโดยชุมชน สร้างรายได้ และความยั่งยืนตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560 ณ ลาน Event Hall ห้างสรรพสินค้าเมญ่า เชียงใหม่นายสำเริง ไชยเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยนายสุธน วิชัยรัตน์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ นายสวัสดิ์ มูลพาที ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำปาง และนายกระจ่าง ขอนดอก ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดกิจกรรม “แรลลี่ 4 จังหวัด สัมผัสมนต์เสน่ห์ล้านนา” ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ CBT การท่องเที่ยวโดยชุมชน

นายสำเริง ไชยเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community – Based Tourism / CBT) เป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยว ที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม โดยมีชุมชนเป็นผู้กำหนดทิศทาง บริหารจัดการและเป็นเจ้าของ ปัจจุบัน “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” กำลังได้รับความสนใจและดึงดูดใจนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น เพราะเปิดโอกาสให้ไปสัมผัสกับวิถีท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง ขณะเดียวกันยังสามารถสร้างอาชีพและรายได้ ให้กับชุมชนโดยตรง พร้อมๆ กับการเปลี่ยนให้ “ชาวบ้าน” จากที่เคยเป็นแต่ผู้เฝ้ามอง กลายมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดการท่องเที่ยว

กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๑ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปางและลำพูน มีศักยภาพและความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยว เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากมีสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยว ที่มีความหลากหลายและมีอัตลักษณ์ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก    ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร บูติครีสอร์ท และโฮมสเตย์ ที่มีความพร้อมและสามารถรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวโดยชุมชน

ดังนั้น กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๑ จึงได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ CBT การท่องเที่ยวโดยชุมชน” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ ที่มีการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนในวงกว้าง อันจะนำมาสู่การเดินทางมาเยือนของนักท่องเที่ยว สร้างรายได้แก่ชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน เพิ่มมูลค่า สร้างความสมดุลในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และปลุกจิตสำนึกรักบ้านเกิดและความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง

ด้านนายสุธน วิชัยรัตน์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของจังหวัดในภาคเหนือ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เนื่องจากความพร้อมของแหล่งท่องเที่ยว ทั้งทางด้านธรรมชาติอันงดงาม ด้านศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของชาวเชียงใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์น่าประทับใจ และความพรั่งพร้อมในเรื่องสถานที่พักและบริการด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ที่หลากหลาย เป็นที่ดึงดูดคนมาท่องเที่ยวนับล้านคนในแต่ละปี

