ผอ.ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานเผยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงปัญหาภัยแล้งไม่มีน้ำในพื้นที่ลุ่ม รับสั่งให้แก้ปัญหาป่าต้นน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้น ป้องกันไฟป่า ทรงรับสั่งขั้นตอนสั่งการต้องชัดเจน ให้ผู้ว่าฯ 8 จังหวัดไปทำแผนและกิจกรรมให้ชัดเจนเพื่อสะดวกในการตรวจสอบและประเมินผล ชี้ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของป่า สร้างทัศนคติที่ดีต่อป่าแม้ต้องเปลี่ยนรูปแบบการดำรงชีพ ย้ำความร่วมมือของประชาชนให้ปลูกป่าในใจคน ให้รักหวงแหนทรัพยากรป่าไม้
เมื่อวันที่ 23 ก.ค.63 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 7 รอบพระชนมพรรษาจังหวัดเชียงใหม่ พลเรือเอกปวิตร รุจิเทศ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน เป็นประธานการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด พร้อมมอบนโยบายการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า ซึ่งศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนจัดทำ “โครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า”ขึ้น โดยครอบคลุมถึงป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน ป่าพรุและที่ดินของรัฐประเภทอื่นๆ รวมทั้งการฝึกอบรม “จิตอาสา”เพื่อร่วมแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน โดยมีเป้าหมายรวมกันจำนวนไม่ต่ำกว่า 2.68 ล้านไร่ใน 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานครภายในปี พ.ศ.2563-2570
พลเรือเอกปวิตร รุจิเทศ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน กล่าวว่า วันนี้ศูนย์อำนวยการใหญ่รู้สึกเป็นเกียรติที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหมได้จัดโครงการอบรมคณะผู้บริหารในระดับต่างๆ ของแต่ละจังหวัด เพื่อที่จะให้มีการดำเนินการตามโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่าเฉลิมพระเกียรติที่จะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้(24 ก.ค.63) ซึ่งจะเป็นการเริ่มงานปลูกป่าพร้อมกันทั่วประเทศ ระยะเวลาโครงการอย่างที่ได้มีการรายงานและมีการเรียนให้ทราบแล้ว การดำเนินการต่างๆ จะเป็นไปไม่ได้ ถ้าขาดความร่วมมือของท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะท่านผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด
“ก่อนอื่นผมขออัญเชิญพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้พวกท่านได้รับทราบ พระองค์ท่านทรงเป็นห่วงจากปัญหาภัยแล้งที่ผ่านมาในปีนี้ พระองค์ท่านรับสั่งว่าภัยแล้งน้ำในที่ลุ่มไม่มี ต้องไปดูแก้ปัญหาที่ป่าต้นน้ำ ป่าต้นน้ำของเราเป็นอย่างไร ต้องไปบำรุง ต้องไปดูแล ให้เขาชุมชื้นให้สามารถที่จะเก็บกักน้ำให้เรามาใช้ได้ อันนี้ก็เลยเป็นที่มาของการดำเนินการในโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่าในครั้งนี้ และที่ผ่านมาป่าไม้ของเราจะถูกทำลายไปมาก โดยเฉพาะไฟป่า ส่งปัญหาให้เกิดปัญหาในเรื่องของฝุ่น หมอกควัน ทุกท่านทราบว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเป็นมาเป็นระยะเวลานาน แต่ว่าการดำเนินการของเรา อาจจะหน่วยงานแต่ละหน่วยงานอาจจะทำ แต่ละส่วน “พลเรือเอกปวิตร กล่าวและว่า
ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาในคราวนี้ ตั้งใจว่าที่จะเป็นผู้ประสานการดำเนินงานในแต่ละส่วน ว่าแต่ละส่วนมีปัญหาติดขัดเรื่องใดที่เกี่ยวกับการดำเนินโครงการปลูกป่าและการดับไฟป่า เราก็จะมาช่วยกันแก้ปัญหา อย่างเช่นปัญหาหัวโล้นมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาร่วมดำเนินการ และก็มีหลายหน่วยงานที่ดำเนินการไปแล้ว แต่ก็มีหลายหน่วยงานที่ต้องการจะเข้ามาดำเนินการ แต่ยังไม่ทราบจะเริ่มยังไง
“ในโอกาสนี้ เราจะร่วมดำเนินการด้วยกันเรามีแผนงานโครงการต่างๆ ที่จะให้พวกท่านได้เข้าร่วมอยู่แล้ว อีกประการหนึ่งที่พระองค์ท่านรับสั่งก็คือในเรื่องของขั้นตอนการต่างๆ การสั่งการต้องชัดเจนต้องมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายและผู้รับผิดชอบ อันนี้สำคัญ ในการสั่งการและการกำหนดพื้นที่และผู้รับผิดชอบถ้าถ้าเผื่อเราขาดอย่างใด อย่างหนึ่ง การดำเนินการอาจจะไม่สำเร็จผล เป้าหมายของการดำเนินการ 8 ปี ไม่ใช่ระยะเวลาที่ยาวนานเลย 8 ปีแป๊บเดียว เราต้องการให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวในประเทศร้อยละ 55 ตามป่าต่างๆ ป่าอนุรักษ์ ป่าอะไรต่างๆ อย่างที่เราต้องการ 35% ป่าชุมชน 5% ป่าเศรษฐกิจ 15% เป้าหมายต่างๆเหล่านี้ เราทำอย่างไรถึงจะให้บรรลุถึงเป้าหมายนั้นได้ เป็นที่เป็นเรื่องที่พวกเราต้องร่วมดำเนินการกัน”ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน กล่าวและชี้แจงอีกว่า
แผนงานผมคิดว่าทุกท่านอาจจะมีในใจอยู่แล้วว่าเราจะดำเนินการอย่างไร เพราะว่าที่กระทรวงทรัพยากรฯได้บอกแล้วว่า แต่ละจังหวัดต้องการพื้นที่ป่าจำนวนเท่าไหร่ กี่ไร่ และอย่างไรก็ตามเพื่อให้มีการตรวจและประเมินผล ผมขอความกรุณาให้แต่ละจังหวัดได้จัดทำแผนงานของแต่ละจังหวัด ในเรื่องของการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า เพื่อมารวมกันไว้ที่ทั้งกระทรวงทรัพย์และที่ศูนย์อำนวยการใหญ่ฯเพื่อที่จะได้มีการดำเนินการกิจกรรมจิตอาสาพร้อมกันไปด้วย
ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนั้นยังต้องมีการกำหนดพื้นที่ผู้รับผิดชอบ การจัดเตรียมอุปกรณ์ กำลังพลและเครื่องมือต่างๆ ให้พร้อม จัดเตรียมวิธีการ เราจะปลูกและแก้ปัญหาป่าต้นน้ำจะทำอย่างไร การแก้ปัญหาเขาหัวโล้นมีหลายรูปแบบ มีหลายโมเดลมาก จะทำอย่างไร ความร่วมมือของหลายหน่วยงานต่างๆ เรามี 25 หน่วยงาน 12 องค์กรพัฒนาเอกชน มาร่วมมือ จะทำอย่างไรใช้ประโยชน์และการสนับสนุนจากหน่วยงานในพื้นที่อย่างไรให้แต่ละพื้นที่เขียนแผนงานและโครงการมา แต่ละจังหวัดต้องการให้เห็นป่าในจังหวัดเป็นอย่างไรให้เขียนแผนงานมา สำหรับจังหวัดที่ไม่มีป่า ให้เขียนแผนมาว่าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างไรโดยดำเนินการร่วมในโครงการนี้ได้ ไม่ใช่ไม่มีป่าไม่ทำ
อีกประการคือการประชาสัมพันธ์ ซึ่งการประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง เราต้องการให้ประชาชนได้ตระหนักรู้นะครับถึงความสำคัญของป่า สร้างทัศนคติที่ดีต่อป่า อาจจะต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบการดำรงชีวิตบ้าง แต่ว่าถ้าเปลี่ยนแล้วให้เห็นว่าสามารถที่จะใช้งานหรือว่าจะมีอาชีพ มีรายได้จากการที่เปลี่ยนนั้น เช่นเคยปลูกข้าวโพดและทำไร่เลื่อนลอย แต่ว่าถ้าเผื่อโครงการหลวง หรือตามที่สถาบันพัฒนาวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้มีการลงพื้นที่ก็ปรับเปลี่ยนเขาหัวโล้นมาเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงกว่าปลูกไร่เลื่อนลอยที่เขาเคยทำมา ก็จะแปรสภาพของป่าเขาหัวโล้นให้เป็นพื้นที่ป่าสีเขียวได้อย่างนี้เป็นต้น
