จังหวัดเชียงใหม่และวิทยุการบินเปิดห้องประชุมทำความเข้าใจผู้นำ อปท.ย้ำชัดยึดประกาศจังหวัด กำหนดปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควันวันที่ 22-23 พ.ย.แต่ต้องยื่นขออนุญาตก่อนเท่านั้น ฝ่าฝืนโทษทั้งจำและปรับ เผยขณะนี้ยื่นแล้ว 2 อำเภอ “ธุดงคสถาน” 4 พันลูก ขณะที่ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฮอตจัดขอ 12,000 ลูก ลานเนินนุ่ม 6 พัน ผิดคาดอ.เมืองยื่นขอ 22 รายยอด 3,200 ลูก วิทยุการบินขอร้องให้คำนึงความปลอดภัยเป็นหลักหวั่นถูกลดระดับมาตรฐานความปลอดภัย
วันที่ 5 พ.ย.61 ที่ห้องลีลาวดี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมสร้างความเข้าใจการปล่อยโคมลอยให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 8 อำเภอ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งวิทยุการบิน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและปลัดจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันชี้แจงให้กับผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบ
นายชำนาญ ฤาชัย ผู้อำนวยการใหญ่ ภูมิภาคและศูนย์ประกอบการพร้อมด้วยนายเกียรติศักดิ์ เวียนวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจราจรทางอากาศภูมิภาค 2 ,นายพงษ์ชัย มูลรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่และพันจ่าโทสาคร ปีกอง ผู้จัดการงานควบคุมจราจรทางอากาศ(ภูมิภาค) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัดได้ร่วมกันชี้แจง
ผอ.ใหญ่ภูมิภาคฯ บ.วิทยุการบิน กล่าวว่า เรื่องความปลอดภัยทางเดินอากาศเป็นสิ่งสำคัญแม้ว่าเรื่องของประเพณีวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งสำคัญของไทย แต่จำเป็นต้องควบคุมให้อยู่ในระดับมาตรฐาน เพราะประเทศอินโดนีเซียเคยถูกสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (เอฟเอเอ)และสำนักงานความปลอดภัยด้านการบินยุโรป หรืออีเอซ่าถูก Downgrade จาก Category 1 เป็น Category 2 มาตั้งแต่ปี 2007-ปัจจุบันรวมระยะเวลาถึง 8 ปี และหากการปล่อยโคมลอย โคมไฟ พลุ ตะไลที่ส่งผลกระทบต่อการเดินอากาศจะทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทยถึงปีละ 5 ล้านล้านบาท
นายเกียรติศักดิ์ เวียนวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจราจรทางอากาศภูมิภาค 2 กล่าวว่า สิ่งที่ทางบ.วิทยุการบินอยากจะมาเน้นย้ำในครั้งนี้คือ ประเทศไทยได้เปิดประเทศเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยอากาศยานแล้ว ซึ่งจะเห็นว่าขณะนี้มีผู้ใช้บริการหรือผู้ที่เดินทางโดยเครื่องบินวันละเกือบ 3,000 เที่ยว อย่างกรณีของเชียงใหม่เคยคาดการณ์กันเมื่อหลายปีก่อนว่าจะมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นถึงวันละ 200 เที่ยวบินแต่ปรากฏว่าจำนวนเที่ยวบินปัจจุบันทะลุ 200 และแตะ 300 เที่ยวบินในบางช่วงไปแล้ว ซึ่งบริษัทวิทยุการบินมีหน้าที่ในการดูแลเรื่องความปลอดภัยทางอากาศจึงจำเป็นต้องมาทำความเข้าใจ ชี้แจงให้กับผู้นำท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พื้นที่ที่อยู่ในแนวเส้นทางการบินได้รับทราบ
