บอมบาร์ดิเอร์ รีบเสนอตัววางระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ นำประสบการณ์และเทคโนโลยีระบบรางพร้อมทีมวิศวกร 450 ชีวิตดูแลศูนย์วิศวกรรมและการควบคุมระบบอาณัติสัญญาณในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ขณะที่เอกชนเชียงใหม่ลงขันตั้งบริษัทเชียงใหม่พัฒนา ขับเคลื่อนระบบขนส่งมวลชน นำร่องสถานกงสุลแคนาดาร่วมกับ กงสุลกิตติมศักดิ์แคนาดา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ในความร่วมมือกับบริษัท บอมบาร์ดิเอร์ จัดประชุมสัมมนาผู้บริหาร “ระบบขนส่งมวลชนในเมืองเชียงใหม่ ต่อ การเดินทางสำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ในอนาคต” ซึ่งทางบริษัท บอมบาร์ดิเอร์โดย Mr. Gregory Enjalbert, Canadian เป็นผู้นำเสนอรายละเอียด โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและสื่อมวลชนเข้ารับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนายเอกสิทธิ์ จุลกิตติพันธ์ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานทูตพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ทางสถานทูตแคนาดาได้มีการพูดคุยผ่านทางภาคเอกชนและกงสุลกิตติมศักดิ์ ด้วยทราบว่าจังหวัดเชียงใหม่กำลังมีการผลักดันเรื่องระบบขนส่งมวลชนเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ซึ่งทางแคนาดามีผู้ที่เชี่ยวชาญระบบราง โดยสอดรับกับแนวทางการศึกษาของสถาบันการศึกษาในเชียงใหม่ที่มีการศึกษาเรื่องระบบขนส่งมวลชนนี้อยู่ เพราะปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่จะรองรับ ประชากรที่มีจำนวนมากรวมทั้งนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันได้มีการเรียกร้องมานานที่อยากให้มีระบบขนส่งมวลชนที่ตอบสนองการเดินทางในพื้นที่ทางด้าน Mr. Gregory Enjalbert Vice – President Asia-Pacific of Bombardier Transportation Rail Control Solutions กล่าวว่า บริษัทบอมบาร์ดิเอร์ เป็นบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีระบบขนส่งชั้นนำของโลก โดยเฉพาะระบบราง ซึ่งบอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่นมีสำนักงานในกรุงเทพมีวิศวกรกว่า450 คนที่ดูแลระบบรางให้กับ การรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย(รฟท.) และดำเนินธุรกิจด้านขนส่งมวลชนทางราง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือบีทีเอส โดยยกระดับสำนักงานแห่งนี้เป็นศูนย์วิศวกรรมและการควบคุมระบบอาณัติสัญญาณในระดับภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองหนึ่งที่บอมบาร์ดิเอร์สนใจ หากจะมีการลงทุนเกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชน เพราะเรามีประสบการณ์และมีผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯที่พร้อมจะมาสนับสนุน ส่วนรูปแบบและระบบที่เหมาะสมนั้นควรจะเริ่มจาก Ligth Rail Transit เพราะเล็งเห็นถึงความจำเป็นของระบบขนส่งมวลชนที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะระบบที่ตอบสนองความต้องการ แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ที่มีศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และทัศนียภาพที่งดงาม ซึ่งรูปแบบที่เหมาะสมก็จะต้องผสมผสานกันไปนายสมหวัง บุญระยอง โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่จะเกิดขึ้นได้ จะต้องขับเคลื่อนจากภาคเอกชนทั้งสภาอุตสาหกรรม หอการค้า สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและภาคเอกชน รวมถึงประชาชน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัดร่วมกันผลักดันและเสนอรัฐบาลให้ลงทุนเนื่องจากเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และก็มีการพูดกันมานานจนกระทั่งวันนี้ทางบอมบาร์ดิเอร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญระบบรางก็มานำเสนอเทคโนโลยีและประสบการณ์ให้ทราบ เพราะถ้าหากมีการลงทุนทางบอมบาร์ดิเอร์ก็คงเสนอตัวเข้ามา
“อย่างไรก็ตาม การจัดระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ ผมอยากให้เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่เรามีอยู่และทดลองทำไปก่อน เช่น ปิดบริเวณสี่เหลี่ยมคูเมืองไม่ให้รถส่วนตัวเข้า แต่ให้จัดระบบขนส่งมวลชนโดยใช้ระบบขนส่งที่เรามีอยู่ เช่น รถสี่ล้อแดง หรือรถเมล์เทศบาลนครเชียงใหม่วิ่ง แต่ที่สำคัญคือต้องหาจุดจอดรถให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวก่อน หากทดลองได้ผลแล้วค่อยขยายต่อไป เพราะระบบขนส่งมวลชนที่มีการศึกษาและพูดถึงนั้นจะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่และต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ขณะนี้งบประมาณแผ่นดินไม่ได้มีมากพอที่จะมาลงทุน”โยธาธิการและผังเมืองเชียงใหม่ กล่าวขณะที่นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า หลังจากที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเมืองและนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับสถาบันวิจัยการเติบโตอย่างชาญฉลาดประเทศไทย ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นในการก่อตั้ง บริษัท เชียงใหม่พัฒนาเมือง จำกัด โดยเฉพาะแรงกระตุ้นจากอ.สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย เกี่ยวกับโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมสำหรับกิจการขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ขอนแก่นโมเดล ซึ่งมีการจัดตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด ที่เกิดจากการรวมตัวและระดมทุนจากภาคเอกชนในพื้นที่ และก็ให้ความท้าทายว่าเชียงใหม่ไม่คิดที่จะเริ่มหรือ
“ปัจจุบันการจราจรเชียงใหม่เป็นอัมพฤกต์ อัมพาตและหากไม่เร่งแก้ไขยิ่งเป็นปัญหาจึงได้รวมกันจัดตั้งบริษัท เชียงใหม่พัฒนาเมือง จำกัด โดยเป็นชุมชนเล็กๆ ที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องตั้งกรรมการให้มาก แต่มีการลงขันคนละเล็กน้อยแต่มีเป้าหมายร่วมกันคือทำบ้านเมืองให้ดี พัฒนาเมืองเพื่อลูกหลานในอนาคต โดยเรื่องแรกที่เราจะทำคือระบบขนส่งสาธารณะ เพราะทุกวันนี้เรื่องจราจรโดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนเป็นปัญหาอย่างมาก ทำลายความน่าอยู่ของเมืองเชียงใหม่”รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย กล่าวและว่า เป้าหมายในการทำระบบขนส่งมวลชนหรือระบบขนส่งสาธารณะที่ได้ผลเป็นรูปธรรมคือ การหาระบบขนส่งสาธารณะและการลดการใช้รถส่วนตัว โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนควรกำหนดไม่ให้รถส่วนตัวเข้าไป แต่เนื่องจากเชียงใหม่ใช้รถส่วนตัวจนเคยชิน อีกทั้งยังไม่มีจุดจอดรถ ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่รองรับอีก แต่จากการไปศึกษาดูงานที่ขอนแก่นโมเดลซึ่งมีการลงขัน 100 ล้านบาทและนำรถบัสที่เอกชนในพื้นที่มีอยู่มาวิ่งบริการ และมีแอพพลิเคชั่นที่แสดงเวลารถที่จะเข้ามายังสถานีจอด รวมถึงเส้นทาง ซึ่งจุดที่ขอนแก่นโมเดลใช้รถบบขนส่งสาธารณะเริ่มในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เชื่อมต่อไปยังโรงพยาบาล ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากรองประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย กล่าวอีกว่า สำหรับในเชียงใหม่จริงๆ ที่มีการทำระบบขนส่งมวลชนประสบความสำเร็จก็คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีขส.มช.ด้วยรถ 60 คันลงทุนด้วยงบประมาณ 150 ล้านบาท ตอบสนองคนในมช. 5 หมื่นคน โดยนักศึกษานั่งฟรี และนำรถไฟฟ้าส่วนหนึ่งไปบริการนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยว ดังนั้นกลุ่มเชียงใหม่พัฒนาเมืองมีการศึกษาพบว่าคนส่วนใหญ่หนีออกไปอยู่นอกเมืองและเข้ามาทำงานในเมืองโดยใช้รถส่วนตัวทำให้เกิดปัญหารถติด แต่ถ้าหากยังปล่อยไปแบบนี้ก็ยิ่งแย่ จะไปสร้างเมืองใหม่ สนามบินแห่งใหม่ก็จะยิ่งดึงคนเข้ามาอีกที่ ศึกษาเพิ่มเติมขณะนี้คือต้องมีจุดจอดรถ และต้องมีรถที่ขนส่งคนเข้าไปในเขตเมือง
“ ตอนนี้ที่ศึกษาพบว่าเส้นทางเดินรถมีหลายรูปแบบ มีโครงข่ายถนน มีถนนวงแหวน 3 วงและยังมีอุโมงค์มากสุดในวงแหวนรอบ 2 แต่วงแหวนรอบ 1 มีอุโมงค์ไม่ครบหลูป มีย่านการค้าใหญ่ๆ 4 แห่งคือย่านการค้า 2 ฝั่งแม่น้ำปิง ย่านการค้าไนท์บาร์ซ่า และย่านสี่เหลี่ยมคูเมืองเก่าและย่านนิมมานเหมินทร์ซึ่งแต่ละย่านจะมีนักท่องเที่ยวอยู่เยอะมากดังนั้นขนส่งมวลชนต้องลิงค์ทั้ง 4 ย่านรวมทั้งสนามบินและสถานีขนส่งที่มีอยู่ด้วย ซึ่งการศึกษาระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ที่ผ่านมามีการศึกษามาถึงตรงนี้”นายณรงค์ กล่าวและชี้แจงอีกว่า สำหรับรูปแบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมสำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ถ้าไม่มองเรื่องเงินลงทุนต้องใช้รูปแบบผสมผสานตามความเหมาะสม เพราะจากการศึกษาเส้นทางบางอย่างใช้ถนนร่วมกับระบบอื่นได้ บางเส้นทางไม่มุดดินก็ต้องลอยฟ้า ซึ่งการที่อาจจะต้องทำระบบลอยฟ้าคนเชียงใหม่ต้องเปิดใจยอมรับและมีรถรางบ้างนายณรงค์ กล่าวด้วยว่า การที่ระบบขนส่งมวลชนจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้ระบบ PPP เหมือนที่ขอนแก่นได้ทำหนังสือถึงคสช.ขอให้พิจารณาสัมปทานซึ่งขอนแก่นใช้งบแค่ 100 ล้านโดยใช้รถบัสมาวิ่งให้บริการและประสบความสำเร็จ ส่วนของเชียงใหม่รูปแบบที่น่าจะสำเร็จและลงตัวคือ การทำ City Hob ให้รถวิ่งใน 4 ย่านลิงค์ไปสถานีขนส่งอาเขตและสนามบินเป็นการนำร่อง โดยจะใช้ทั้งรถบัสและรถสี่ล้อแดงที่มีอยู่ โดยจะจัดให้วิ่งตามเส้นทาง หรืออาจจะเป็นแบบอูเบอร์รถแดงที่เรียกได้ง่าย หลังจากนั้นจะเห็นจุดจอดในแต่ละสถานีแล้วถึงผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งแผนธุรกิจ เพราะช่วงแรกๆ ต้องยอมรับว่าขาดทุนแน่นอน ซึ่งตอนนี้บริษัทเชียงใหม่พัฒนาเมืองจะระดมทุนคนละ 1 แสนบาทมีคนแจ้งความจำนงขณะนี้ 70 คนก็ประมาณ 7 ล้านบาท เป็นการทำเพื่อเมืองเชียงใหม่ และจะมีการทำแผนที่ให้มองเห็นภาพที่ชัดเจนเพื่อดึงศรัทธาของคนมาร่วมลงขันด้วย.