“ข้อสำคัญของโครงการนี้ ผมคิดว่าอยู่ที่ประชาชนที่อยู่ในป่า ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนได้มีป่าอยู่ในใจหรือการปลูกป่าในใจคน ทำอย่างไรให้รักหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ของเรา เหมือนกับที่พวกท่านในที่นี้รัก ทำอย่างไรที่จะให้เขาสามารถที่จะฟื้นฟูหรือช่วยเราจะเป็นหูเป็นตา เพื่อไม่ให้ใครมาทำร้ายป่าที่รักของพวกเรา ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญเพราะ ถ้าเราได้ความร่วมมือของประชาชนแล้ว เดี๋ยวป่าและพื้นที่สีเขียวก็จะตามมาเอง”พลเรือเอกปวิตร กล่าวและว่า
สำหรับกิจกรรมจิตอาสาที่เกี่ยวข้อง ผมอยากจะขอเรียนว่าในเรื่องของจิตอาสาพัฒนา ในเรื่องของจิตอาสาภัยพิบัติก็ดี ขอให้แต่ละจังหวัดกำหนดกิจกรรมออกมาด้วยว่าในแต่ละจังหวัด เอากิจกรรมการปลูกป่าและป้องกันไฟป่าเป็นกิจกรรมหลักของจิตอาสาของแต่ละจังหวัด จะทำอย่างไรได้บ้าง คือเราพัฒนาแม่น้ำลำคลองมาเยอะแล้วในเรื่องของในเมืองแล้ว แต่ว่าเราก็ต้องทำต่อไม่ใช่ว่าไม่ทำ แต่ครั้งนี้ให้เราเพิ่มในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือการปลูกป่า
“การดูแลป่าเมื่อไปปลูกแล้ว ก็ต้องมีการไปดูแล เราต้องขึ้นไปดูให้เขาเติบโต เรามีเครื่องช่วยหลายอย่างทั้งระบบจีพีเอส ทั้งระบบแผนที่ ทั้งระบบมี Platform Application ที่จะสามารถบอกได้ว่าเมื่อท่านปลูกลงไปตรงนี้และลองตรงนี้พันธุ์อะไรเมื่อไหร่ โดยใครปลูก ก็จะขึ้นมาใน Platform อันนี้ รวมกันทั่วประเทศก็จะมีข้อมูลของป่า แล้วก็สามารถตรวจสอบได้ว่าในเขตหรือว่าในพื้นที่ที่เรากำหนดไว้ที่สำหรับปลูกป่านั้น ได้มีการปลูกแล้วหรือยัง ถ้ายังก็ร่วมกับระบบตรวจสอบของเราที่จะต้องมีการกำหนดเข้าไปดำเนินการ เพื่อให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วง”
ผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน กล่าวด้วยว่า สำหรับในเรื่องของงบประมาณดำเนินการ ซึ่งคงจะเป็นปัญหาคำถามของทุกหน่วยงาน ก็ขอให้พิจารณาปรับใช้ ตามที่แต่ละหน่วยงานได้มีสำหรับโครงการในเรื่องต่างๆ ในเรื่องเหล่านี้ ในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาจังหวัด ส่วนเรื่องของกล้าไม้สามารถที่จะติดต่อขอรับได้ที่กรมอุทยานฯ เนื่องจากว่าเราทำระยะเวลา 8 ปี หากจะต้องมีการดำเนินการจัดทำหากล้าไม้ต่อเนื่อง ทางอธิบดีกรมอุทยานฯก็บอกว่าสบายสามารถที่ดำเนินการจัดหาพันธุ์กล้าไม้ให้ได้ในตรงนี้ไม่มีปัญหาปัญหา ก็อยู่ที่ว่าเราจะพาจิตอาสาขึ้นไปทำการปลูกป่า ไปสร้างฝาย ไปสร้างความชุ่มชื้น ให้กับป่าได้อย่างไร ให้มันเป็นหน้าที่ที่ต้องรบกวนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจิตอาสาจังหวัด จัดทำแผนงานโครงการเพื่อให้โครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่าเฉลิมพระเกียรติในคราวนี้สำเร็จผล ที่เราตั้งเป้าประสงค์เอาไว้.