เปิดฉากงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับภูมิภาคอย่างยิ่งใหญ่”เริ่มที่แรกจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่าง 4-10 มิ.ย.นี้เปิดให้เข้าชมฟรี

เปิดฉากงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับภูมิภาคอย่างยิ่งใหญ่”เริ่มที่แรกจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่าง 4-10 มิ.ย.นี้เปิดให้เข้าชมฟรี

ก.วิทย์ฯ เปิดฉากงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับภูมิภาคอย่างยิ่งใหญ่”เริ่มที่แรกจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่าง 4-10 มิ.ย.นี้เปิดให้เข้าชมฟรี จัดเต็มนิทรรศการสร้างแรงบันดาลใจ ขานรับนโยบาย “วิทย์สร้างคน”

เชียงใหม่.-4 มิถุนายน 2561 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 7 รอบพระชนมพรรษาจังหวัดเชียงใหม่ ​​นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค” ว่า เป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปีและของประเทศ โดยในการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติในส่วนกลางเมื่อปี 2560 มียอดผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,106,728 คน แยกเป็นภาคกลางร้อยละ 66.14 ภาคตะวันออกร้อยละ 13.08 ภาคเหนือร้อยละ 10.93 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 8.53 และภาคใต้ร้อยละ 1.32

จากข้อมูลพบว่าผู้เข้าชมที่มีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาจากภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ มีจำนวน ผู้เข้าชมจากภูมิภาคต่าง ๆ ค่อนข้างน้อยโดยเฉพาะภาคใต้ เนื่องจากอุปสรรคจากระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางและเกิดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้พลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายโอกาสการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของเยาวชนและประชาชนคนไทย ในภูมิภาคต่าง ๆ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จึงได้ดำเนินการจัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค” (National Science and Technology Fair 2018, Regional) รวม 4 ภูมิภาค

โดยเริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก และจะจัดต่อเนื่องโดยครั้งที่ 2 จะจัดที่จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 13-19 มิถุนายน 2561 ครั้งที่ 3 จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 11-17 กรกฎาคม 2561 และครั้งที่ 4 อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคม 2561 ซึ่งมีกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมผ่านนิทรรศการที่น่าสนใจหลากหลายจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก เยาวชน และผู้เข้าร่วมงานได้ตื่นตัวกับการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถทางความรู้ ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัย อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับเยาวชนไทยให้ก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

​“งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ตั้งเป้าผู้เข้าชมงานประมาณ 8 แสนคน จากทั้ง 4 ภูมิภาค  โดยแต่ละแห่งเด็กๆ และเยาวชน จะได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่น่าสนใจมากมาย นับเป็นครั้งแรกที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในภูมิภาคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ ช่วยเปิดประสบการณ์ในโลกของวิทยาศาสตร์และเผชิญกับความ  ท้าทายใหม่ ๆ ของเทคโนโลยี โดยการจัดงานมหกรรมวิทย์ฯ ภูมิภาคครั้งนี้ สอดรับกับนโยบาย “วิทย์สร้างคน” ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่จะปลูกฝังทัศนคติที่ดีและกระตุ้นการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งนับเป็นนโยบายหลักที่กระทรวงฯ มุ่งขับเคลื่อนเพื่อให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับเยาวชนคนไทย อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความแข็งแกร่งของประเทศได้ในอนาคต”เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว

​ด้านนายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพที่จะช่วยผลักดันให้เด็ก เยาวชน และประชาชนผู้สนใจได้เกิดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัย ซึ่งเมื่อปี 2557 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเคยร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่จัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งครั้งนั้นได้รับการตอบรับจากผู้ร่วมงานทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงเข้าชมงานกันอย่างล้นหลาม สร้างแรงบันดาลใจ จินตนาการ เสริมสร้างความรู้และประสบการณ์แปลกใหม่นอกห้องเรียนให้กับเด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี

สำหรับการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในครั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่พร้อมให้การสนับสนุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทุกรูปแบบเพื่อให้การจัดงานบรรลุจุดมุ่งหมายที่วางไว้ ภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีนวัตกรรม” ซึ่งถือเป็นการกระจายความรู้และขยายโอกาสให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือได้เข้าถึงกิจกรรรมการเรียนรู้ต่างๆ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ

​นายปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ทำหน้าที่ในการดำเนินงานหลักในการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ภูมิภาคใน  ครั้งนี้ได้นำกิจกรรมและนิทรรศการที่น่าสนใจมากมายมาจัดแสดงเพื่อเด็ก ๆ เยาวชน และประชาชนภาคเหนือโดยเฉพาะ โดยเริ่มจากนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทยและพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” รวมทั้งนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนิทรรศการที่เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจใหม่ ๆ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมล้ำยุคให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เปิดมุมมองใหม่แห่งการเรียนรู้ เช่น นิทรรศการเกษตรยุคใหม่ (SMART FARMER ๔.๐) ที่แสดงถึงวิวัฒนาการทางการเกษตรของไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน และก้าวไปสู่อนาคต ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยขึ้นสู่การเป็น SMART FARMER และมหานครทางการเกษตร

นิทรรศการพลิกขยะสู่ขุมทรัพย์ (FROM WASTE TO VALUE) นำเสนอนิทรรศการเรื่องของการบริหารจัดการขยะและชี้ให้เห็นประโยชน์ของสิ่งของเหลือใช้ต่าง ๆ ในกองขยะที่สามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ได้ นิทรรศการสูงวัยใกล้ตัว (AGING SOCIETY) นำผู้ร่วมกิจกรรมไปสู่โลกแห่งอนาคตผ่านเครื่องไทม์แมชชีน เรียนรู้การเป็นผู้สูงวัย และการเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพในอนาคต นิทรรศการอัตลักษณ์ในท้องถิ่นไทย (Geographical Indications Products) ที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์และภูมิปัญญาเฉพาะถิ่น เป็นต้น

​            นอกจากนี้ ยังมีการนำนิทรรศการจากต่างประเทศมาจัดแสดงภายในงานอีกด้วย อาทิเช่น นิทรรศการดาวจรัสฟ้า (Starry Sky Illumination) จากประเทศจีน ที่ถือได้ว่าเป็นสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจและเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้แก่ผู้เข้าชมได้ก้าวทันโลกดาราศาสตร์   อีกทั้งยังได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่กับ ภาพยนต์ 4D Panda..Journey to New Home สนุกสนานไปกับเรื่องราวของก้วนก้วน ไจแอ้นแพนด้ากับการผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อตามหาป่าไผ่แห่งใหม่ บนเส้นทางที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคกับเหล่าผองเพื่อน รวมทั้ง นิทรรศการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานพันธมิตรที่เข้าร่วมจัดแสดงอีกมากมาย  ​ทั้งนี้ นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจสามารถเข้าชมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าใดๆ ทั้งสิ้น.

You may also like

“ในน้ำมีปลา ในนามีปู” ม.แม่โจ้ คว้า รางวัลชนะเลิศ Best of the Best ระดับประเทศ ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น 2567

จำนวนผู้