เลี้ยงไก่ไข่-ปลูกผักสวนครัว เติมทักษะชีวิตสู่ชาวมลาบรี

เลี้ยงไก่ไข่-ปลูกผักสวนครัว เติมทักษะชีวิตสู่ชาวมลาบรี

าวเขา” ม่านมายาคติ ที่กีดกันคนชายขอบออกจากโอกาสในทุกๆ ด้าน ทำให้ถูกมองเป็นอื่น หรือคนอื่น ที่ไม่ใช่พวกเรา ชาวเรา ส่งผลให้คนกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงโอกาสในการพัฒนาทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิทางด้านการศึกษา สาธารณสุข หรือแม้กระทั่งความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง โดยเฉพาะชนเผ่ามลาบรี  มักจะถูกเรียกว่า“ผีตองเหลือง” แสดงให้เห็นถึงเหยียดสถานะให้ต่ำกว่าคน♣ เด็กน้อยยังด้อยคุณภาพชีวิต

ภาพของเด็กเล็กที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัยเตาะแตะ ชุมชนมลาบรี ที่บ้านห้วยหยวก หมู่ 6 ต.แม่ขะนิง อ.เวียงสา จ.น่าน เป็นหวัดน้ำมูกที่ไหลตลอดทั้งปี แม้จะยังไม่ถึงช่วงอากาศหนาวเหน็บ ซ้ำมีอาการอุจจาระเหลว ถ่ายไม่ต่ำกว่าวันละ 5 ครั้ง/คน หลายคนเป็นปากนกกระจอก ทำให้ครูที่มีเพียง 2 คน ต้องทำงานวุ่นตลอดทั้งวัน ขณะที่ผู้ปกครองสาละวนกับการออกไปรับจ้างนอกชุมชน สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน  “ครูแอน” ผกาวรรณ ขาเหล็ก เล่าว่าทางศูนย์รับเด็กตั้งแต่อายุ 1 ปี 6 เดือนขึ้นไป และปัจจุบันมีผู้ปกครองมลาบรีนำลูกหลานมาฝากไว้ 20 กว่าคน ซึ่ง 95% มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และอาการถ่ายท้องเกินวันละ 5 รอบ ของเด็กแต่ละคน ถ้าหากเป็นเด็กในเมือง หรือกระทั่งเด็กพื้นเมือง คงวิ่งหาหมอตั้งแต่วันแรก แต่ดูเหมือนคนมลาบรีจะเคยชินกับอาการดังกล่าวคล้ายเป็นเรื่องปกติ จึงไม่คิดว่าต้องรักษาแต่อย่างใดทุกเช้าตรู่จะมีรถปิคอัพของม้งในชุมชนใกล้เคียง เข้ามาขนแรงงานมลาบรีออกไปทำงานในไร่ข้าวโพด กว่าจะกลับเข้าบ้านอีกครั้งก็เย็นย่ำใกล้มืด จำเป็นต้องนำลูกหลานมาฝากไว้ทั้งที่เด็กส่วนใหญ่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ บางรายพ่อแม่รับทำงานรับจ้างเหมาแบบรายปี เมื่อถึงช่วงฤดูกาลเพาะปลูกก็จะพาลูกๆ ไปด้วย ทำให้จำนวนเด็กในศูนย์ไม่คงที่ และเท่าที่ครูช่วยได้ก็คือการสอบถามให้แน่ชัดว่าไปกี่วัน เพื่อเบิกนมโรงเรียนให้เด็กได้ดื่มในช่วงที่ต้องติดตามพ่อแม่ด้วย จะได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย“แม้โดยอาชีพจะเป็นครูเด็กเล็ก หากในความเป็นจริง ต้องรับทุกบทบาท ตั้งแต่แม่บ้าน คอยปัดกวาดเช็ดถูศูนย์ ซักเสื้อผ้า อาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายให้เด็กทุกวัน ทว่าก็หนีไม่พ้นความขะมุกขะมอม เพราะเมื่อกลับบ้านเด็กจะเล่นคลุกดินคลุกฝุ่นตามธรรมชาติ ยามหมู่บ้านมีปัญหาน้ำไม่ไหล ไฟดับ ครูก็ต้องแปลงร่างเป็นช่างไฟ ช่างประปา เข้าไปช่วยแก้ไข หรือแม้กระทั่งมีคนเจ็บป่วย ครูก็ทำหน้าที่เป็นหมอ หรือพยาบาล จ่ายยาที่ได้รับจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้คนเจ็บป่วยเป็นครั้งๆ ไป ไม่สามารถแจกจ่ายยาสามัญให้แต่ละหลังคาเรือนนำไปเก็บไว้ได้ ด้วยเกรงว่าจะใช้แบบผิดๆ ถูกๆ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์” ครูแอน อธิบาย♣ วัยแรงงานถูกกดขี่-คุกคามทางเพศ

“ไล” สุภิตา หิรัญคีรี หญิงสาวชาวมลาบรีบ้านห้วยหยวก บอกว่า มลาบรีทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นพี่น้องกัน แต่เมื่อย้ายออกจากป่าเพื่อตั้งชุมชน ตามนโยบายของรัฐ ก็ไม่ได้ติดต่อกันมากนัก เพราะส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น โทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ต ซ้ำวิถีเมืองที่แตกต่างจากป่าอย่างสิ้นเชิง ก็ทำให้แต่ละครอบครัวต้องสาละวนกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่มีเวลาเป็นของตัวเองมากนักโดยครอบครัวของเธอ ย้ายจากบ้านท่าวะ หย่อมบ้านเล็กๆ ใน อ.สอง จ.แพร่ ที่มีประชากรแค่ 7 ครอบครัว ประมาณ 35 คน แต่ภายหลังย้ายมาอยู่ที่บ้านห้วยหยวก 2 ครอบครัว เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการค้าแรงงาน นายทุนที่อาศัยอยู่ใกล้บ้านท่าวะ ได้ว่าจ้างให้คนมลาบรีไปทำงานด้านการเกษตร อ้างว่าจะจ่ายแพงกว่าที่อื่นๆ คือปีละ 7,500 บาท/คน ในขณะที่อื่นจ่ายค่าแรงปีละ 5,000 บาท หากวันไหนมีธุระสำคัญไม่สามารถไปทำงานได้ จะถูกหักเงินวันละ 200 บาท หากทำงานมาจนครบปีก็ไม่มีใครได้รับเงิน 7,500 บาทดังกล่าว“นายทุนบอกว่าไม่จ่ายเงินเพราะหักหนี้ ที่มลาบรีบางคนยืมมาซื้อรถมอเตอร์ไซด์มือสอง แต่ไม่ว่าจะทำงานกี่ปีหนี้ก็ไม่เคยหมด แถมพอกพูนมากกว่าเดิม เนื่องจากมลาบรีคำนวณไม่เป็น ซ้ำนายทุนบางรายยังใช้สุราเป็นค่าแรง ทำให้คนงานมลาบรีติดเหล้า ทำงานหนัก ตั้งแต่ 7 โมงเช้า-5โมงเย็น แลกกับการได้ดื่มเหล้า ถือเป็นการเอาเปรียบ และกดขี่เสมือนแรงงานทาส” ไล สะท้อนภาพปัญหาที่สำคัญคือญาติผู้น้องรายหนึ่งที่อาศัยอยู่บ้านท่าวะ ถูกนายจ้างข่มขืนระหว่างออกไปทำงาน แต่ผู้นำไม่ยอมให้ไปแจ้งความ อ้างว่าต้องให้อภัยและรอดูพฤติกรรมอีกสักครั้งว่าจะทำผิดซ้ำอีกไหม ทั้งที่ทราบกันดีว่านายจ้างรายนี้เคยข่มขืน และลวนลามลูกจ้างสาวหลายราย คนงานผู้หญิงต้องคอยระวังตัว ไม่ไปทำงานตามลำพัง หากแต่งงานแล้วก็จะไปพร้อมสามี และล่าสุดก็ทราบว่าญาติสาวที่โดนข่มขืนเสียชีวิตแล้วปัจจุบัน คนที่ย้ายมาอยู่บ้านห้วยหยวก 2 ครอบครัว พบว่านายทุนยังตามมาข่มขู่ทวงหนี้ ถ้าไม่กลับไปทำงานจะแจ้งตำรวจ ทำให้ผู้นำอีกครอบครัวหนึ่งเครียดจัด ถึงกับฆ่าตัวตาย และทิ้งหนี้สินไว้ให้ภรรยากับลูกต้องรับภาระต่อไป♣ ช็อกทางวัฒนธรรม-ไร้ทักษะการใช้ชีวิตในเมือง

