เสียงสะท้อนวอนภาครัฐทบทวนอนุญาตปล่อยโคมลอย-โคมไฟในงานยี่เป็ง ชี้ทำลายรากเหง้าทางวัฒนธรรม

เสียงสะท้อนวอนภาครัฐทบทวนอนุญาตปล่อยโคมลอย-โคมไฟในงานยี่เป็ง ชี้ทำลายรากเหง้าทางวัฒนธรรม

- in Exclusive

เสียงสะท้อนจากหลายภาคส่วน วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนการอนุญาตปล่อยโคมลอย โคมไฟในช่วงเทศกาล ชี้เป็นการทำลายรากเหง้าวัฒนธรรม เน้นแต่ขายความสนุกสนานด้านการท่องเที่ยว ขณะที่คนพื้นที่ต้องหวาดผวาไม่กล้าออกนอกบ้านเพราะกลัวไฟไหม้

ผ่านพ้นไปแล้วกับงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่หรือประเพณีลอยกระทง ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ วันเพ็ญ เดือน 12 แต่สิ่งที่หลงเหลือไว้กับงานประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน กลับกลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเปลี่ยนแปลง ที่คนล้านนาลืมรากเหง้าวัฒนธรรม แต่หยิบฉวยโอกาสจากงานประเพณี มุ่งไปกับการสร้างกระแสใหม่ที่แอบแฝงกับการโกยเงินรายได้จากนักท่องเที่ยว ซึ่งไม่มีใครกล้ายืนยันว่าสิ่งที่ทำนั้นจะยั่งยืน มั่นคงสักแค่ไหน “เชียงใหม่นครแห่งชีวิต มั่งคั่งและสง่างามทางวัฒนธรรม”อาจจะกลายเป็นอดีตที่เคยจารึกได้ และเป็นส่วนหนึ่งของคนเชียงใหม่ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น เรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักและหาแนวทางแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป

ในเพจเฟสบุ๊คของศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ตัวแทนจากมูลนิธิพัฒนาเมือง ได้เขียนนำเกี่ยวกับการเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ หลังจากรวบรวมและแชร์ข้อมูลของหลายๆ คนในเพจว่า ได้เวลาเปิดประชุมภาคประชาชนเรื่องเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ด่วนที่สุดแล้ว เรื่องผลกระทบ-ปัญหา-จุดแข็ง-จากโคมไฟ-โคมลอยและอื่นๆ

“ไม่น่าเชื่อนะครับ ที่เรามาถึงวันนี้ วันที่คนล้านนาไปนั่งฟังเทศน์หลายๆ กัณฑ์ ที่วัดคืนยี่เป็ง (๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ) ไม่ได้เพราะกลัวบ้านถูกไฟไหม้จากโคมไฟทำด้วยแผ่นยางใสๆ ขนาดสูง 1ศอกเศษ จุดคนเดียว ปล่อยคนเดียวหรือยืนเป็นกลุ่มๆ จากนักท่องเที่ยว ที่อ้างว่าทำเพื่อปล่อยเคราะห์ปล่อยภัย แต่ทำกำไรมหาศาลให้คนขาย ที่ลอยขึ้นฟ้านับหมื่นพันลูกโดยได้รับอนุญาตจากจังหวัด”ศ.ดร.ธเนศวร์ กล่าวและว่า

วันนี้ เทศกาลยี่เป็งที่เคยงดงาม เรียบง่าย และผู้คนนั่งนิ่ง ดื่มลึกในเทศน์กัณฑ์หาชาติ แต่คืนนี้ ต้องมานอนเฝ้าหลังคาและฝาบ้านของตัวเอง เพราะกลัวไฟไหม้จากโคมเล็กๆ อันเกิดจาก 1. สังคมที่ไม่รู้และไม่สนใจจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์-ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และ 2. ความเห็นแก่ได้ของกลุ่มพ่อค้าโคมไฟและการท่องเที่ยวที่คิดแต่จะขายๆๆๆๆๆ อย่างเดียว

