แม่ทัพภาคที่ 3 ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังพบการแพร่ระบาดยาเสพติดรุนแรงทวีคูณกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา

แม่ทัพภาคที่ 3 ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังพบการแพร่ระบาดยาเสพติดรุนแรงทวีคูณกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา

- in headline, รอบรั้วทั่วเหนือ

แม่ทัพภาคที่ 3 ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังพบการแพร่ระบาดยาเสพติดรุนแรงทวีคูณกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งหาวิธีการและเทคนิครู้เท่าทันกลุ่มผู้ผลิตและผู้ค้า เผยเตรียมเสนอรองนายกฯประจิณหารือ ก.อุตสาหกรรมควบคุมสารโซเดียวไซยาไนด์และสารตั้งต้นอีกหลายชนิด หลังพบถูกนำไปผลิตยาบ้านอกประเทศ

วันที่ 29 ส.ค.2561 ที่โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง พล.ท.วิจักขฐ์  สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ (ศอ.ปส.ชน.) พร้อมด้วยพล.ท.ดำริห์ สุขพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 2  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, พล.ต.ณัฐวุฒิ  ชุณหะนันทน์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 7/ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ (ศป.ปส.ชน.),      พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, พล.ต.ท.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5, นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ และคณะทำงาน ร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯโดยกล่าวในที่ประชุมว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์, พิจารณาแก้ไขปัญหาข้อขัดข้อง และกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หลังจากพบว่าปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดเป็นทวีคูณ ยอมรับการจับกุมได้แต่ละครั้งมากกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา  รวมทั้งเรื่องของวิธีการหรือเทคนิคต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติงานที่จะต้องให้ทันกับสถานการณ์การปรับเปลี่ยนของกระบวนการผู้ผลิต ผู้ค้ายาเสพติด โดยเฉพาะการลำเลียงยาเสพติดจากแหล่งผลิตกระจายไปพื้นที่ชั้นใน ซึ่งมีการขนส่งผ่านบริษัทขนส่ง แต่ในการสกัดกั้น ตรวจค้นและจับกุมทำอย่างไรไม่ให้กระทบกับการทำงานของบริษัทที่ดำเนินการด้วย

แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการประชุมในครั้งนี้เป็นเรื่องหารือถึงปัญหายาเสพติดเพราะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีการจับกุมยาเสพติดได้มากกว่าปี 2560 และในปริมาณที่มากด้วย จึงต้องช่วยกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่ามันเป็นเพราะความต้องการในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นหรือเป็นเพราะการบูรณาการร่วมกันทั้งงานข่าว งานปราบปรามจึงสามารถสกัดกั้นและจับกุมได้มาก และในระยะยาวจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรหากความต้องการยาเสพติดยังเพิ่มสูงขึ้น

“ในตอนนี้มีเรื่องของสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตยาบ้าที่มันเป็นสารที่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ได้ห้ามจำหน่ายในประเทศเรา แต่จะควบคุมอย่างไรเพื่อไม่ให้สารตั้งต้นตัวนี้ถูกนำไปผลิตยาเสพติดนอกประเทศ ซึ่งทางคณะกรรมการฯจะทำหนังสือถึงพล.อ.ประจิณ จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ยุติธรรมเพื่อให้ท่านหารือกับทางกระทรวงอุตสาหกรรมในการควบคุมสารโซเดียมไซยาไนด์ และสารตั้งต้นอีกกว่า 20 ชนิดที่จะต้องควบคุม โดยจะต้องดำเนินการให้ได้ข้อสรุปและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้ง”พล.ท.วิจักขฐ์ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

ความจริงแล้วเรื่องของสารโซเดียมไซยาไนด์นี้ทางพม่าไม่ได้อนุญาตให้ขนส่งทางบก แต่ก็พบว่ามีการส่งผ่านด่านชายแดนแม่สอด จ.ตาก ผ่านด่านทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนและด่านแม่สาย จ.เชียงราย เพราะสารนี้ในประเทศไทยไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ทางพม่าไม่ได้ อีกประเด็นที่หารือในการประชุมครั้งนี้คือเรื่องของการสกัดกั้นวงจรเงินของกระบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งก็ยังพบว่ามีจุดอ่อนเพราะที่ผ่านมามีการควบคุมเรื่องเงินที่เข้ามา แต่ไม่มีการควบคุมเรื่องเงินที่ออกไปด้วย และประเด็นสุดท้ายคือเรื่องที่จะให้ประเทศเพื่อนบ้านติดตาม จับกุมกลุ่มนักค้ายาเสพติดที่หนีจากประเทศไทยไปหลบซ่อนตัวในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเรื่องนี้จะมีการประชุม RBC   ในสัปดาห์หน้าที่จะนำไปหารือด้วย

