เทศบาลนครเชียงใหม่แถลงผลสำเร็จพลิกฟื้นคืนสายน้ำแห่งชีวิตคลองแม่ข่าเฟสแรก งบฯ22 ล้านบาท เร่งเปิดเฟส 2 คาดภายใน 5 ปีจะเกิดความยั่งยืน
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ห้องประชุมเอื้องคำ สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายณภัทร ประเสริฐดี ผู้อำนวยการสำนักช่าง และ รศ.ชูโชค อายุพงศ์ นักวิชาการศูนย์วิชาการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงถึงความเป็นมาของโครงการและวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงคลองแม่ข่า รวมไปถึงภาพรวมการพัฒนาคลองแม่ข่า ที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งหมดในจังหวัดเชียงใหม่ ในการพัฒนาและปรับปรุงคลองแม่ข่า ตลอดจนการบำบัดน้ำเสียจากชุมชนทั้งสองฝั่งคลอง เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์คลองแม่ข่า กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า น้ำแม่ข่า หรือคลองแม่ข่า เป็นแหล่งน้ำสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ที่ได้รับการพัฒนา ปรับปรุง ตามโครงการก่อสร้างระบบท่อรวบรวมน้ำเสียของสองฝั่งคลอง พร้อมปรับภูมิทัศน์ โดยเริ่มดำเนินการเฟสแรก ที่ถนนระแกง – ประตูก้อม (สถานีสูบน้ำเสียที่ 6) ซึ่งมีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คลองแม่ข่ากลับมาเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชาวเชียงใหม่อีกครั้ง โดยให้ความสำคัญกับการบำบัดน้ำ ควบคู่กับการทำให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในปัจจุบัน
“น้ำแม่ข่า”หรือคลองแม่ข่า เป็นน้ำสายหลักของชาวเชียงใหม่ มีต้นน้ำเริ่มจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ระยะทางยาว 31 กิโลเมตร เป็นคลองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยพญามังราย เพราะเป็น 1 ใน 7 ชัยมงคลของการก่อร่างสร้างเมือง โดยเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชาวเชียงใหม่ ทั้งเป็นเส้นทางสัญจร เป็นคูเมืองชั้นนอก และยังเป็นทางระบายน้ำ จากเดิมที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร และสร้างความชุ่มชื้นให้กับคนเชียงใหม่ แต่เมื่อความเจริญของเมืองเพิ่มขึ้น ทำให้คลองแม่ข่าถูกบุกรุกและมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองโดยไม่ผ่านการบำบัด ทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียมานานหลายสิบปี
นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า เทศบาลนครเชียงใหม่ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบท่อรวบรวมน้ำเสียของสองฝั่งคลอง พร้อมปรับภูมิทัศน์ ระยะที่ 1 ถนนระแกง – ประตูก้อม (สถานีสูบน้ำเสียที่ 6) ระยะทางประมาณ 750 เมตร ด้วยงบประมาณ 22 ล้านบาท โดยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน อาทิ การออกแบบของกลุ่มสถาปนิกในพื้นที่ มีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการมาร่วมหาวิธีจัดการเรื่องระบบน้ำเสีย สร้างท่อรองรับน้ำทิ้งเพื่อส่งต่อไปบำบัดที่โรงงานบำบัดน้ำเสีย มีการกวดขันเรื่องการปล่อยน้ำลงในคลองแม่ข่าอย่างเคร่งครัด การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิทัศน์และพื้นที่สีเขียว ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนที่มีรายได้น้อย รวมไปถึงการวางแผนเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องย้ายออกจากชุมชน และที่สำคัญคือ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการใช้พื้นที่คลองแม่ข่า เพื่อให้ชุมชนได้ดูแลบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นระบบระเบียบด้วยตนเอง
