ทส. ถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2562 มุ่งเน้นความร่วมมือ แก้ปัญหาจากต้นเหตุ เปลี่ยนกลุ่มคนจุดไฟเผาป่าให้เป็นเครือข่าย
วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลและถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2562 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยการดำเนินงานที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยหน่วยงานหลักได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา และได้บูรณาการหน่วยงานภายใต้กลไกของพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และการอำนวยการสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดตามระบบ Single Command ให้ทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเข้มข้น ทั้งการลาดตระเวนป้องปราม การตรวจหาไฟป่าและการเผา การระดมสรรพกำลัง อุปกรณ์เครื่องมือ จากกองทัพภาคที่ 3 ตำรวจ เครือข่ายอาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเข้าดับไฟก่อนเกิดการลุกลาม และบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ติดตามเฝ้าระวังและรายงานข้อมูล เพื่อประกอบการวางแผนรับมือปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างต่อเนื่องและทันสถานการณ์ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาทุกภาคส่วนได้ร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่
นายวิจารย์ กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือปีที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม ปี 2562 ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) พบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุด 394 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (มาตรฐานต้องไม่เกิน 120 มคก./ลบ.ม.) โดยสูงเกินมาตรฐานรวมทั้งสิ้น 59 วัน ซึ่งจังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดที่มีจำนวนวันที่ PM10 เกินค่ามาตรฐานสูงสุด จำนวน 47 วัน ขณะที่ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) พบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุด 353 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (มาตรฐานต้องไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมีจำนวนวันที่ PM2.5 สูงเกินมาตรฐานรวมทั้งสิ้น 112 วัน โดยจังหวัดลำปาง มีจำนวนวันที่ PM2.5เกินค่ามาตรฐานสูงสุด จำนวน 82 วัน
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่าสถานการณ์ในภาพรวมมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจากสองปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้สถานการณ์มีความรุนแรง คือ ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน ที่ทำให้พื้นที่ภาคเหนือเกิดความแห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าปกติ ทำให้เกิดไฟได้ง่ายและลุกลามอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่าทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดับไฟได้ยาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ภูเขาลาดชัน ดังนั้น การประชุมในวันนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการถอดบทเรียนถึงการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคในปีที่ผ่านมา โดยจะมีการระดมความคิดเห็นในด้านการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมแผนการดำเนินงานที่เหมาะสมสำหรับการรับมือปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ในปี 2563 ต่อไป.