ศ.ดร.ธเนศวร์ ยังยกกรณีที่รายการวิทยุของมหาวิทยาลัยฯแห่งหนึ่งว่า ควรจะเป็นเสาหลักความรู้ของล้านนา ซึ่งได้สัมภาษณ์ผู้นำเยาวชนเชียงใหม่ ที่ตอบว่าโคมไฟนี่ควรให้เล่นต่อไปได้ แต่เพราะมากเกินไป จึงควรอนุญาตให้เล่นได้ ครอบครัวละลูก โดยที่คนจัดรายการไม่ท้วงติงหรือมีข้อเสนอแนะ โดยศ.ดร.ธเนศวร์ระบุว่าระบบการศึกษานั่นแหละที่ล้มเหลว เพราะไม่สอนเรื่องศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น คนจัดรายการวิทยุจึงไม่รู้ เพราะไม่เคยเรียน เยาวชนก็ไม่ได้เรียนไม่รู้เหมือนกัน

ไม่รู้เลยว่าโคมไฟอันขนาดช่วงแขนเกิดขึ้นไม่กี่ปีมานี้เอง โดยพ่อค้าหาเงินแล้วหลอกลวงว่าเพื่อปล่อยทุกข์โศกโรคภัย แต่หลายร้อยปีมานี้ ชาวบ้านแต่ละวัดไปชุมนุมที่วัด ไปช่วยกันทำโคมลอยและโคมไฟลูกใหญ่ขนาด 1.50 ×1.20 เมตร วัดละ 1-2-3-4 ลูก ปล่อยโคมลอยราวหลังฉันเพล และปล่อยโคมไฟหลังอาหารเย็น ก่อนฟังเทศน์ครั้งสำคัญในคืนยี่เป็ง ทั้งโคมลอย-โคมไฟปล่อยขึ้นฟ้า ไปไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ โคมลอย-โคมไฟจึงเป็นงานของหมู่บ้านทำพิธีพุทธศาสนา ไม่ใช่จุดคนเดียว อันเล็กๆ ลอยขึ้นไปนิดเดียวก้อติดหลังคา เกิดไฟไหม้บ้านมาทุกๆปี เดือดร้อนกันไปทั่วล้านนา โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ๆ

ศ.ดร.ธเนศวร์ ระบุว่า ล้านนาไม่มีโคมไฟเล็ก ที่จุดคนเดียว และปล่อยจากมือคนเดียว อันตรายที่สุด ไหม้บ้านผู้คนมานักต่อนักแล้ว หลายวัด ปล่อยโคมลอยหรือโคมลม หรือ ว่าวลมตอนกลางวัน วัดละ 1-2 ลูก ค่ำๆ จุดและปล่อยโคมไฟหรือว่าวไฟในช่วงยี่เป็ง บางวัดอาจไม่ทำ แต่ส่วนใหญ่ทำ เป็นลูกใหญ่มาก ไม่ใช่อันเล็ก จุดคนเดียวปล่อยคนเดียว แต่ไหม้บ้านทั้งหลังเหมือนปัจจุบัน

ขณะที่คนที่ใช้ชื่อว่า Noo Chanoo  เขียนในเฟสของตัวเองว่า รู้สึกเสียดาย จากการไปเที่ยวลอยกระทงใน จ.เชียงใหม่นั้น จึงได้ข้อคิดหลากหลายประการคือ 1.วัฒนธรรมหรือประเพณีที่มีอำนาจอยู่กับคนไม่มีอำนาจ ทำให้เกิดความเสียสมดุลกล่าวคือ เต็มไปด้วยฝูงคน จราจรติดขัด ไม่เป็นระเบียบ อยากทิ้งขยะตรงไหนก็ทิ้ง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะท้องถิ่นไม่มีอำนาจ พอท้องถิ่นไม่มีอำนาจก็ไม่สามารถจัดการปัญหาต่างๆเหล่านี้ได้ ทั้งๆที่จังหวัดเชียงใหม่มีจุดเด่นหลายประการ อาทิเช่น เป็นเมืองประวัติศาสตร์ ที่น่าสนใจ มีกำแพงเมืองเก่า มีวัดวาอารามที่หลากหลาย มีสภาพแวดล้อมที่งดงามด้านหลังเป็นภูเขาแอ่งกระทะ มีแม่น้ำปิงไหลผ่าน จึงเป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวสนใจเข้ามาเที่ยวไม่ว่าจะเป็นชาวยุโรปหรือแม้แต่ชาวเอเชียเอง

แต่อย่างไรก็ตาม เมืองดังกล่าวนี้แทนที่จะมีความศิวิไลซ์กว่านี้แต่หาไม่ เพราะอำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง 2.เกิดอะไรขึ้นกับประเพณีนี้คือคนไทยที่ไปเที่ยวมีน้อยมากส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ และคนไทยที่ไป ก็ไปเพื่อค้าขาย เพื่อผลประโยชน์ในทางธุรกิจ นอกนั้นไม่มีเลย ทั้งๆที่ ประเพณีนี้งดงามและน่าชื่นชมที่เราจะได้ลอยกระทงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ปลดปล่อยความทุกข์ แต่ปัจจุบันลอยกระทงเป็นได้แค่ธุรกิจเท่านั้น เกิดอะไรขึ้น? 3.ชนชั้นนำไม่ให้ความสนใจกับประเพณีนี้จากการไปพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีน้อยกว่าตอนรัฐมนตรีจะมาเยี่ยมซะอีก 4.เราประชาชนจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปอีกนานสักเท่าใด

ด้านคนที่ใช้ชื่อว่า Panun Nadoiyao บอกว่า เมื่อ 50 ปีท่ีผ่านมา ในวันลอยกระทง ตอนกลางวัน พระและคนเฒ่าคนแก่ จะปล่อย”กมลม”(โคมลม) ทำจากกระดาษว่าว ต่อกันเป็นลูกกลมๆ แล้วรมควันให้ “กมลม” โป่ง ตึง จนลอยขึ้นจากพื้น จึงปล่อยขึ้นฟ้า ในหมู่บ้านหนึ่ง จะปล่อยเพียงลูก สองลูกเท่านั้น

ส่วนในคืนลอยกระทง พระและคนเฒ่าคนแก่ จะปล่อย “กม(โคม)ไฟ” ทำจากกระดาษว่าวบางๆ เอามาต่อกันเป็นลูกกลมๆ แต่ลูกเล็กกว่า “กมลม” ท่ีปาก”กมไฟ” จะมีห่วงผ้าหรือกระดาษชุบน้ำมันหรือเชื้อเพลิงท่ีติดไฟ เมื่อจุดไฟให้ความร้อน จน”กมไฟ”โป่งตึงเต็มท่ี ดึงแทบไม่อยู่ จึงปล่อยขึ้นฟ้า คืนกนึ่งจะปล่อยเพียง ลูกถึงสองลูกเท่านั้น ไม่ใช่ใครๆ ก็ปล่อย “กมไฟ” ได้เป็นหมื่นๆ ลูก จนเกิดอันตรายเหมือนปัจจุบัน

ทางด้านผู้ใช้ชื่อว่า Baramate Wannasai ได้โพสต์การปล่อยโคมควันหรือกมลมว่า จารีตอันงดงาม ปล่อยโคมบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี ในวันเดือนยี่เป็ง งานยี่เป็งเมืองลำพูน พร้อมฟังเทศน์มหาชาติไปด้วย ช่างได้บรรยากาศเมื่อเป็นละอ่อน ท่ามกลางประชาชนเยาวชน และนักท่องเที่ยว ดำเนินการโดยเทศบาลเมืองลำพูน ด้วยข้อจำกัด กับข้อห้าม ประกอบกับระเบียบความปลอดภัย ต่ออากาศยานบนอากาศในโลกปัจจุบัน วันนี้ทุกคนจึงมีความสุขกับการปล่อยลมหายใจรูเล็กๆ ภายในสองชั่วโมงในการปล่อยโคม เพื่อส่งต่อไปยังคนรุ่นหลังต่อไป ขอบคุณทางราชการเป็นอย่างมากยังเห็นใจเข้าใจจารีตประเพณีของชาวเรา

ขณะที่นางเปรมฤดี กุลสุ อดีตนายกสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ ได้โพสต์แสดงความเห็นในเฟสบุ๊คว่า”นี่หรือ คือ วัฒนธรรมที่เราอยากขาย”แล้วประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นของเราจริงๆ วัฒนธรรมที่เราอยากโชว์ อยากอวด ไปอยู่เสียที่ไหน….เราควรเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อให้เขามาเห็นถึงประเพณีวัฒนธรรมของเราไม่ใช่หรือ ไม่ใช่เปิดบ้านเพื่อให้ นทท. มาทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ(โดยมีเจ้าบ้านบางพวกยินยอม) จนคุณค่าของประเพณี วัฒนธรรม เสื่อมถอยไปทุกที มีแต่เปลือก