นายอัศนี กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่เลือกพัฒนาและปรับปรุงในจุดนี้ก่อน เพราะถือว่าเป็นจุดที่ยากที่สุด เนื่องจากเป็นจุดที่น้ำเน่าเสียและดำที่สุด มีการบุกรุกมากที่สุดถึง 100กว่าหลังคาเรือนจาก 3 ชุมชนสองฝั่งคลอง คือ ชุมชนหัวฝาย ชุมชนกำแพงงาม และชุมชนฟ้าใหม่ แต่การจัดการพื้นที่คงต้องทำต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความสวยงาม และชุมชนสามารถมีวิถีชีวิตอยู่ได้ ส่วนจะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนหรือไม่ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนด้วย
ขณะที่นายณภัทร ประเสริฐดี ผอ.สำนักการช่าง เทศบาลนครเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า โครงการพัฒนาจุดนี้ได้มีการประชุมหารือตั้งแต่ปี 2562 สมัยนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และได้เริ่มประชุม สำรวจ ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนมาโดยตลอดการฟื้นคลองแม่ข่าเป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะความยากของเฟสแรก คือ แวดล้อมไปด้วยพื้นที่รับผิดชอบของกรมศิลป์ ธนารักษ์ เจ้าท่า และเทศบาลนครเชียงใหม่ จึงอาศัยการเรียนรู้และแก้ปัญหา จนกระทั่งชาวบ้านยอมเปิดทาง 5 เมตร ขยับให้เกิดทางเดินที่กว้างขึ้นอย่างที่เห็นและโชคดีที่คนในชุมชนเข้มแข็งและพร้อมใจกันรื้อสิ่งปลูกสร้างที่ยื่นล้ำลงไปในคลองเพื่อให้สามารถปรับภูมิทัศน์จากเดิมที่เป็นหลังบ้านให้น่ามองและสะอาดขึ้น
“หลังจากเฟสแรกออกมาแบบนี้ เทศบาลฯก็จะเร่งทำเฟส 2 ต่อระยะทาง 560 เมตร วงเงิน 18.3 ล้านบาท โดยพัฒนาคลองแม่ข่าจากเฟสแรกขึ้นไปทางทิศเหนือ คือ ศรีดอนไชยและทิศใต้ลงมาที่กาดก๊อม โดยยึดหลักชุมชนเดิมที่มีการพัฒนาตามวิถีที่เหมาะสม ไม่ให้คนภายนอกเข้ามาแทนที่ รวมทั้งการไม่ปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองแม่ข่าอีก
ทางด้าน รศ.ชูโชค อายุพงศ์ นักวิชาการศูนย์วิชาการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องจากคลองแม่ข่ามีความยาวกว่า 30 กิโลเมตร การทำในเฟสแรกระยะทาง 750 เมตรจึงถือว่า ยังไม่ถึงครึ่งของการลงมือฟื้นฟู แต่ถือว่าคุ้มค่ามากที่สำเร็จลงได้ แต่ปัญหาจริง คือ เรื่องน้ำเสียที่จะไหลเข้ามาในพื้นที่ยังมี จึงถือว่า ยังไม่สมบูรณ์ แต่มั่นใจว่าภายใน 5 ปี คลองแม่ข่าจะมีน้ำดีไหลผ่านตลอดเวลา หากระบบบำบัดน้ำเสียครบทั้งชุมชนภายใน 3 ปีจากนี้ เพราะต้องรอให้โครงการผันน้ำอุโมงค์แม่งัด-แม่แตงสำเร็จก่อนก็จะมี น้ำต้นทุน ที่ชลประทานเชียงใหม่จะผันน้ำน้ำดีมาไล่น้ำเสีย วันละ 1 แสนลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที
รศ.ชูโชค ดล่าวด้วยว่า ได้ย้ำกับชุมชนไปแล้วว่า น้ำในคลองแม่ข่าตอนนี้ที่มีสภาพดีขึ้นเป็นน้ำที่ได้จากฤดูฝนจ แต่ถ้าเข้าสู่ฤดูแล้งและไม่มีน้ำต้นทุนหรือน้ำดีมาไล่น้ำเสีย คลองแม่ข่าจะเน่าเหม็นเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามเทศบาลฯมีแผนจะปันน้ำปิงเข้ามาช่วยดันน้ำเสียออกไป แต่ในช่วงฤดูแล้งนี้แหละที่เทศบาลฯจะเริ่มฟื้นฟู มีการขุดลอก ตักตะกอนดำออกไปทิ้ง ซึ่งเราไม่อยากเห็นคลองแม่ข่า โตแบบพลุแล้วจางหายไป เราอยากให้มีความยั่งยืน ด้วยการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสม คนในชุมชนจะค้าขายอย่างไร จุดจอดรถที่เพียงพอรับนักท่องเที่ยว เพราะปัจจุบันยังมีปัญหา ก็ต้องช่วยกันพัฒนา เทศบาลนครเชียงใหม่ทำเฟสแรกสำเร็จแล้ว ก็ต้องหาทางก้าวสู่เฟสต่อไป และเชื่อว่าเทศบาลฯจะทำได้
จากนั้นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่พร้อมคณะผู้บริหารได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ และทักทายพูดคุยกับนักท่องเที่ยวและคนในชุมชนสองฝั่งคลอง โดยนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ‘คลองแม่ข่า’ เฟสแรก จะสามารถทำให้วิถีชีวิตพลิกฟื้นกลับมามีชีวิตชีวา ทำให้คนสองฝั่งสามารถประกอบอาชีพอยู่ได้ แต่จะยั่งยืนหรือไม่ อยู่ที่ความร่วมมือ ร่วมใจของคนในพื้นที่ด้วย.