ในยุคที่หลักไมล์ของประเทศ ตั้งไว้ที่ “ไทยแลนด์ 4.0” หวังมุ่งหมายให้บ้านเมืองขับเคลื่อนด้วยความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่สิ่งที่ไม่อาจละเลยได้ คือวิถีชีวิตอันงดงามของสังคมไทย ทั้งเรียบง่าย โอบอ้อมอารี เกื้อกูล แบ่งปันเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน แม้จะยากต่อการต้านทานการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ก็น่าจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อไม่ให้สังคมเปลี่ยนสภาพเร็วเกินไปนักแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ คือการเตรียมความพร้อมให้กับคนในสังคมไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ให้อยู่กับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข ธำรงคุณค่า และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันต้องเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ “เรียนรู้ร่วมกัน สร้างสรรค์สังคม” จากรุ่นสู่รุ่น จากเพื่อนสู่เพื่อน จากผู้ใหญ่สู่เด็ก เพื่อเพิ่มทักษะชีวิตในทุกๆ ด้าน อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21
จากเหตุผลดังกล่าว ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม ได้ดำเนินโครงการเยาวชนสร้างสรรค์ปันสุข เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้รวมกลุ่มและสร้างสรรค์กิจกรรมอย่างที่อยากจะทำ ด้วยการบ่มเพาะความคิด ฝึกฝนการปฏิบัติ โดยมุ่งหมายให้เยาวชนมีความสุขกับการดำเนินชีวิต ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รู้จักพึ่งตนเอง และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์สิทธิชัย แก้วเกิด ผู้จัดการโครงการเยาวชนสร้างสรรค์ปันสุข กล่าวว่า โครงการนี้อยากให้เด็กและเยาวชนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งชุมชนในทุกระดับ มีส่วนช่วยกระตุ้นและจุดประกายชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ โดยเด็กๆ จะได้เรียนรู้ผ่านการทำงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือกับผู้อื่น ตลอดถึงการสื่อสารกับบุคคลรอบข้าง แก้ปัญหาด้วยปฏิภาณไหวพริบตามสถานการณ์ต่างๆ
นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการสร้างพื้นที่ที่ดีสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสะท้อนการเรียนรู้ วิถีการสร้างสรรค์พื้นที่และกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม การบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับหลักการด้านคุณธรรมและจริยธรรมอันเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของเยาวชนไทยเพื่อการดำเนินชีวิตที่ดี สร้างประโยชน์ต่อตนเอง ต่อชุมชนอย่างสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและปัญหาใกล้ตัวเป็นที่ตั้งโครงการเยาวชนสร้างสรรค์ปันสุขจึงเป็นการหนุนเสริมให้เด็กและเยาวชนรวมกลุ่ม แลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิด เพื่อพัฒนาโครงการร่วมกัน ให้เกิดการสร้างสรรค์กิจกรรม ที่สร้างสรรค์สุขภาวะ ตามปัจจัยและเงื่อนไขในพื้นที่ อันจะนำไปสู่การพัฒนาทักษะเด็กเยาวชนในกลุ่มเอง และเป็นการจุดประกายชุมชนให้มีส่วนร่วมในการเอื้อให้เกิดการขับเคลื่อนระบบที่ดีต่อสุขภาวะ
“น้องฟลุ๊ค” อังชุนันท์ สาโรจน์ และ “น้องดาว” วิศวรรณ เยอต๊ะ ทั้งสองมาจากวิทยาลัยเทคนิคพะเยา ได้เข้าร่วมกับโครงการเยาวชนสร้างสรรค์ปันสุขนี้เช่นกัน โดยคิดค้นโครงการของตนเองชื่อ โครงการผ้าปักลายเยาวชนทั้งสองร่วมกันอธิบายว่า คำว่า ผ้าปักลาย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโครงการ เกิดจากความสนใจของสมาชิกในกลุ่มทั้งหมด 6 คน ที่มีต่อลายปักผ้าอันงดงามของชาวเขาเผ่าอาข่า จึงตกลงร่วมกัน ว่าจะชวนกันฝึกปักผ้า เมื่อได้มาแล้วก็นำผ้านั้นไปเพิ่มมูลค่า ด้วยการผลิตเป็นของใช้หรือของที่ระลึก ดีไซน์เก๋ไก๋ เมื่อขายได้ก็นำรายได้ไปบริจาคเพื่อการกุศล
น้องฟลุ๊ค บอกว่า โครงการนี้ได้ช่วยเพิ่มทักษะการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันในทีม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชีวิตการทำงานในอนาคต ขณะเดียวกันเพื่อนๆ ในวิทยาลัยก็ได้เพิ่มทักษะฝีมือในการปักผ้า แม้จะเป็นแค่การปักผ้า แต่ก็จะเป็นการฝึกสมาธิ ให้มีจิตใจจ่อได้อย่างดีระหว่างที่ทำกิจกรรมตามโครงการ ทั้งน้องฟลุ๊คและน้องดาวได้ประกาศชักชวนเพื่อนๆ ในวิทยาลัยให้มาทำกิจกรรมนี้ร่วมกัน จนได้ผ้าปักผืนสวยสมความตั้งใจ
ขณะที่น้องๆ ม.4 จากโรงเรียนบ้านกล้อทอ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก ประกอบด้วย น้องสาย หรือ น.ส.มะชะพู่ น้องกีต้าร์ หรือ น.ส.วันดี โพธิ์ประสพโชค น้องแบม หรือ น.ส.เกเก๊ และน้องกานต์ หรือ ด.ญ.ชนิกานต์ สาครมาลี ได้ทำ โครงการขยับกายเพื่อชีวี หัตเวชวิถีอนุรักษ์ภูมิปัญญากล้อทอ โดยให้เหตุผลที่เลือกทำโครงการนี้ เพราะต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอ อันเป็นชาติพันธุ์ของตนเองการ “ขยับกายเพื่อชีวี” นั้น จะนำการเต้นรำของชาวปกาเกอะญอ 3 แบบ ได้แก่ รำดง รำจิกกรี้ และรำเกลียวเชือก มาประกอบการออกกำลังกาย ส่วน “หัตถเวชวิถี” คือการเข้าไปเรียนรู้การนวดแบบปกาเกอะญอ โดยมีหมอนวดผู้มีประสบการณ์ เป็นผู้สอน
“พวกเราจะเริ่มฝึกกันในกลุ่ม ซึ่งมีทั้งหมด 12 คนก่อน จากนั้นจะไปชวนเพื่อนๆ ทั้งโรงเรียน ซึ่งมีประมาณ 1,000 คน มาร่วมทำกิจกรรม” น้องสาย หรือ มะชะพู่ บอก ขณะที่น้องกีต้าร์ ก็เสริมว่า การเป็นนักเรียนกิจกรรมไม่ได้ทำให้เสียการเรียน แต่กลับกันพวกเธอได้ความรู้มากขึ้นจากการเข้าไปพูดคุยกับปราชญ์ชนเผ่าที่ทุกๆ คนนับถือ ประสบการณ์ที่เด็กๆ และเยาวชนได้รับหลังจากเข้าร่วมกับโครงการเยาวชนสร้างสรรค์ปันสุข คือทักษะชีวิตที่หาไม่ค่อยได้นักในชั้นเรียน นับเป็นการเตรียมตัว รับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้.