ทั้งนี้ศอ.ปส.ชน.ได้สรุปสถานการณ์ยาเสพติด ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคเหนือว่า  แหล่งผลิตยาเสพติดในประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงผลิตยาเสพติดประเภทยาบ้า, ไอซ์ และเฮโรอีน ได้เป็นจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา สาเหตุเนื่องจากสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดยังคงสามารถส่งเข้าแหล่งผลิต    ยาเสพติดได้หลายทิศทางอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการลักลอบลำเลียงเข้าสู่เขตไทย ยังคงดำเนินการมาโดยตลอด และสามารถส่งเข้ามาทดแทนยาเสพติดที่ถูกจับกุมได้ สำหรับทิศทางการลำเลียงยาเสพติด ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปลักลอบนำเข้าทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัดเชียงรายเพิ่มมากขึ้น ส่วนที่เหลือจะกระจายไปทางด้านจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ยาเสพติด คาดว่าแหล่งผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน จะยังคงผลิตยาเสพติด      อย่างต่อเนื่อง และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ จะเป็นพื้นที่นำเข้าหลักอยู่ต่อไปพื้นที่เพ่งเล็ง ได้แก่ 1.) พื้นที่ด้านตรงข้าม อำเภอเวียงแก่น และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย 2.) พื้นที่ด้านตรงข้าม อำเภอแม่สาย และอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย 3.) พื้นที่ด้านตรงข้าม อำเภอแม่อาย, อำเภอฝาง, อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ในส่วนของผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ ควบคุมอำนวยการ ประสานงานให้หน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดเชียงรายและจังหวัดแม่ฮ่องสอน ห้วงตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2560 ถึง  15 สิงหาคม 2561 สรุปผลการปฏิบัติงานที่สำคัญดังนี้

  1. ด้านการสกัดกั้นปราบปราม สามารถยึด ยาบ้า จำนวน    71,048,358  เม็ด,ไอซ์จำนวน             3,704.4             กิโลกรัม, เฮโรอีน จำนวน     79.1              กิโลกรัม จับกุมผู้ต้องหา   จำนวน  784     คน
  2. ด้านการป้องกัน โครงการประชารัฐร่วมใจปลอดภัยยาเสพติดปี 2561 และโครงการไทยนิยมยั่งยืน รอบที่ 2 (ตั้งแต่ 21 ก.พ. 2561)

2.1 ผลการดำเนินงานตามแผนประชารัฐฯ ปี ๒๕๖๑   การสร้างภูมิคุ้มกันและการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มเด็กปฐมวัย, กลุ่มเด็กปฐมศึกษา, มัธยมศึกษา, อาชีวศึกษา, อุดมศึกษา และสถานประกอบกิจการ เป้าหมายใน ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน ดำเนินการแล้ว จำนวน ๘,๘๔๕ แห่ง ของเป้าหมายทั้งประเทศ (สูงกว่าผลการดำเนินการภาพรวม)      โครงการไทยนิยมยั่งยืน รอบที่ ๒ (ตั้งแต่ ๒๑ ก.พ. ๒๕๖๑)  ผลการสำรวจ        ในพื้นที่ ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีหมู่บ้านที่นำเข้าผลสำรวจ จำนวนทั้งสิ้น ๗,๒๕๗ แห่ง พบว่าเป็นหมู่บ้านที่มีปัญหายาเสพติด จำนวน ๒,๔๕๓ แห่ง ผลการดำเนินการบำบัดรักษาและติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษา เป้าหมายใน ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน ดำเนินการติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษา ๓ ระบบ ดำเนินการติดตามช่วยเหลือแล้ว ๑๒,๐๙๐ ราย

2.2. กองทุนแม่ของแผ่นดิน จังหวัดเชียงใหม่ ขับเคลื่อนโครงการกองทุนแม่ของแผ่นดิน        ปี ๒๕๖๑ ศูนย์การเรียนรู้กองทุนแม่ของแผ่นดินดีเด่น บ้านหนองปลามัน ตำบลห้วยทราย อำเภอแม่ริม    จังหวัดเชียงใหม่

2.3 จังหวัดเชียงราย ดำเนินการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในเชิงพื้นที่ (Area) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีสถานการณ์ยาเสพติดรุนแรง โดยใช้งบพัฒนาจังหวัดเชียงราย ประจำปีงบประมาณ    พ.ศ.2561 ทำโครงการป้องกันการแพร่ระบาดในพื้นตอนในและพื้นที่ชายแดนตามแนวทางประชารัฐร่วมใจ ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ.2561

  1. ด้านการบำบัดรักษา     สถานการณ์และสภาพปัญหาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ที่มีปัญหายาเสพติดสูง เนื่องจากมีทั้งแหล่งผลิต แหล่งพัก และเป็นช่องทางขนส่งยาเสพติดระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนผู้เสพยาเสพติดสูง โดยตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ – ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๑     จังหวัดเชียงใหม่มีผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด จำนวน ๗,๘๕๔ คน ซึ่งมากเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ  รองจากกรุงเทพมหานคร.

You may also like

ชมรมผู้บริหารงานแม่บ้านโรงแรมจัดงาน“ Chiang Mai Housekeeping Fair 2024

จำนวนผู้