สำหรับในกิจกรรม “แรลลี่ 4 จังหวัด สัมผัสมนต์เสน่ห์ล้านนา…แอ่วเหนือม่วนใจ๋ ชื่นชมวิถีไทย สุขใจวิถีล้านนา” ซึ่งเป็นการจัดแข่งขันกีฬาปั่นจักรยาน แรลลี่ 2 วัน 1 คืน ใน 4 จังหวัด 4 สไตล์ 4 ชุมชน นั้น จังหวัดเชียงใหม่จะเป็นสนามที่แรก กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 10-11 มิถุนายน 2560 โดยผู้เข้าร่วมจะได้สัมผัสกับชุมชนไทลื้อบ้านออนหลวย ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับชุมชนไทลื้อบ้านออนหลวยมีจุดน่าสนใจ คือ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ตั้งรกรากมานานมากกว่า 200 ปี ซึ่งอดีตอพยพมาจากสิบสองปันนามาตั้งรกรากที่ลุ่มแม่นํ้าออน เป็นชุมชนที่รักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวไทยลื้อ เช่น ภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์ การแต่งกาย การฟ้อน อาหาร และขนมพื้นบ้าน เช่น ข้าวแคบ และขนมเกลือ และมีสถานที่สำคัญ คือ วัดออนหลวย ซึ่งเล่ากันว่าขึ้นในปีพุทธศักราช 2350 วัดนี้มีหอไตรที่เก็บพระไตรปิฎก ซึ่งประกอบไปด้วย   ตู้เก็บพระไตรปิฎกที่ได้รับการแปลแล้ว และยังมีส่วนที่ไม่ได้รับการแปล หีบเก็บคัมภีร์พื้นเมืองจะใช้ในการสวดพิธีต่างๆ และตุงของคนไตลื้อ ซึ่งหอไตรนี้นอกจากภายในจะประกอบไปด้วยเรื่องราวของคนไตลื้อแล้ว การสร้างหอไตรลื้อนั้นยังมีการสร้างหลังคาของหอไตรลื้อที่แตกต่างกัน หลังคาของหอไตรลื้อมีคนสร้าง 4 คนคนละมุม จึงมีลวดลายที่สวยงามมากและแตกต่างกัน เป็นหอไตรลื้อที่มีศิลปะงดงามและเป็นสถานที่อนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ จึงถือได้ว่าที่นี่เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยววิถีชุมชนไทลื้อที่น่าไปเยือนเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่นายสวัสดิ์ มูลพาที ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ในอดีตนั้น หากนึกถึงการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดลำปาง หลายคนอาจจะไม่ค่อยทราบว่ามีอะไรน่าสนใจนอกจากรถม้าหรือชามตราไก่ เพราะถูกมองว่าเป็นเพียงเส้นทางผ่านไปยังจังหวัดในภาคเหนือ อย่างไรก็ตามหากมองกลับกัน การเป็นเมืองเล็กๆ ก็มีข้อดี คือ การไม่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงภายนอกมากนัก ส่งผลให้จังหวัดลำปางสามารถคงเอกลักษณ์ของความเป็นเมืองล้านนาโบราณที่มีเสน่ห์น่าค้นหาเอาไว้มากมาย ทั้งทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี สถาปัตยกรรมที่งดงาม อาคารบ้านเรือนเก่าแก่ และวิถีชีวิตของชาวเมืองที่ดำเนินไปแบบไม่รีบร้อน เร่งรัด ซึ่งหาได้ยากจากแหล่งท่องเที่ยวในเมืองใหญ่

ด้วยลักษณะเหล่านี้ ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำจังหวัดลำปางเข้ามาบรรจุภายใต้โครงการหลัก 1 ใน 12 จังหวัด “เมืองต้องห้าม…พลาด” ประจำปี 2558 และต่อมาในปี 2559 ได้ยกระดับโดยเชื่อมโยงกับจังหวัดลำพูน ในโครงการ 12 เมืองต้องห้าม…พลาด Plus ภายใต้แนวคิด ลำปาง-ลำพูน “เมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา”

นายกระจ่าง ขอนดอก ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เตรียมให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ไปสัมผัสกับบ้านเมืองปอน ตำบลเมืองปอน อำเภอขุนยวม ในวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2560

สำหรับบ้านเมืองปอนนั้น เป็น แหล่งวัฒนธรรมที่มีชีวิตของชุมชนชาวไทยใหญ่ ตั้งอยู่ในหุบเขาที่แวดล้อมด้วยทุ่งนาและป่าเขาเขียวขจี ห่างจากอำเภอขุนยวมประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นชุมชนชาวไทยใหญ่ที่ยังคงอนุรักษ์ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวิถีชีวิตในแบบเดิมๆ ไว้อย่างเหนียวแน่น 

ในบ้านเมืองปอน มีลำน้ำปอนซึ่งเป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงผ่านกลางแอ่งทางด้านทิศตะวันออกของชุมชน โดยจุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมรอบหมู่บ้าน       เพื่อชื่นชมกับความงามของสถาปัตยกรรมบ้านไม้ หลังคามุงด้วยใบตองตึงซึ่งเป็นทรัพยากรนำมาจากป่า อีกทั้งชาวไทใหญ่ของที่นี่ยังใช้พื้นที่สวนรอบบ้าน เป็นที่ปลูกผักกินได้ สมุนไพรและเลี้ยงสัตว์ มีการประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน ปลูกพืชผักในที่นายามเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว เช่น หอม กระเทียมและถั่วเหลือง เป็นต้น

