แม่ทัพภาคที่3 สั่ง 9 จังหวัดทำงานเชิงรุกแก้หมอกควันไฟป่าเผยนอภ.ไหนไม่สนองย้ายออกนอกพื้นที่

แม่ทัพภาคที่3 สั่ง 9 จังหวัดทำงานเชิงรุกแก้หมอกควันไฟป่าเผยนอภ.ไหนไม่สนองย้ายออกนอกพื้นที่

แม่ทัพภาคที่ 3 กำชับ 9 จังหวัดภาคเหนือทำงานเชิงรุก ให้ผู้ว่าฯเป็นผู้บัญชาการสั่งการระดับจังหวัด ให้นายอำเภอคุมระดับพื้นที่ เผยได้ไฟเขียวหากนายอำเภอไหนไม่สนองตอบจะสั่งย้ายออกนอกพื้นที่ ขณะที่เชียงใหม่สร้างแนวร่วมเปลี่ยนจาก”แตกตื่น ตกใจ ร่วมตำหนิ” เป็น “ตื่นตัว สานพลัง ร่วมต้าน”

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 22 ต.ค.62 ที่สโมสรค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ พล.ท.ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้บัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่3 เป็นประธานประชุมเสนอแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันของ 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด รองผวจ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า สำหรับภารกิจในปีนี้ทางกองทัพจะเป็นหน่วยสนับสนุนที่อยู่เบื้องหลัง โดยแม่ทัพภาคจะเป็นผู้บัญชาการควบคุมระดับภาค แต่ผู้ว่าฯทั้ง9 จังหวัดจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน อย่างไรก็ตามตนอยากให้จังหวัดใช้การริเริ่มใหม่ๆ เพราะบางเรื่องอาจจะล้ำหน้า ซึ่งภาคประชาชนได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่ต่อไปต้องดึงภาคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้วย
“การดำเนินงานในปีนี้ทุกภาคส่วนต้องบูรณการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีผู้ว่าฯเป็นซิงเกิ้ลคอมมานเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะแก้ปัญหาการเผาในทุกพื้นที่ ทั้งพื้นที่ป่า พื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่ชุมชนเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนในพื้นที่ ที่สำคัญทุกภาคส่วนต้องสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจให้เกิดความตระหนักตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ โดยปรับรูปแบบข้อมูลและสถานการณ์ให้เข้าใจง่าย เพือเป็นข้อทูลชุดเดียวกันโดยไม่ให้เกิดความสับสนและดำเนินการสื่อสารอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีและยั่งยืนต่อไป
จากนั้นแม่ทัพภาคที่ 3 ได้ให้แต่ละจังหวัดและหน่วยงานนำเสนอแผนการปฏิบัติงาน โดยนายธนาวุฒิ ปัญจพรอุดมลาภผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวว่า จากการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศพบว่าจะเป็นไปตามสภาพฤดูกาล สำหรับแนวโน้มฝนตั้งแต่ พ.ย.62-เม.ย.63 ในพื้นที่ภาคเหนือฝนจะน้อยหมดเลย อย่าหวังว่าจะมีฝนมาช่วยพยุงความแห้งแล้ง และหากจะมีฝนเกิดขึ้นได้จะไม่เกิน 10 วันและปริมาณจะไม่มาก นอกจากนี้ทิศทางลมในพื้นที่ภาคเหนือจะเป็นลมที่มาจากทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ และปลายม.ค.จะเริ่มมีลมใต้ขึ้นมาโดยกิจกรรมที่เกิดในตอนล่างก็จะมากระจุกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและเป็นปัจจัยที่ทำให้แอ่งกะทะจะมีปัญหาฝุ่นไม่ลอยตัวได้
ทางด้านนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับภาคประชาชนและภาควิชาการในการตอบโต้สถานการณ์ปี 63 ซึ่งจะเป็นการบูรณาการร่วมกัน โดยมองมิติในเมืองและนอกเขตเมือง โดยในพื้นที่นอกเขตเมืองจะเน้นควบคุมไม่ให้เกิดจุดความร้อนจะเป็นการทำงานของฝ่ายปกครองและเจ้าของพื้นที่ทั้งอุทยานฯและป่าไม้ และภาคประชาชนจะช่วยตรวจสอบว่าพื้นที่ที่ทำกินมีเชื้อเพลิงอย่างไร และจะบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างไร
“เชียงใหม่จะมีสภาลมหายใจมาช่วย โดยตั้งเป้าปี63 คาดจุดความร้อนจะไม่เกินหนึ่งหมื่นจุดจากการค้นพบของดาวเทียมเวียร์ และในการทำงานจะต้องลดจุดกำเนิดฝุ่นควันทั้งในพื้นที่เมืองที่จะเน้นควบคุมไอเสียและฝุ่นจากการก่อสร้าง ส่วนพื้นที่ป่า พื้นที่ทำกินจะมีการสแกนให้เห็นชัดเจน และให้ทสจ.เชียงใหม่เป็นผู้ทำข้อมูลผู้ประกอบอาชีพหาของป่าเพื่อจำแนก แยกแยะให้ชัดเจน”ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวและว่า
การประกาศห้ามเผาที่ผ่านมาไม่สอดคล้องบริบทของพื้นที่ ในปี 63 นี้จังหวัดเชียงใหม่จะไม่ประกาศทั้งจังหวัด แต่จะประกาศเป็นอำเภอ สำหรับยุทธศาสตร์ปีนี้เชียงใหม่ตั้งวิสัยทัศน์ไว้ว่าจะเปลี่ยนจาก”แตกตื่น ตกใจ ร่วมตำหนิ” เป็น “ตื่นตัว สานพลัง ร่วมต้าน”
สำหรับแผนงานเร่งด่วนในเรื่องการป้องกันเพื่อความปลอดภัยบุคคลจะจัดพื้นที่เซฟตี้โซน และแจกหน้ากากตามpm ที่เกิด

ทางด้านนายพงษ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ผวจ.ลำพูน กล่าวว่า ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันปี63 ได้เปิดศูนย์อำนวยการฯและประชุมไปแล้ว โดยจะน้อมนำพระบรมราโชวาทในหลวงร.10 คือการแก้ไขให้ตรงจุด นอกจากนี้จะเพิ่มจิตอาสาดับไฟป่า และในพื้นที่วิกฤตจะมีการทำแผนพิเศษเช่น ต.ก้าและต.แม่ลาน อ.ลี้ โดยจะเปิดศูนย์บัญชาการส่วนหน้าโดยมอบหมายรองผวจ.ไปประจำการ และอีกพื้นที่คือดอยขะม้อ ซึ่งจะมีมาตรการพิเศษเข้ามาเพิ่มเติม ส่วนเรื่องงบประมาณที่อาจจะมาล่าช้าและไม่ทันการณ์ แต่จังหวัดลำพูนได้วางมาตรการโดยใช้งบฯท้องถิ่นและงบจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการยับยั้งภัยซึ่งสามารถใช้สำหรับลาดตระเวนไฟป่าได้ในช่วงต้นฤดูกาล
จังหวัดลำพูนมีการแก้ไขให้ตรงจุดลึกถึงพื้นที่เสี่ยง บุคคลเสี่ยงและเข้าไปถึงบุคคล การบังคับใช้กฎหมาย การเพิ่มการลาดตระเวน ส่วนงบประมาณจะมีการบูรณาการให้ชัดเจนรวมถึงCSR ของภาคเอกชนที่จะดึงมามีส่วนร่วม และการสื่อสารระหว่างส่วนราชการและภาคประชาชนจะให้เข้าใจและเข้าถึงด้วย
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผวจ.ลำปาง กล่าวว่า วิสัยทัศน์คือคนลำปางสุขภาพดี เมื่อไม่มีหมอกควันโดยเดือนพ.ย.จะเริ่มลงรณรงค์ในพื้นที่ใช้ประเด็นสุขภาพเป็นตัวขับเคลื่อน การทำงานจะบูรณาการทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายว่าสุขภาพของประชาชนเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะคนที่มาหาหมอลดลงร้อยละ 70 ลดจุดความร้อนลงร้อยละ 50 จำนวนวันที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานลดลงร้อยละ 50
ในเดือนพ.ย.-ธ.ค.เป็นการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการเผา โดยพรุ่งนี้จะเข้าดอยพระบาทและเน้นจิตอาสาระดับตำบล มีการจัดระเบียบการเผาโดยจัดทำโซนที่อิงลักษณะสภาพภูมิอากาศด้วย ในเดือนมี.ค.-พ.ค.จะเป็นช่วงห้ามเผาเด็ดขาด เพิ่มการลาดตระเวนภาคพื้นดิน ตั้งจุดสกัดซึ่งจะใช้ทั้งความอ่อนนุ่ม โดยมีการเจรจาก่อนแต่หากยังพบการฝ่าฝืนคำสั่ง ก็จะเพิ่มมาตรการต่อไป
“ของลำปางมีเครื่องมือตรวจคุณภาพอากาศ 4 จุดโดย 2 จุดจะอยู่ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งปกติถ้าไม่ใช่ช่วงไฟป่าหมอกควันค่าคุณภาพอากาศที่ตรวจวัดได้จะอยู่ที่ 20-30 ไมโครกรัมแม้จะไม่มีการเผาก็ตาม และอีกจุดอยู่ในเขตอ.เมือง สิ่งที่เป็นห่วงสำหรับสถานการณ์ในปนี้คือพื้นที่อ.วังเหนือ ที่อยู่ติดจังหวัดเชียงราย พะเยาและลำปาง หากสภาพอากาศแห้งแล้งจะมีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ เหมือนกับปีที่ผ่านมาซึ่งพบว่าแม้จะมีรถดับเพลิงดับไฟสองข้างทางแต่น้ำหมดก่อนและจุดที่จะเติมน้ำก็ไกลและแหล่งน้ำแห้งขอด เพราะฉะนั้นในปีนี้ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่สำรวจและเตรียมแหล่งน้ำไว้ด้วย

ทางด้าน นายอรรษษิฐ์ สัมพันธ์รัตน์ผวจ.ตาก กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาจังหวัดตากมีจุดความร้อนน้อยกว่าจังหวัดอื่น แต่ก็ยังถือว่าสูงเพราะมี 900 กว่าจุดจึงได้ทำจุดเสี่ยงใน 13 ตำบลเพื่อลดจำนวนจุดความร้อนที่เคยเกิดขึ้น โดยวาง
5 มาตรการคือระบบบัญชาการเหตุการณ์ สร้างความตระหนัก ลดปริมาณเชื้อเพลิง การบังคับใช้กฎหมายและทีมประชารัฐ
“ตอนนี้ถือว่าช่วงก่อนเกิดเหตุ โดยกำหนดช่วงห้ามเผาตั้งแต่ 1 มี.ค-30 เม.ย.แต่ละอำเภอจะได้บริหารการเผาเพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงไว้ก่อน มีการตรวจเช็คเครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากรเป็นการเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุจะสามารถจัดการได้ นอกจากนี้จะรณรงค์ประชาสัมพันธ์โดยใช้คนพื้นที่และเป็นแกนนำในการถ่ายทอดเป็นภาษาถิ่นเพื่อให้เข้าถึงชุมชน นอกจากนี้ยังประสานกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อป้องกันปัญหาหมอกควันข้ามแดนด้วย”
ปัญหาของจ.ตากคือสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสุงชัน มีราษฎรได้รับการผ่อนผันอยู่อาศัย ทำกินในเขตป่าและมีข้อจำกัดในการสื่อสารและความเชื่อ ในแนวเขตติดต่อจังหวัดข้างเคียงบางจังหวัดไม่มีมาตรการกำหนดห้ามเผาและงบฯกลุ่มจังหวัด ตากก็ไม่เคยได้รับด้วย เพราะอยู่นอกกลุ่มยุทธศาสตร์

ขณะที่ นายสุวพงศ์ กิตติภัทย์พิบูลย์ ผวจ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า สภาพพื้นที่ของแม่ฮ่องสอนจะเป็นพื้นที่ป่าและปีที่ผ่านมามีพื้นที่ถูกเผาไหม้ 1.5 ล้านไร่ โดยผลกระทบจากหมอกควันไฟป่าทำให้สายการบินยกเลิกเที่ยวบิน สาเหตุการเกิดไฟป่าจากหาของป่าที่ทำให้เกิดไฟมากที่สุด ทั้งนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอนกำหนดพื้นที่เสี่ยง
นายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ รองผวจ.น่าน กล่าวว่า 34 ตำบล และ 3มาตการโดยจะเริ่มจัดการเชื้อเพลิงตั้งแต่ 1 ก.พ.เป็นต้นไป และกำหนดห้ามเผา เด็ดขาดในระหว่างวันที่ 15 มี.ค.ถึง 30 เม.ย.63
ได้กำหนดพื้นที่เซฟโซนไว้ทุกอำเภอทั้งที่รพ.ประจำอำเภอและที่ว่าการอำเภอ นอกจากนี้ยังน้อมนำพระราชดำริ สร้างป่า สร้างรายได้มาเป็นแนวทางในการสร้างความร่วมมือสำหรับปีนี้เพื่อลดการเผาป่า มีการตั้งศูนย์ระดับจังหวัด อำเภอและตำบล หมู่บ้าน แต่ยอมรับแม่ฮ่องสอนมีข้อจำกัดเรื่องสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่า และการสื่อสาร อย่างไรก็ตามมีเสียงสะท้อนจากชาวบ้านขอให้เว้นวรรคช่วงห้ามเผาในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.ไว้ให้ด้วย เพราะช่วงกำหนดให้กำจัดเชื้อเพลิงได้ไม่อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมในพื้นที่