ทางด้านนายพงษ์ชัย มูลรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่มีปริมาณการจราจรทางอากาศค่อนข้างสูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศ รองจากสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ตและมาเชียงใหม่ซึ่งมีเที่ยวบินต่อวัน 220+-ต่อวัน และบางช่วงสูงถึง 300 เที่ยวต่อวัน มีเส้นทางบินทั้งในและต่างประเทศถึง 8 เส้นทาง โดยพบว่าจำนวนเที่ยวบินที่เข้ามาเชียงใหม่เติบโตขึ้นทุกปี โดยตั้งแต่ปี 2552-2561 โตขึ้นเฉลี่ยถึง 7%ต่อปี ปริมาณการจราจรทางอากาศ 230 เที่ยวต่อวันหรือเฉลี่ย 4.6 นาทีต่อเที่ยวบิน และคาดว่าอีก 3 ปีจะมีเที่ยวบินๆ ลงที่เชียงใหม่ 300 เที่ยวต่อวัน
ขณะที่พันจ่าโทสาคร ปีกอง ผู้จัดการงานควบคุมจราจรทางอากาศ(ภูมิภาค) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับแนวร่อนลงของเครื่องบินจะอยู่ในเขตอ.เมือง สารภี หางดง สันป่าตอง อ.เมืองลำพูน อ.บ้านธิ จ.ลำพูน อ.สันกำแพง อ.ดอยสะเก็ดและอ.แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงปี 2558 ที่ยังไม่มีประกาศคสช.และประกาศจังหวัดเชียงใหม่ นักบินพบโคมลอยอยู่ในเส้นทางการบินถึง 27 ครั้ง แต่พอปี 2559 ซึ่งมีคำสั่งคสช.และประกาศจังหวัดเชียงใหม่ออกมาเรื่องมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยและการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการจุดและปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควันหรือว่าวฮม หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคึงกันขึ้นไปสู่อากาศก็พบจำนวนลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปีที่ผ่านมาทั้งจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนที่อยู่ในเขตแนวการบินพบ 34 ครั้ง
ผู้จัดการงานควบคุมจราจรทางอากาศ(ภูมิภาค) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ในช่วงเทศกาลลอยกระทงหรือประเพณียี่เป็งซึ่งมีประกาศจังหวัดเชียงใหม่อนุญาตให้ปล่อยโคมควันได้ตั้งแต่ 10.00-12.00 น.แต่ปรากฏว่าโคมควันนั้นสามารถลอยอยู่บนอากาศได้นานมาก ซึ่งปีที่ผ่านมานักบินยังพบโคมควันลอยอยู่ในเส้นทางบินถึง 14 ลูก และหากโคมควันเหล่านี้หลุดเข้าไปในเครื่องยนต์หรือปิดหรือติดอยู่บนเครื่องบินก็จะเป็นอันตรายและทำให้เกิดอุบัตเหตุและผลกระทบอย่างมหาศาลได้ ในปีนี้ทางบริษัทวิทยุการบินจึงได้รับมาสื่อสารให้ผู้นำและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้นำไปขยาย เผยแพร่และสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจ
“แม้สายการบินต่างๆ จะให้ความร่วมมือในการหยุดการบินในช่วงเวลาที่จังหวัดมีประกาศอนุญาตให้ปล่อยโคมลอย โคมไฟแล้วก็ตาม แต่ก็ยังพบว่ามีซากของโคมลอย โคมไฟที่ลอยมาตกในรันเวย์หรือเขตการบิน ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ไม่ตรวจพบหรือเก็บได้ทันก็จะเป็นอันตรายและเกิดปัญหาเช่นเดียวกันได้ จึงขอความร่วมมือในแต่ละพื้นที่ให้ช่วยกันดูแลและแจ้งกับทางวิทยุการบินด้วย”พันจ่าโทสาคร กล่าวชี้แจง
ขณะที่ผู้แทนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ชี้แจงถึงผลกระทบและการป้องกันในช่วงเทศกาลลอยกระทงว่า ในช่วงประเพณียี่เป็งหรือลอยกระทงที่ผ่านมาพบว่ามีการปล่อยโคมควันขนาดใหญ่ลอยมาตกในบริเวณสถานีไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งยังโชคดีที่ไม่ได้ตกลงไปในจุดสำคัญที่ทำให้เกิดผลกระทบทำให้ไฟดับเป็นวงกว้างได้ แต่ก็พบว่าในปีที่ผ่านมามีโคมลอย โคมไฟมาตกในเขตสถานีจ่ายไฟทั้ง 7 สถานีของเชียงใหม่ถึง 189 ลูก ซึ่งหากตกพาดกับสายส่งไฟแรงสูงก็จะทำให้ไฟดับเป็นวงกว้างและการแก้ไขปัญหาก็ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน
อย่างไรก็ตามทางการไฟฟ้าฯได้วางมาตรการป้องกันทั้งการสื่อสาร รณรงค์ให้ประชาชนได้รับทราบ เตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉินและจัดทำสถิติไฟฟ้าดับและผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ขอให้ประชาชนที่จะปล่อยโคมใช้โคมลอยธรรมชัยซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน มผช .ที่ขนาดเส้นลวดที่ใช้ไม่ส่งผลกระทบต่อการไฟฟ้า ขณะเดียวกันทางการไฟฟ้าก็จะใช้ตาข่ายในการป้องกันโคมลอยตกมาใส่สถานีส่งไฟแรงสูงด้วย รวมทั้งยกเลิกอุปกรณ์บางตัว หากกรณีที่เกิดไฟฟ้าลัดวงจรจะได้ไม่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟได้
นายศรัณยู มีทองคำ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยในชีวติและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนมาเป็นอันดับแรก ขณะเดียวกันในเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณีทางจังหวัดก็ส่งเสริมและสนับสนุน โดยในปีนี้ก็ยังยึดประกาศจังหวัดเชียงใหม่เรื่องมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยและการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการจุดและปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควันหรือว่าวฮม หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2559 ซึ่งเกิดจากการระดมความคิดเห็นและกำหนดออกมาเป็นมาตรการ
“การจุดหรือปล่อยโคมลอย โคมไฟให้กระทำได้ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 หรือวันที่ 22 พ.ย.กับวันแรม 1 ค่ำเดือน 12 หรือวันที่ 23 พ.ย.โดยโคมควันจุดได้ในเวลา 10.00-12.00 น.เพียง 1 วันคือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 22 พ.ย.61และผู้ที่จะปล่อยโคมไฟ โคมลอยหรือโคมควันได้จะต้องยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่คือนายอำเภอก่อนเท่านั้น”ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวและชี้แจงอีกว่า
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศจังหวัดเชียงใหม่ ก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำและปรับ แต่ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอไม่เป็นเหตุให้พ้นผิดหากการจุดและปล่อยโคมไปเกิดความเสียหายแก่อากาศยาน ชุมชนหรือประชาชน คือหากปล่อยโคมลอย โคมไฟแล้วทำให้ไฟไหม้ก็ต้องได้รับโทษตามเหตุด้วย
ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่ทางอำเภอเปิดให้ขออนุญาตได้ภายใน 15 วันก่อนถึงเทศกาล ซึ่งจะสรุปวันสุดท้ายคือวันที่ 7 พ.ย.นี้ อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นทางงานปกครองจังหวัดเชียงใหม่ได้รับรายงานการยื่นขออนุญาตปล่อยโคมลอย โคมไฟมาแล้ว 2 อำเภอ คือ อ.สันทราย ธุดงคสถานล้านนายื่นขออนุญาตปล่อยวันที่ 22 พ.ย.จำนวน 4,000 ลูก และวันที่ 22-23 พ.ย.ที่บริเวณสวนประเพณีเชียงใหม่ ขออนุญาตจำนวน 1,500 ลูก ส่วนที่อ.แม่ริม ที่ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้ยื่นขออนุญาตในวันที่ 22-23 พ.ย.โดยจะปล่อยโคมลอยจำนวน 12,000 ลูกและที่ลานเนินนุ่ม สนามขี่ม้า หน้าปากทางห้วยตึงเฒ่า ในวันที่ 22-23 พ.ย.จำนวน 6,000 ลูก ขณะที่อ.เมืองเชียงใหม่มีผู้ยื่นขออนุญาตจำนวน 22 ราย 22 แห่ง ยอดที่ขออนุญาต 3,800 ลูก ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด.