ไฟเขียวสร้างบ่อพลวงเก็บน้ำไว้ทำการเกษตรในพื้นที่ผ่อนผันทำกิน เชียงใหม่เริ่มจัดการเชื้อเพลิง 1 พ.ค.จากอภ.โซนใต้

ไฟเขียวสร้างบ่อพลวงเก็บน้ำไว้ทำการเกษตรในพื้นที่ผ่อนผันทำกิน เชียงใหม่เริ่มจัดการเชื้อเพลิง 1 พ.ค.จากอภ.โซนใต้

กระทรวงทรัพย์เปิดไฟเขียวให้สร้างบ่อพลวงเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรในพื้นที่ผ่อนผันทำกิน หวังลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว สร้างชุมชนที่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้หันกลับมาปกป้อง รักษา ดูแล และเป็นเจ้าของป่าอย่างเต็มตัว รองผู้ว่าฯเปิดแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงดีเดย์ 1 พ.ค.เริ่มจากอำเภอทางโซนใต้

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 เวลา 09.00 น. ที่ศูนย์บัญชาการป้องกันไฟป่าและฝุ่นpm2.5 จังหวัดเชียงใหม่  นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมประชุมกับคณะทำงานศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามและเร่งแก้ไขไฟป่าอย่างต่อเนื่อง และประชุมผ่านระบบ VDO Conference กับอำเภอที่มีจุดความร้อนมากที่สุดในเช้าวันนี้ จำนวน 6 อำเภอ ซึ่งตรวจพบจุดความร้อนในเช้าวันนี้ จำนวน 43 จุด อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 19 จุด ป่าอนุรักษ์ 21 จุด และเขต สปก. 3 จุด เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้เล็กน้อย

โดยพบที่อำเภอแม่แจ่มมากที่สุด จำนวน 11 จุด รองลงมาคืออำเภอเชียงดาว 9 จุด อำเภอสะเมิง 6 จุด อำเภอกัลยาณิวัฒนา ฝาง และหางดง อำเภอละ 3 จุด โดยอำเภอเชียงดาวได้ร้องขอสนับสนุนอากาศยานเพื่อช่วยบินโปรยน้ำในพื้นที่ภูเขาสูง กำลังภาคพื้นไม่สามารถเข้าไปได้ จึงได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ KA 32 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าไปช่วยในภารกิจดับไฟป่าแล้ว ในส่วนอำเภอหางดง ขอให้เจ้าหน้าที่อุทยาน ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เข้าตรวจสอบและติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่ใกล้ตัวเมือง เกรงว่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในตัวเมือง

จากนั้นนายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผวจ.เชียงใหม่ ได้ประชุมผ่านระบบ VDO Conference กับ 25 อำเภอ เพื่อหารือเรื่องการบริหารจัดการเชื้อเพลิงหลังหมดช่วงห้ามเผาเด็ดขาด ในวันที่ 30 เมษายนนี้ โดยนายธนาวุฒิ ปัญจพรอุดมลาภ ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์นี้จะมีพายุฝนฟ้าคะนองทางโซนเหนือของประเทศ อำเภอโซนเหนือก็จะมีฝนตกลงมาบ้างในบางพื้นที่ แล้วจะหายไป จนถึงช่วงกลางเดือนพฤษภาคมก็จะเริ่มกลับมาตกอีกครั้ง แต่จะเป็นการตกเป็นหย่อมเล็กๆ ไม่ได้ตกทั่วทั้งจังหวัด

รองผวจ.เชียงใหม่ ได้กำชับนายอำเภอทุกพื้นที่เรื่องการวางแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยการเผา ซึ่งจะเริ่มจากอำเภอทางโซนใต้ที่มีสภาพแห้งแล้งก่อน ตั้งแต่ 1-15 พ.ค.และกำหนดวันเวลา ช่วงเช้า 09.00 – 12.00 น. และช่วงบ่าย 14.00 – 17.00 น. เท่านั้น และต้องปฏิบัติตาม 8 มาตรการที่ทางจังหวัดวางไว้ ควบคู่ไปกับการตรวจสอบสภาพอากาศ เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าคุณภาพอากาศ pm2.5 และสุขภาพของประชาชน ซึ่งแนวทางของจังหวัดเชียงใหม่จะเน้นให้ทุกอำเภอบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยวิธีการอื่นมากกว่าการเผา เช่น การทำปุ๋ยหมัก การอัดใบไม้เป็นก้อนแล้วส่งขายตามโรงงาน ซึ่งจะเป็นวิธีที่สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน

“ขอให้ใช้วิธีการเผาเป็นลำดับสุดท้าย หากอำเภอใดต้องการจะไม่เผา ทางจังหวัดจะส่งหน่วยงานเกษตร ปศุสัตว์ ประมง ตลอดจนเจ้าหน้าที่วิชาการเกษตรต่างๆ เข้าไปช่วยอบรมให้ความรู้และแนะนำวิธีที่จะสร้างประโยชน์มากกว่าการเผาเหมือนในอดีต ซึ่งขณะนี้ได้ให้แต่ละอำเภอส่งรายชื่อเจ้าหน้าที่ ที่จะเข้าไปควบคุมการเผา เพื่อจะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดควบคุมดูแลให้จุดที่จะทำการเผา โดยขอให้ส่งมายังจังหวัดรวบรวมแล้วเสร็จภายในวันนี้ แล้วพรุ่งนี้จะส่งแผนกลับไปให้อำเภอตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง เพื่อจัดทำประกาศจังหวัดในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงต่อไป”นายคมสัน กล่าวและชี้แจงอีกว่า

การบริหารจัดการเชื้อเพลิงจะไล่จากโซนใต้ทางทางโซนเหนือ อย่างไรก็ตามสำหรับบางพื้นที่ที่มีวัสดุทางการเกษตรเช่นตอซังข้าวโพดที่รอกำจัดนั่น จะนำนวัตกรรมใหม่ที่สามารถเอาไปทำปุ๋ยได้ที่แม่แจ่มและดอยหล่อ ซึ่งจะให้ได้ทั้งถ่านซิลีคอนและคาร์บอนด้วย และจากการประชุมกลุ่มย่อยระหว่างป่าไม้และอ.เชียงดาวซึ่งมีการเสนอให้จัดหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชยืนต้นแทนพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งจังหวัดได้เสนอขอทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ผ่อนคลายมาตรการ

ล่าสุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะร่วมกันพัฒนาและสร้างแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง หรือที่เรียกว่าบ่อพลวงสันเขา ทำให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยนำเอารูปแบบของอำเภอแม่แจ่ม หรือ“แม่แจ่มโมเดล” มาเป็นต้นแบบ ซึ่งกรมป่าไม้ได้ผ่อนคลายมาตรา 19 โดยให้ทำโครงการร่วมกันในพื้นที่ที่ได้รับการผ่อนผัน แต่จะเป็นบ่อพลวงขนาด 10×10 ลึก 50 เมตรดาดคอนกรีตใช้งบประมาณ 5 หมื่นบาทต่อ 1 บ่อซึ่งจะระดมจิตอาสาในการดำเนินการ และทางหัวหน้าผู้ตรวจกระทรวงทรัพย์ฯบอกว่าที่โครงการร้อยใจรักษ์ อ.แม่อายทำบ่อพลวงได้ถูกกว่าโดยใช้ซีเมนต์แทน ขอฝากให้นายอำเภอทั้ง 25 แห่งไปพิจารณา เพราะบ่อพลวงนี้นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งแล้วยังแก้ไขpm2.5 โดยให้ลดปลูกพืชเชิงเดี่ยวแต่ส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ พืชผักที่สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้ประชาชนทดแทนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งรัฐบาลต้องการสร้างชุมชนที่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้หันกลับมาปกป้อง รักษา ดูแล และเป็นเจ้าของป่าอย่างเต็มตัว ซึ่งจะเป็นแนวทางลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีชาวบ้านอาศัยและทำกินอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อให้แผนการเพิ่มพื้นที่ป่าและสีเขียวของภาครัฐประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน.

You may also like

SUN รุกตลาดต่างประเทศ มุ่ง Go West ร่วมงาน Americas Food & Beverage Show & Conference 2024

จำนวนผู้