ศักดา แสนมี่  ผู้อำนวยการศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท.) เล่าว่าจากประสบการณ์ทำงานกับชุมชน มามากกว่า 25 ปี ทำให้มองเห็นปัญหาที่ชาวบ้านแต่ละชุมชนเจอ ทั้งด้านวัฒนธรรม ประเพณี การศึกษา การจัดการทรัพยากร รวมถึงสุขภาพ แต่ทาง ศ.ว.ท. ไม่มีโครงการรองรับเพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้ จึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 6 ทำชุดโครงการ”เสริมสร้างสุขภาวะชุมชนบนพื้นที่สูงบนฐานวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง” สนับสนุนให้ชาวบ้านที่อยากแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง พัฒนาเป็นโครงการนำเสนอเข้ามา โดยในปีแรกนี้ได้คัดเลือกไว้ประมาณ 30 โครงการ จาก 12 ชาติพันธุ์ ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และน่านเป็นที่รู้กันว่าการผลิตและการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ทำให้คนยุคใหม่ต้องพึ่งพาอาหารจากตลาด ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพ และไม่มีความปลอดภัย เพราะมีการใช้สารเคมีในขั้นตอนการผลิต ประกอบกับบางชาติพันธุ์เกิดการช็อกทางวัฒนธรรมอย่างรุนแรง เช่น มลาบรี หรือตองเหลือง ที่เคยอาศัยและหากินกับป่าอย่างพอเพียง ไม่มีการกักตุนอาหาร ต้องการแค่ไหนก็เสาะหาแค่นั้น และย้ายที่อยู่อาศัยไปเรื่อยๆ ทำให้ป่าฟื้นตัวและยังความอุดมสมบูรณ์ได้ตลอด แต่ด้วยนโยบายรัฐ โดยเฉพาะปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทำให้ต้องย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนอย่างมีหลักแหล่งผอ.ศ.ว.ท. บอกว่าเด็กและวัยรุ่นอาจปรับตัวได้ เพราะเข้าสู่ระบบโรงเรียน เมื่อเรียนจบก็ทำงานข้างนอก ถูกระบบการศึกษาและสังคมดูดกลืนจนมองไม่เห็นคุณค่าของชาติพันธุ์ตนเอง ขณะที่วัยแรงงานออกไปทำงานรับจ้างนอกถิ่น เหลือเพียงผู้สูงอายุอยู่ในชุมชนที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน  ส่งผลให้ขาดศักยภาพในการหาอาหาร ไม่รู้จักการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ หรือแม้แต่การถนอมอาหารไว้รับประทานในยามขาดแคลนซึ่งจากการพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ของชนเผ่ามลาบรี ทำให้ทราบว่าพวกเขาคิดถึงป่ามาก เมื่ออาศัยอยู่ในป่าไม่เคยรู้สึกหิวโหย อยากกินอะไรในป่ามีหมด เจ็บป่วยก็มียารักษาจากป่า แต่เมื่อต้องเข้ามาอยู่ในชุมชนเป็นหลักแหล่ง วิถีชีวิตความเป็นอยู่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่มีอาหารธรรมชาติให้เก็บกิน แม้วัยแรงงานจะออกไปรับจ้างได้เงิน หากความรู้ที่ไม่เท่าทัน ก็ทำให้รายได้ไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว กลายเป็นหนี้ท่วมหัวแบบไม่รู้ตัวเลขแน่ชัด และทำงานชดใช้อย่างไรก็ไม่มีวันหมด“สถานการณ์ดังกล่าว จำเป็นต้องใช้โครงการเข้าไปเสริมสร้างศักยภาพในการหาอาหาร และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของกลุ่มชาติพันธุ์ในแต่ละพื้นที่   เช่น โครงการส่งเสริมทักษะชีวิตด้วยการเลี้ยงไก่ไข่ ชุมชนห้วยหยวก (มลาบรี) หมู่ 6 ต.แม่ขะนิง อ.เวียงสา เพื่อให้มีไข่ไว้เป็นอาหารโปรตีน หรือส่งเสริมเกษตรหลังบ้านความพอเพียงชุมชนภูฟ้า (มลาบรี) หมู่ 3 ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ เน้นให้ปลูกผัก แปรรูป ถนอมอาหาร เก็บไว้รับประทานในระยะยาว ” นายศักดา อธิบายย้ำ

 ♣ เลี้ยงไก่ไข่เพิ่มอาหารโปรตีน ปรับวิถีดำรงชีพนอกผืนป่า

ฉลองชัย ดอยศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยหยวก และผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมทักษะชีวิตด้วยการเลี้ยงไก่ไข่ชุมชนห้วยหยวก (มลาบรี) เล่าว่า มลาบรีเริ่มทยอยออกจากป่ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านห้วยหยวก ตั้งแต่ปี 2540 ปัจจุบันมี 32 หลังคาเรือน ประชากร 182 คน ซึ่งแม้เวลาจะผ่านมาร่วม 20 ปี แต่การปรับตัวของคนที่เคยอยู่กับป่าแบบเกื้อกูลกันมาตลอด แล้วต้องเข้ามาอยู่ในพื้นที่ถาวรของสังคมคนเมือง ที่มีการแก่งแย่งแข่งขันทุกด้านนั้น ยังถือว่าไม่เพียงพอ วิถีดั้งเดิมมลาบรีจะไม่เพาะปลูก เมื่อออกมาอยู่ข้างนอกจึงขาดความรู้ในเรื่องนี้“การเลียนแบบวิถีเพาะปลูกจากชุมชนรอบข้างอย่างไม่มีการวิเคราะห์ รวมถึงใช้สารเคมีโดยไม่รู้วิธีป้องกัน ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ซ้ำวิถีชีวิตที่รีบเร่ง ต้องออกไปเป็นแรงงานรายปีให้ชุมชนใกล้เคียง ก็ทำให้ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแล และจัดหาอาหารให้สมาชิกในครอบครัว ชุมชนต้องพึ่งพาอาหารจากพ่อค้าที่มาขายในหมู่บ้านเป็นหลัก เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และด้วยรายได้ที่ไม่เพียงพอ  จึงไม่สามารถจัดอาหารที่เพียงพอและมีประโยชน์ให้แก่ครอบครัว” ฉลองชัย กล่าวการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ปศุสัตว์ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเข้ามาอบรมเรื่องการเลี้ยงไก่ไข่ จึงเป็นประโยชน์สำหรับชุมชนมาก เพราะจะมีอาหารโปรตีนให้เด็กๆ และคนในชุมชน แต่เนื่องจากไม่มีงบในการดำเนินการเลี้ยงไก่ต่อ ทางผู้นำชุมชนจึงทำประชาคม และพัฒนาโครงการส่งเสริมทักษะชีวิตด้วยการเลี้ยงไก่ไข่ในชุมชนห้วยหยวก (มลาบรี)ขึ้น โดยเน้นทักษะกระบวนการทำงานเป็นทีม การบริหารจัดการกลุ่มให้มีประสิทธิภาพตลอดจนมีทักษะในการเลี้ยงไก่ไข่เบื้องต้น ได้ซื้อไก่ไข่มาเลี้ยง 50 ตัวๆ ละ 230 บาท ซึ่งนอกเหนือจากการจัดเวรวันละ 2-3 คน ดูแลให้อาหารเช้า-เย็นแล้ว ยังช่วยกันทำอาหารเสริมจากต้นกล้วย หมักกับอีเอ็ม กากน้ำตาล รำข้าว ปลายข้าว และพืชผักในชุมชน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนของอาหารเม็ด โดยช่วงสัปดาห์แรก เก็บไข่ได้เพียงวันละ 5-6 ฟอง ก็นำมาต้ม หรือหลามในกระบอกไม้ไผ่อย่างเรียบง่าย ไม่ปรุงรส คล้ายกับตอนที่อยู่ในป่า เมื่อมีคนเก็บไข่ไก่ป่า ไข่งู หรือไข่นกได้ ก็จะนำมาหลามแบ่งกันกิน และในอนาคตหากการเลี้ยงไก่ไข่รุ่นแรกได้ผลดี ก็จะใช้เป็นบทเรียน และนับเป็นองค์ความรู้ใหม่ ในรุ่นต่อไปจะเพิ่มจำนวนไก่ให้มากขึ้น  ให้มีไข่ไก่บริโภคในชุมชนอย่างพอเพียง   ♣ เกษตรหลังบ้าน อาหารปลอดภัยของชุมชนภูฟ้า

ด้าน “ติ๊ก” อรัญวา ชาวพนาไพร ผู้นำมลาบรีชุมชนภูฟ้า ซึ่งเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ร่วมกับ ศ.ว.ท.และ สสส.สำนัก 6 ทำโครงการส่งเสริมเกษตรหลังบ้านความพอเพียงชุมชนภูฟ้า(มลาบรี) เล่าว่า ปัจจุบันมลาบรีในประเทศไทยมีประชากรทั้งหมดแค่ 435 คน อาศัยอยู่ใน 5 หย่อมบ้าน ที่ จ.น่าน 3 หย่อมบ้าน และ จ.แพร่ 2 หย่อมบ้าน และแม้ว่ามลาบรีที่ชุมชนภูฟ้า จะมีเพียง 19 ครัวเรือน 78 คน ซึ่งอพยพมาจากบ้านห้วยฮ่อม อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา แต่โชคดีที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมภูฟ้าขึ้น เป็นแหล่งเรียนรู้กับชาวมลาบรีในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เพื่อการปรับตัวในอนาคต“ชาวบ้านประกอบอาชีพปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ รับจ้างอุทยานแห่งชาติดอยภูคาปลูกป่า ผู้หญิงทำหัตถกรรมสานกระเป๋าจากเถาวัลย์ป่า ผู้ชายหาน้ำผึ้งป่าตามฤดูกาล แต่ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของชุมชนตั้งอยู่ในเขตอุทยานดอยภูคา ทำให้มีพื้นที่ในการเพาะปลูกจำกัด พืชผักไม่เพียงพอต่อการบริโภค จำเป็นต้องซื้อจากข้างนอก โดยไม่สามารถควบคุมการปนเปื้อนของพืชผัก ในการทำโครงการส่งเสริมเกษตรหลังบ้านความพอเพียงชุมชนภูฟ้า (มลาบรี) จึงปลูกทั้งพืชผักพื้นบ้าน เช่น มะค่า ผักแว่น กับพืชพันธุ์ที่นำมาจากข้างนอก อาทิ ผักบุ้ง ถั่ว แตงกวา เพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้และปรับตัวกับการใช้ชีวิตตามวิถีคนเมือง นำพืชผักที่ปลูกมาประกอบอาหารที่ปลอดภัยต่อร่างกาย และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้” ผู้นำชุมชนคนเดิม กล่าววีระ ศรีชาวป่า ชาวชุมชนภูฟ้า บอกถึงสาเหตุของการย้ายถิ่นฐานจาก จ.