เชียงราย (18 ม.ค.60) / เยาวชนห้วยหินลาดใน ผนึกกำลังสร้าง“ป่าใหญ่หัวใจสีเขียว” ให้คนกับป่าได้พึ่งพาอาศัยกันแบบเกื้อกูล ขณะที่ผู้นำหมู่บ้านปลื้ม เด็กรุ่นใหม่คิดเป็น ไม่ทิ้งบ้านเกิด ย้ำธรรมชาติจะปลอดภัย ถ้าทุกคนรู้คุณค่าของวิถีชีวิตที่อยู่กับป่าน.ส.สุดารัตน์ ทาแกะ หัวหน้าโครงการป่าใหญ่หัวใจสีเขียว ชุมชนห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามองเห็นปัญหาป่าถูกทำลายทั้งจากการบุกรุกของมนุษย์ และไฟป่า ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าว่าเหมือนกับชีวิต ถ้าป่าชุ่มชื้นมีสีเขียว ชีวิตก็ร่มเย็นเป็นสุข แต่ถ้าป่าวอดวาย ชีวิตของสรรพสัตว์และคนก็จะขาดไร้ที่พึ่ง จึงได้รวมตัวกับเพื่อนๆ และน้องๆ ในชุมชน 20 กว่าคน มีตั้งแต่เด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-ปริญญาตรี ทำโครงการป่าใหญ่หัวใจสีเขียว ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดโครงการฮักบ้านเกิด ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)“ช่วงแรกค่อนข้างหนักใจว่าเราจะทำยังไงเพื่ออนุรักษ์ป่า แต่พอเริ่มกิจกรรมกันจริงๆ ก็มีผู้ใหญ่ในท้องถิ่นเข้ามาให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด และแนะนำการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น การศึกษาป่า ระบบนิเวศ การทำแนวกันไฟ การอยู่ร่วมกับป่าแบบเกื้อกูล และช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะร่วมกับคนในชุมชนทำแนวกันไฟรอบๆ หมู่บ้าน ซึ่งแม้สมาชิกโครงการทุกคนอาศัยอยู่ในเขตป่า แต่ด้วยความเป็นเด็กที่ต้องเรียนหนังสือ ทำให้หลายคนยังไม่เคยทำแนวกันไฟจริงๆ ทางผู้ใหญ่ในหมู่บ้านก็จะช่วยสอนให้ ซึ่งความรู้และประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ติดตัวทุกคนตลอดไป สามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตได้” หัวหน้าโครงการฯ กล่าวด้านนายชัยประเสริฐ โพคะ ผู้ใหญ่บ้านห้วยหินลาดใน หมู่ 7 กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่เด็กปกาเกอะญอรุ่นใหม่ในหมู่บ้านได้เรียนหนังสือ บางคนออกไปเรียนข้างนอก แต่ยังคิดเป็น กลับมาทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่า อนุรักษ์วิถีชุมชน มีความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรมเพื่อท้องถิ่น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าทุกคนล้วนมีความสำคัญต่อชุมชน ใครถนัดด้านไหน อย่างไร ก็ทำในด้านนั้นๆ ถ้าคนรุ่นใหม่รู้คุณค่าวิถีชีวิตที่อยู่กับป่า ก็ไม่น่าห่วง เพราะถ้าป่าหายไป ทุกอย่างก็จะเปลี่ยน การส่งไม้ต่อให้คนรุ่นหลังสืบทอดก็เหมือนกันวิ่งผลัด ต้องส่งไม้ให้แม่นยำ “ในมุมมองของผม การดูแลป่า ไม่ได้ผลตอบแทนจากหลวง หรือภาครัฐ แต่จะได้น้ำผึ้ง หน่อไม้ ซึ่งที่บ้านห้วยหินลาดใน มีวิธีจัดการแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายน้ำผึ้งและหน่อไม้เข้ากองทุนละลาย 20-30% คิดเป็นจำนวนเงินปีหนึ่งๆ ก็ประมาณ 4-5 หมื่นบาท ใช้กองทุนนี้ดูแลรักษาป่า เช่น ทำแนวกันไฟ เป็นสวัสดิการคนเจ็บจากการทำแนวกันไฟ ดูแลป่า คนกับป่าต้องพึ่งพาอาศัยกันแบบธรรมชาติ” นายชัยประเสริฐ กล่าว.