ทางด้าน นายกมล เชี่ยววงศ์ ผวจ.พะเยา กล่าวว่า จังหวัดได้กำหนดพื้นที่เสี่ยงใน 9 อำเภอใน 29 ตำบล และจัดทำแผนเผชิญเหตุกับจัดงบประมาณไว้ โดยใช้งบฯปกติของอปท.ซึ่งมี 69 โครงการงบฯ1.8 ล้านบาททั้งสร้างความตระหนัก ลดการเผา อบรมให้ความรู้และสร้างแนวกันไฟ และใช้งบปกติของส่วนราชการจำนวน 25 ล้านบาทและอีกส่วนงบฯจังหวัดจำนวน 4 ล้านบาทเศษและมีงบจากองค์กรเอกชนอีก 2 ล้านบาท
สำหรับแผนการทำงานของพะเยา กำหนด 15 มี.ค-ห้ามเผาเด็ดขาด กำหนดพื้นที่ห้ามเข้าป่า และจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว มีการบังคับใช้กฎหมายและหากเกิดไฟป่าหมอกควันแล้วก็จะแบ่งหน้าที่ในการฉีดพ่นน้ำ โดยกำหนดโจทย์และแนวทางอย่างชัดเจน
ว่าที่ร.ต.ณรงค์ โรจนโสทร รองผวจ.เชียงราย กล่าวว่า แผนปฏิบัติการของเชียงรายได้กำหนดพื้นที่เสี่ยง18 อำเภอ124 ตำบล 1,784 หมู่บ้าน โดยเริ่มแผนงานตั้งแต่เดือนตุลาคมในการเตรียมการและเริ่มแผนปฏิบัติการในเดือนม.ค.-เม.ย. ส่วนงบประมาณปีนี้ได้มีการบูรณาการจากทุกภาคส่วนมีการรวมงบฯไว้ที่จังหวัดเพื่อไม่ให้การเบิกจ่ายล่าช้าหรือซ้ำซ้อน โดยพื้นที่เสี่ยง
36 ตำบลมีการตั้งงบสำหรับจัดหาอุปกรณ์ดับไฟในเชิงพื้นที่และได้บูรณาการกับภาคเอกชนเพื่อลมหายใจบริสุทธิ์ ไร้หมอกควัน
นายโชคดี อมรวัฒน์ รองผวจ.แพร่ กล่าวว่า จังหวัดแพร่มีพื้นที่เสี่ยงสูง 7 ตำบล ประกอบด้วย ต.บ้านเวียง เตาปูน สะเอียบไทรย้อย ห้วยไร่ นาพูนและหัวฝาย และพื้นที่เสี่ยงน้อย 41 ตำบล และกำหนดช่วงห้ามเผาเด็ดขาดตั้งแต่ 15 ก.พ.-30 เม.ย.63 อย่างไรก็ตามยอดรับว่าในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในที่ทำกินในพื้นที่ป่าจัดการได้ยากเนื่องจากเป็นพื้นที่สูง ประหยัดค่าใช้จ่ายจึงทำให้เกิดมลพิษหมอกควันตามมา นอกจากนี้อปท.บางแห่งยังไม่มีการจัดสรรงบฯในการดำเนินงานแก้ไขปัญหา การประชาสัมพันธ์ยังไม่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและประชาชนในพื้นที่ยังไม่ตระหนักถึงปัญหา

พล.ท.ฉลองชัย กล่าวในที่ประชุมว่า ในปีนี้ทางกองทัพจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างจังหวัดกับรัฐบาล สำคัญที่สุดคือนายอำเภอที่จะไปกำกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านซึ่งผมได้รับไฟเขียวแล้วว่าถ้านายอำเภอไหนตอนสนองช้าผมก็จะย้ายออกนอกพื้นที่ เพราะในแต่ละพื้นที่มีบริบทไม่เหมือนกัน
แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวภายหลังการประชุมว่า การประชุมวันนี้เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างบูรณาการ และแยกกันไปทำของแต่ละจังหวัด ซึ่งในปี 2563 การดำเนินการจะไม่เน้นการตั้งรับ แต่ทุกจังหวัดจะทำงานเชิงรุก โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น Single Command และทุกจังหวัดจะไม่มีเส้นแบ่งเขตทางอากาศ ขณะที่ปัญหาหมอกควันข้ามแเดน มีโครงสร้างคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (TBC) ในการขับเคลื่อน ซึ่งจังหวัดตากกับเมืองเมียวดี (พม่า) และเชียงรายกับเมืองท่าขี้เหล็ก (พม่า) มีความร่วมมือและร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง.

You may also like

อบจ.เชียงใหม่ระดม108หน่วยงาน “รวมใจเป็นหนึ่ง”ฟื้นฟูทำความสะอาดเมืองตั้งเป้าเสร็จภายในเดือนต.ค.นี้ขณะที่”ทักษิณ”ให้ 1 ล้านสนับสนุนกิจกรรม

จำนวนผู้