เลขานุการรมว.ทส.พร้อมรองผู้ว่าฯลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำสนับสนุนน้ำต้นทุนผลิตน้ำสะอาดใช้สำหรับศูนย์ไตเทียมและใช้บริโภค อุปโภคในพื้นที่รพ.เทพรัตนเวชชานุกูลเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม
วันที่ 31 สิงหาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 13.30 น. ที่โรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูลเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อำเภอแม่แจ่ม นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้การต้อนรับนายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการดำเนินโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำสนับสนุนโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูลเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา เพื่อประสานการทำงานการตอบสนองแนวพระราชดำริการส่งเสริมคุณภาพชิวิตและสุขอนามัยของประชาชนในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของโรงพยาบาลฯ เพื่อเป็นโรงพยาบาลสีเขียว (green hospital) การสนับสนุนน้ำต้นทุนการผลิตน้ำสะอาดใช้สำหรับศูนย์ไตเทียม และใช้บริโภค-อุปโภค ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ณ ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูลเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อำเภอแม่แจ่ม สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2517 โดยใช้ชื่อสถานบริการขณะนั้นว่า “ศูนย์การแพทย์และอนามัย” โดยใช้งบประมาณจากเงินบริจาคชาวบ้านหลังคาเรือนละ 1 บาท สมทบกับเงินงบประมาณซื้อที่ดินสำหรับก่อสร้างโรงพยาบาลจำนวน 1 แปลง มีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลอำเภอขนาด 10 เตียง
กระทั่งปี 2528 กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรงบประมาณ เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา โดยยกฐานะจากโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง เป็นขนาด 30 เตียง และได้มีการจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมจำนวน 2 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา รวมเนื้อที่ของโรงพยาบาลทั้งหมดจำนวน 7 ไร่ 2 งาน 5 ตารางวา โรงพยาบาลแม่แจ่ม มีขนาดคับแคบไม่พื้นที่เพียงพอต่อผู้มารับบริการทั้งแผนกหอผู้ป่วยนอกและหอผู้ป่วยใน จึงได้มีการขอย้ายและยกฐานะของโรงพยาบาลเป็น โรงพยาบาลขนาด 60 เตียง ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเทพรัตนาราชสุดาฯ ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน สถานที่ตั้งโรงพยาบาลแห่งใหม่บนพื้นที่กว่า 90 ไร่ พร้อมทั้งได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 หลังจากนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างอาคารอำนวยการ อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน และอาคารประกอบอื่นๆ เพื่อสามารถย้ายไปดำเนินการในพื้นที่แห่งใหม่ได้ โดยออกแบบการก่อสร้างทั้งหมด โดยกองแบบแผนกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นได้ทำพิธีเปิดโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 และพระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา”