“โคมไฟ”ในงานประเพณียี่เป็งหรือลอยกระทงของเชียงใหม่ ยังเป็นประเด็นที่หลากหลายมุมมอง แม้กระทั่งในไลน์กลุ่มสื่อมวลชนกับส่วนราชการ และในสังคมออนไลน์ แต่สิ่งที่สื่อมวลชนหลายคนสะท้อนและไม่เห็นด้วยก็น่ารับฟัง และน่าคิด ทั้งเรื่องของความปลอดภัย และการฉกฉวยโอกาสทางการท่องเที่ยว เอาเรื่องของประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อไปเป็นเชิงพาณิชย์มากมายเสียจนมองไม่เห็นคุณค่าของรากเหง้าทางวัฒนธรรมล้านนาที่แท้จริง
ผู้เขียนไม่สามารถอ้างอิงหรือการันตีได้ว่า การปล่อยโคมเป็นการปล่อยทุกข์ ปล่อยเคราะห์ ปล่อยโศก แม้จะผ่านร้อน ผ่านหนาวตั้งแต่วัยเยาว์มาจนถึงปัจจุบัน ถ้าเป็นช่วงประเพณียี่เป็งหรือลอยกระทง จะติดสอยห้อยตามพ่อแม่และพี่ๆ ไปวัดในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 12 แม่จะถือสลุงใส่ดอก และเทียน ส่วนพ่อก็จะมีพานของพ่อ ลูกๆ ก็จะมีจานสังกะสีใส่ผางประทีป ส่วนหนึ่งเอาไปจุดรอบพระธาตุ ไหว้พระฟังธรรมแล้วก็กลับมาต๋ามผางประทีปที่บ้าน
สมัยก่อนไม่ได้จุดกันมากมาย เพราะเงินก็หายากแม้ราคาจะถูกกว่าปัจจุบันแต่ก็แพงในสมัยนั้น ตามบ้านก็มักจะจุดที่ศาลพระภูมิ หิ้งพระ ธรณีประตู น้ำบ่อ เตาไฟ ซึ่งแต่ละจุดก็มีความหมาย มีที่มาของความเชื่อและศรัทธา ตอนกลางวันเช้าๆ ก็ใส่บาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมแล้วก็มีการปล่อยโคมควัน ซึ่งบางวัดก็มี บางวัดก็ไม่มีขึ้นอยู่กับแรงศรัทธา เพราะแต่ละบ้านจะต้องเอากระดาษว่าวไปรวมกัน ต้มกาวลาเท็กซ์เอามาต่อๆ กัน พวกผู้ชายก็จะเหลาไม้ทำโคม ทำไส้ พระเณรก็มีส่วนช่วย โดยเฉพาะการฮมควันต้องใช้เวลากว่าโคมจะตั้งตัวและมีแรงที่จะลอยขึ้นฟ้า ยังจำได้ว่าเณรจะเอาผ้านุ่งพันแบบโจงกระเบนใช้ถาดสังกะสีพัดควันจากผ้าชุปน้ำมันที่จุดไฟให้ควันเข้าไปในปล่อง(ปาก)โคม แต่พอขึ้นแล้วจะสูงปรี๊ดดดเลยทีเดียว
สำหรับโคมลอย(ควัน)ยอมรับว่าเห็นมาตั้งแต่เด็ก แต่โคมไฟนี่มาเห็นจริงๆ และมากเพิ่มทวีคูณก็ตอนที่การท่องเที่ยวมันบูมนี่แหละ จำได้ว่าน่าจะมาจาก การเอาเรื่องการปล่อยโคมไฟ ไปเป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา โดยเฉพาะที่ธุดงคสถาน อ.สันทราย ผู้เขียนเองก็มารู้จักหลังจากทำงานแวดวงสื่อมวลชนมาได้เป็นสิบปี ถึงจะมีชื่อนี้ผุดขึ้นมา การเผยแพร่ภาพโคมไฟจำนวนนับพันดวง และยังเอาไปบรรจุในปฏิทินการท่องเที่ยวไปทั่วโลก ฝรั่งมังค่าก็อยากจะมาปล่อยโคมไฟ เห็นเป็นเรื่องสนุกสนาน สวยงาม มาระยะหลังๆ ได้ยินข่าวมาว่ามีการขายบัตรสำหรับผู้ที่จะเข้าไปปล่อยโคมไฟจากหลักร้อย เพิ่มเป็นหลักพัน ปัจจุบันทะลุหมื่นกันทีเดียว
อีกส่วนหนึ่งหลังจากที่หนังหรือภาพยนตร์เรื่องลอสต์ อิน ไทยแลนด์ (Lost in Thailand) ที่ดึงเอาคนจีนหลั่งไหลเข้ามาเชียงใหม่ มีคนเอาโคมไฟไปเป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยวจีนได้ปล่อย ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมโดยไม่คำนึงถึงช่วงเทศกาล ประเพณี จนกระทั่งมีคำสั่งคสช.หรือคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 22 ออกมาครอบคลุมทั้งเรื่องพลุ ตะไล โคมไฟ โคมลอยต่างๆ และนำไปสู่ที่มาของการออกประกาศจังหวัด ซึ่งให้สอดรับกับวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละพื้นที่
เมื่อปีที่แล้ว นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พูดถึงการออกประกาศจังหวัดเชียงใหม่ ว่าด้วยแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำ และการปล่อยโคมควันโคมลอย เพื่อความปลอดภัย และป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยเพราะในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 เคยเกิดเหตุซากโคมลอยปลิวเข้าไปติดในเครื่องยนต์ของเครื่องบินสายการบินหนึ่ง ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ จนเกือบเกิดเหตุโศกนาฏกรรมมาแล้ว จนเป็นที่มาของการจัดระเบียบเกี่ยวกับการจัดทำ และการปล่อยโคมควันโคมลอย
ทั้งนี้ได้มีการหารือ และปรับปรุงประกาศดังกล่าวให้มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยกำหนดห้ามปล่อยโคมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอหางดง อำเภอสันทราย เฉพาะตำบลหนองหาร อำเภอแม่ริม เฉพาะตำบลเหมืองแก้ว ตำบลดอนแก้ว ตำบลริมใต้ ตำบลแม่สา และอำเภอสารภี เฉพาะตำบลหนองผึ้ง ตำบลขัวมุง ตำบลดอนแก้ว ตำบลสันทราย ตำบลท่าวังตาล ซึ่งห้ามปล่อยโคมอย่างเด็ดขาด ยกเว้นวันที่ตรงกับวันลอยกระทง และวันที่ 31 ธ.ค.ที่ตรงกับวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพื่อเป็นการส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยว
ส่วนในพื้นที่นอกเหนือจาก 5 อำเภอที่กำหนดห้ามปล่อยโคมควันโคมลอยนั้นสามารถดำเนินการได้ แต่จะต้องแจ้งขออนุญาตจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และนายอำเภอ เพื่อจะได้แจ้งศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ และท่าอากาศยานเชียงใหม่ ทราบล่วงหน้าเพื่อประสานข้อมูล และสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงเพื่อวางแผนการบินไม่ให้ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ยังมีการกำหนดช่วงเวลาการปล่อยด้วย โดยโคมควันให้ปล่อยได้เฉพาะในช่วงเวลา 10.00-12.00 น. และโคมลอยจากปีที่แล้วให้ปล่อยได้ หลัง 21.00 น. แต่ปีนี้มีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเคลื่อนไหว เรียกร้องมา ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองทำให้ภาครัฐโอนอ่อนผ่อนปรน หดเวลาเข้ามา ยอมรับกับการที่เที่ยวบินงดบินเข้าเชียงใหม่ 187 เที่ยวบินแลกกับธุรกิจท่องเที่ยว(ปล่อยโคมไฟ)ได้ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น.
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเงื่อนไขด้วยว่า โคมที่ปล่อยจะต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 90 เซนติเมตร สูงไม่เกิน 140 เซนติเมตร น้ำหนักเชื้อเพลิงไม่เกิน 55 กรัม และเผาไหม้ไม่เกิน 8 นาที ตลอดจนห้ามวางจำหน่ายในที่สาธารณะ
ด้วยเหตุและผลดังกล่าว จากงานประเพณีที่สืบทอดมายานนาน จากความเชื่อ และศรัทธา ถูกนำมาใช้เป็นจุดขาย กลายเป็นวิถีพาณิชย์ที่ให้นักท่องเที่ยวได้สนุกสนาน เพียงเพราะหวังจากเม็ดเงินที่คิดว่าจะเข้ามาหมุนเวียนในเชียงใหม่ จะเข้ากระเป๋าใคร จะยั่งยืนแค่ไหนไม่มีใครสนใจ
เฉกเช่นความห่วงใย ความวิตกกังวลกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของคนเชียงใหม่เอง โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงการเตรียมตัวก้าวเข้าสู่เมืองมรดกโลก เราจะหลงเหลืออะไรให้ภาคภูมิใจ หลงเหลืออะไรที่ให้ลูกหลานได้สืบทอดและเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณี หากเรายังคิดถึงแค่ช่วงหรือห้วงเวลาที่จะกอบโกยในชั่วเวลาข้ามคืนเท่านั้น
ผู้เขียนไม่สามารถกล่าวอ้างถึงเมืองต่างๆ ในต่างประเทศที่ผู้คนไปท่องเที่ยว ถ่ายรูปและชื่นชมเพราะไม่ค่อยได้ไปไหนกับเค้า แต่ก็เห็นด้วยกับวิถีเก่าๆ ที่มีเรื่องราว มีที่มา อย่างที่เค้าบอกกันว่าการจะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ามันจะต้องมีเรื่องราวหรือ Story ผู้เขียนไม่อยากให้เรื่องของประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ กลายเป็นเรื่องการปล่อยโคมไฟขึ้นบนฟ้านับหมื่น นับแสนลูกยิ่งกว่าดาวเต็มฟ้าในคืนพระจันทร์เต็มดวง
มีใครหวลคิดถึงหัวอกของคนเมือง คนพื้นที่ ที่ค่ำคืนนี้ไม่กล้าออกนอกบ้านไปลอยกระทงในเมือง เพราะกลัวโคมไฟลอยมาตกใส่บ้านแล้วเกิดเพลิงไหม้ ไม่อยากได้ยินเรื่องโศกนาฏกรรมอื่นๆ ลองสังเกตดูว่าในห้วงเวลากลางคืนที่หลายคนอาจชื่นชมกับดวงไฟนับล้านดวงบนท้องฟ้า แต่ในอีกห้วงเวลากลายเป็นซากขยะไปปลิวว่อนบนถนน หลังคา สายไฟ รั้วบ้านแม้กระทั่งรันเวย์ในสนามบินเชียงใหม่ ซึ่งปีนี้ถึง 81 ลูกและพบมากหลังเวลาเที่ยงคืนที่พ้นกำหนดให้ปล่อยได้ หรือจะต้องรอให้มันเกิดเหตุขึ้นมามากมาย จนกลบความเห็นแก่ตัวของคนได้ ฝากไว้ให้คิดเพื่อวันข้างหน้า เพื่อลูก เพื่อหลานของเราจะได้ไม่ต้องมาต่อว่าบรรพบุรุษ และจะได้ไม่ต้องมานึกเสียใจในวันที่มันสายเกินไป.