หากนักท่องเที่ยวได้ไปเยือนบ้านเมืองปอน จะได้เยี่ยมชมบ้านภูมิปัญญา เรียนรู้งานหัตถกรรม ด้วยการลงมือทำ อาทิ การจักสาน การทำเชือกหมวก และการตอกลาย โดยบ้านเมืองปอนมีการเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถ เข้าไปเที่ยวทั้งแบบไปเช้าเย็นกลับหรือพักแบบโฮมสเตย์ร่วมกับเจ้าของบ้านเพื่อเรียนรู้วิถีชุมชน

เอกลักษณ์สำคัญหนึ่งของคนไทใหญ่เมืองปอน คือ การแต่งกายที่ยังคงเป็นเอกลักษณ์ เรียกว่า “เสื้อไต” ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ มีการปรับเปลี่ยนรูปทรงให้ทันกับยุคสมัย โดยผู้หญิงชาวเมืองปอนแทบทุกหลังคาเรือนจะมีความสามารถในด้านการทำเสื้อไต เช่น การเข้าตัว การฉลุลายเสื้อและการเย็บติดกระดุม

สิ่งที่ประทับใจสำหรับผู้มาเยือนอีกอย่างหนึ่ง คือ โรงเรียนประจำหมู่บ้านในท้องถิ่นซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ สาเหตุที่ประดิษฐานอยู่ตรงนี้ก็เพราะเหตุว่าโรงเรียนนี้เคยเป็นวัดมาก่อน วัดเมืองปอนในปัจจุบันถือเป็นวัดรูปแบบไทยใหญ่ที่สวยที่สุดและได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดวัดหนึ่งในแม่ฮ่องสอน

เมืองปอน ในฐานะแหล่งวัฒนธรรมที่มีชีวิตของชุมชนชาวไทยใหญ่ ได้รับการยอมรับจากหลายองค์กร เช่น ในปี 2552 สำนักงานโยธาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มอบเกียรติบัตรสถานะพิเศษให้ชุมชนเมืองปอน เป็นหมู่บ้านศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประเพณี และได้ช่วยพัฒนาแผนแม่บทเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาร่วมกับตำบลอีกด้วย

ทั้งนี้ภายใต้โครงการดังกล่าว กำหนดจัดกิจกรรม “แรลลี่ 4 จังหวัด สัมผัสมนต์เสน่ห์ล้านนา…แอ่วเหนือม่วนใจ๋ ชื่นชมวิถีไทย สุขใจวิถีล้านนา” ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาปั่นจักรยานแรลลี่ 2 วัน 1 คืน ใน 4 จังหวัด 4 สไตล์ 4 ชุมชน ประกอบด้วย สนามที่ 1 ชุมชนไทลื้อบ้านออนหลวย ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 10-11 มิถุนายน 2560 สนามที่ 2 บ้านธิ ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ในวันที่ 17-18 มิถุนายน 2560 สนามที่ 3 บ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ในวันที่ 24-25 มิถุนายน 2560 และสนามที่ 4 บ้านเมืองปอน ตำบลเมืองปอน อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2560

โดยการปั่นจักรยานแรลลี่ในแต่ละสนาม นอกจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้สัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยวและวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างลึกซึ้งด้วยการเข้าพักโฮมสเตย์ในชุมชนแล้ว ยังจะได้สนุกกับกิจกรรมและใกล้ชิดกับดารานักแสดงที่เข้าร่วมปั่น ได้แก่ น้ำ รพีภัทร / จิ๊บ ปกฉัตร / โบวี่ อัฐมา และฟรอยด์ ณัฎฐพงษ์ อีกด้วยสำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ สามารถสมัครได้ที่ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาใน 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปางและลำพูน  หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 053-711-805 และ 086-882-5110 นอกจากนั้นยังติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Fan page : “แอ่วเหนือ ม่วนใจ”.

You may also like

บสย. จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา โครงการ “บสย. ร่วมใจ ทำดี เพื่อสังคม” ครั้งที่ 2 ร่วมซ่อมแซม ทาสี เครื่องเล่นเด็ก ปลูกต้นไม้ ณ สวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์

จำนวนผู้