แพร่ มาที่ชุมชนภูฟ้าว่า ได้รับการชักชวนจากผู้นำที่หว่านล้อมให้เห็นว่าที่อยู่เดิมแม้จะมีสิ่งสาธารณูปโภค น้ำ ไฟ ครบครัน แต่ชาวมลาบรีก็เป็นได้แค่ลูกจ้าง ปลูกข้าวโพด กะหล่ำปลีให้นายทุนเผ่าอื่น ซ้ำยังใช้สารเคมีในปริมาณมาก การมาอยู่ที่ชุมชนภูฟ้า เสมือนได้กลับมาใช้ชีวิตบนฐานรากเหง้าของตัวเอง ถึงป่าจะไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม หากทุกคนก็สามารถปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ทำมาหากินด้วยตนเอง ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ในด้านต่างๆ เช่น การทำปุ๋ยหมัก เชิญวิทยากรข้างนอกมาอบรม และนำมาพัฒนาชุมชนให้สามารถดำรงอยู่ได้ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงทุกวันนี้ ไม่เพียงแค่ผู้ใหญ่ในชุมชนที่รู้จักการทำเกษตร เด็กๆ มลาบรี ก็ได้เรียนรู้การทำเกษตรหลังบ้านด้วย เพราะพืชผักที่ปลูกในแปลงรวม จะแบ่งกันดูแล เช่น วันเสาร์ให้เด็กนักเรียนช่วยกันรดน้ำ พรวนดิน วันจันทร์เป็นหน้าที่ของกลุ่มแม่บ้าน เป็นต้น♠ เราทุกคนล้วนเป็นชาติพันธุ์

น.พ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อกลั่นกรองทางวิชาการของ สสส. อธิบายว่า จากการลงพื้นที่พูดคุยกับชุมชนมลาบรีใน จ.น่าน จะเห็นว่ามลาบรีทุกคนเป็นพี่น้องกัน วิถีชีวิตดั้งเดิมอาจไม่เคยปักหลักตั้งฐาน การเข้ามาอยู่รวมกันเป็นชุมชนอย่างถาวร จึงเป็นการเริ่มนับหนึ่ง และผลลัพธ์ที่เห็นก็บ่งชี้ว่าชาวมลาบรีทำได้ หากท่ามกลางสังคมโลกที่ซับซ้อน มีการเอารัดเอาเปรียบกันแทบทุกหย่อมหญ้า ก็จำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน อาทิ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน, หน่วยจัดการต้นน้ำ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, ศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย หรือหน่วยงานอื่นๆ ต้องช่วยเป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้มลาบรีมีหลักพิงที่แข็งแรงยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม หัวใจอยู่ที่การจัดการของมลาบรีเอง ต้องตั้งหลักให้ดี ไม่กระโจนลงไปทุกอย่าง เนื่องจากสิ่งเร้าที่ยั่วยุมีอยู่รอบด้าน ฉะนั้นกลั่นกรองให้ดี ว่าจะเลือกทำอะไร อย่างไร เพื่อให้เข้าถึงจุดหมายที่ต้องการอย่างปลอดภัยวีรพงษ์ เกรียงสินยศ  ผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อกลั่นกรองทางวิชาการของ สสส. อีกรายหนึ่ง กล่าวเสริมว่าขณะนี้งานของ สสส.ที่ทำกับกลุ่มชาติพันธุ์มีหลายสำนัก แต่สำหรับสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม หรือสำนัก 6 เป็นการริเริ่มกับกลุ่มเล็กๆ เปิดโอกาสให้เขาทำงานกับมิติสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นมิติที่กว้างไกลมาก และโดยส่วนใหญ่จะไม่ได้พูดถึงมิติทางสังคมวัฒนธรรม ทั้งที่มิตินี้มีความหมายต่อการดำรงชีวิตและคุณภาพชีวิต ดังนั้นสำนัก 6 จึงเข้าไปสนับสนุนส่วนนี้ เพื่อให้กลุ่มคนเล็กคนน้อยได้ทำงานเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ ส่วนการเปลี่ยนแปลงหรือผล ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีขึ้นไป“ปีแรกอาจเป็นปีของการริเริ่ม แต่ถ้ามองเฉพาะปีแรกก็คิดว่ามีความหมายและได้ผล เพราะงานสร้างเสริมสุขภาพ หัวใจคือการรวมกลุ่ม ทำให้องค์กรหรือชุมชน มีความเข้มแข็งขึ้น ส่งผลถึงการคลี่คลายหรือแก้ปัญหาในประเด็นสุขภาพต่างๆ ได้ และทางสำนัก 6 อยากเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในเมืองไทยทุกคนเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อทำงานให้กับชุมชนท้องถิ่นของตัวเอง  รวมถึงทำในสิ่งที่ตอบสนองต่อพื้นที่ ชุมชน หมู่บ้านของตัวเองอย่างแท้จริง แต่ก็ต้องมีการติดตามประเมินผลเพื่อช่วยสนับสนุนให้งานบรรลุผล ไม่ใช่ให้ทุนแล้วปล่อยไปเลย เพียงแต่ผลสัมฤทธิ์ในปีแรกอาจยังไม่ถึง 100 ต้องทำต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี” วีรพงษ์ กล่าวย้ำโดยกิจกรรมหรือโครงการเกี่ยวกับการเกษตรที่นำใช้อยู่ในชุดโครงการ “เสริมสร้างสุขภาวะชุมชนบนพื้นที่สูงบนฐานวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง”  สามารถใช้ได้แทบจะทุกกลุ่ม แม้กระทั่งเกษตรในเมือง เพราะงานด้านเกษตรใกล้ชิดกับมนุษย์มาก มนุษย์กับเกษตรเติบโตมาด้วยกัน เมื่อเป็นสังคมเมืองก็จะเป็นเกษตรในเมือง หรือสวนผักคนเมือง ที่ไม่ใช่แค่ปลูกผัก แต่เลี้ยงสัตว์ด้วย จึงคิดว่าโครงการเหล่านี้จะสามารถนำไปใช้แก้ปัญหากับทุกกลุ่มได้ เนื่องจากมนุษย์ทุกคนบนโลกล้วนเป็นชนเผ่าใดชนเผ่าหนึ่ง เพียงแต่ว่าบางชนเผ่าคือชนเผ่าพื้นเมืองเล็กๆ ที่ในอดีตอาจไม่ได้รับการสนับสนุน แต่ทุกวันนี้ก็ได้รับการสนับสนุนมากขึ้น การถ่ายเทตัวอย่าง ความคิดสร้างสรรค์ หรือกิจกรรมเหล่านี้ จึงสามารถใช้กับมนุษย์ทุกคนที่สำคัญ ในปี 2560 ยังครบรอบ 10ปีปฏิญญาสหประชาติ ว่าด้วยสิทธิชนชนเผ่าพื้นเมือง  โดยวันที่ 9 สิงหาคมของทุกปี ถือเป็นวันสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก และอันที่จริงแล้วสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ก็คือสิทธิมนุษยชน ที่ย่อมมีโอกาสเข้าถึงโอกาสในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุข การศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนั้นงานที่สำนัก 6 ทำ ก็จะช่วยสนับสนุนให้เขามีโอกาสเข้าถึง และมีสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิตอยู่ และมีสุขภาพที่ดี.

You may also like

โออาร์ จัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์สื่อมวลชนภูมิภาค ประจำปี 2567 ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “เติมเต็มโอกาส

จำนวนผู้