ปิดร้านแล้วเดินไปที่จอดรถที่ริมปิง เห็นความวุ่นวายกลางสะพาน   นวรัฐแล้วหดหู่ใจ นทท. ทั้งไทยเทศ กับมหกรรมการปล่อยโคมลอย เละเทะ วุ่นวาย มีแต่คนต่างถิ่นกับต่างชาติ… มองไม่เห็นความงดงามใดๆ ของประเพณี ปล่อยให้เขามาเผาลูกไฟเล่น ที่ทำไม่เป็นก็ไหม้แล้วตกลงมาใกล้บ้านคนก็เห็นเยอะ คนจุดสนุก จะไปตกที่ไหน ไม่รู้ ไม่สนใจ ถ้าไฟไหม้แล้วจะโทษใครก็เราไปยอมให้เขาเล่นเอง ….คนเชียงใหม่จริงๆ ต้องเฝ้าบ้านให้อยู่รอดปลอดภัยจากภัยของไฟ และพรุ่งนี้ คนเชียงใหม่ต้องรอเก็บขยะที่จะหล่นจากฟ้าเป็นแสนๆ ดวง ..และคนเชียงใหม่บางคนก็ได้แต่ตาปริบๆ มองความเสื่อมถอยของประเพณี วัฒนธรรม ….เรื่องแบบนี้ใครควรเป็นผู้กำกับดูแล จังหวัด? เทศบาล? สนง. วัฒนธรรมจังหวัด ? สภาวัฒนธรรม? สนง.ท่องเที่ยว? มีบทบาทอะไรกันบ้าง

เราเห็นภาคประชาสังคมบางส่วน บางที่ พยายามทำเพื่อรักษาประเพณีที่ดีงาม แต่ส่วนกลางหรือกลางเมืองทำเละเทะกันแบบนี้ แล้วอย่างนี้การออกแรงของกลุ่มชาวบ้าน และกลุ่มประชาสังคมเพียงหยิบมือจะสู้ไหวได้อย่างไร….ทำอย่างไรดี เราโทษ นทท. ไม่ได้หรอก เพราะเราเจ้าบ้าน(ที่มีหน้าที่กำกับดูแล ไล่ตั้งแต่ผู้ว่ามาเลยหละ)ยอมให้เขาทำ …..จะทำอะไรได้บ้างสำหรับปีต่อๆ ไป ให้เราเป็นเจ้าบ้านและเป็นเจ้าของประเพณีอย่างแท้จริง และให้ผู้มาเยือนเห็นถึงความงดงามของวัฒนธรรมมากกว่าความสนุกสนานในการปล่อยโคมลอย(ปล ข่าวว่ามีโคมลอยนำเข้าจากจีนมาเยอะมาก)เราก็ได้แต่บ่น แต่เราก็แค่คนธรรมดาๆ จะไปทำอะไรได้

เช่นเดียวกับนางคำศรีดา แป้นไทย นักสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่า ป่วยการจะร้องขอความร่วมมือเรื่ิองการปล่อย “โคมลอย” เพราะมันกลายเป็น   เทรดมาร์คที่ทำเงินให้แหล่งท่องเที่ยวและกลุ่มทัวร์ไปเสียแล้ว แต่จริงๆมันมีทางออกอยู่ อยู่ที่จะเลือกทำและเอาด้วยรึปล่าว คุณจะสามารถหาเงินได้ทั้งปีทัั้งชาติกับการจุดโคมลอย คนทำโคมขายก็จะได้เงินตลอดปี เพียงปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองวิธีการใหม่ๆที่คนส่วนใหญ่จะได้สบายใจ ไม่ต้องยกเลิกเที่ยวบิน ไม่ต้องหวาดระแวงจะทำไฟไหม้บ้านใครอีก เอามั้ยล่ะ

ปิดท้ายด้วยข้อความสั้นๆ จากอาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การลอยกระทงกับการปล่อยโคมไฟมีค่าเท่ากัน คือ การปล่อยขยะ – อันหนึ่งปล่อยลงน้ำ อีกอันหนึ่งปล่อยขึ้นฟ้า(แล้วตกลงมาสร้างความเสียหาย)

แม้วันนี้จะมีหลายภาคส่วนออกมาเรียกร้อง สะท้อนถึงปัญหา ผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่มีเสียงตอบรับหรือขานรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าภาครัฐจะให้ความสนใจกับประเด็นเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน หรือจะปล่อยให้ “วัวหายแล้วล้อมคอกกันวัว”ก็ยากที่จะคาดเดาได้.

You may also like

ดีป้า ปิดท้ายกิจกรรม Coding Inspire กระตุ้นเยาวชนเข้าถึงโค้ดดิ้งเท่าเทียมและทั่วถึง
ภายใต้ โครงการ Coding for Better Life ‘สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย

จำนวนผู้