จังหวัดเชียงใหม่เผยแผนแก้ไขปัญหาหมอกควันปี 63 ใช้ค่าคุณภาพอากาศตามที่ WHO กำหนด pm2.5 เฉลี่ย 24 ชม.25 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.โดยใช้เครือข่ายเครื่องวัดของ CMAQI และ Dustboy ที่มีอยู่ครอบคลุมพื้นที่
เมื่อวันที่ 16 ส.ค.62 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ครั้งที่ 3/2562
โดยมีวาระเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ซึ่งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบหมายให้นายสมคิด ปัญญาดี เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ได้แจ้งความคืบหน้าในที่ประชุมว่าการแก้ปัญหาหมอกควันในปี 2563 จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ภาคในเมืองซึ่งจะเกี่ยวข้องกับปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก กับภาคป่า ซึ่งเกี่ยวกับปัญหาไฟป่า โดยจะโฟกัสไปที่ผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งจะมีการแจ้งเตือนประชาชนหากการตรวจวัดคุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยจะใช้ค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO กำหนดค่าเฉลี่ย PM2.5 เฉลี่ย 24 ชม. ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลบ.ม. ทั้งนี้จะใช้เครือข่ายเครื่องวัดของ CMAQI และ Dustboy ที่มีอยู่ครอบคลุมพื้นที่ทุกอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า จะแบ่งออกเป็น 4 ฝ่าย โดยในเขตป่าไม้และอุทยานแห่งชาติซึ่งจากสถิติปีที่ผ่านมาพบว่ามีการเผาสูงมากถึงร้อยละ 80 จะเป็นหน้าที่ของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่จะควบคุมดูแล สำหรับพื้นที่เกษตร จะเป็นหน้าที่ของสำนักงานเกษตรจังหวัดที่จะควบคุมดูแลเรื่องการไม่ให้เผาเศษวัสดุทางการเกษตร แต่จะนำเศษวัสดุมาทำประโยชน์เช่น อาหารสัตว์ หรือทำปุ๋ยหมัก
ในส่วนของพื้นที่ชุมชน จะเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์การบริหารส่วนจังหวัด และในด้านสาธารณสุข ซึ่งจะดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชนนั้น จะใช้ค่าคุณภาพอากาศที่องค์การอนามัยโลกใช้ โดยค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชม.มาตรฐานต้องไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะใช้เครือข่ายเครื่องวัดของ CMAQI และ Dustboy และจะมีการติดตั้งระบบเตือนภัยแบบ On Ground โดยใช้ธงสีเป็นสัญลักษณ์ ทั้งนี้ในคณะกรรมการทั้ง 4 ชุดนั้นจะมีผู้เชี่ยวชาญและภาคเอกชนร่วมด้วย
ทางด้านนายวิทยา ครองทรัพย์ กรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางภาคเอกชนได้เสนอให้มีคณะกรรมการระดับชาติ และผลักดันCAA (Clean Air Act)ตามมติคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนหรือ กกร. เมื่อ 15 สิงหาคม 2562 อย่างไรก็ตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหมอกควันที่น่าพอใจคือการที่หน่วยงานราชการยอมใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm2.5 ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากค่าที่ตรวจวัดได้เกินกว่าค่ามาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพให้แจ้งเตือนประชาชนได้ทันที
กรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามทางภาคเอกชนต้องชื่นชมทางสถาบันวิจับสุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก(pm2.5)ครบทั้ง 204 ตำบล และ Dust boy โดยกรมอนามัยติดตั้งเกือบ 200 จุดในภาคเหนือ ซึ่งหากขยายได้ จะทำให้รัฐปรับวิธีการแก้ไขปัญหาเหมือนแผนการแก้ไขปัญหาหมอกควันปี 2563 ของจังหวัดเชียงใหม่ และแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยใช้ค่ามาตรฐานตามที่ WHO กำหนดเพียงจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเดียวแต่ก็ถือเป็นความคืบหน้าที่ดี และหากมีการเชิญชวนภาคเอกชนในจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือติดตั้งเครื่องวัด pm2.5 เครื่องละ 2,500 ให้ครอบคลุมทุกตำบล ก็จะเป็นแรงกดดันให้จังหวัดนั้นๆ ให้ใช้ค่าวัดpm 2.5 ด้วย ซึ่งจะสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและส่งผลให้การเผาลดลงไปได้ในอนาคตด้วย
ขณะที่นายปัณรส บัวคลี่ หนึ่งในแกนนำภาคประชาสังคมได้รายงานผลการประชุมร่วมภาคเอกชน ประชาชน และภาควิชาการเชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืน วันนี้ 16 ส.ค. 2562 ณ สำนักงานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) เชียงใหม่ ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากแกนนำของภาควิชาการ ภาคประชาชน และกกร. หอการค้าจังหวัด เห็นตรงกันว่าควรจะมีองค์กรร่วมระหว่างภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดการประสานงานที่กระชับ สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียว เพื่อจะผลักดันและเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาฝุ่นควันต่อภาครัฐ อีกทั้งเพื่อให้สะดวกต่อการผลักดันกิจกรรมต่างๆ ที่รัฐอาจจะติดขัด ประเด็นหลักที่หารือคือมาตรฐานค่ามลพิษอากาศของเชียงใหม่ โดยจะมีการก่อตั้งองค์กรร่วมขึ้นมา จากสมาชิก 4 ฝ่าย คือฝ่าย วิชาการ / สาธารณสุข/ เอกชน-ธุรกิจ / และภาคประชาชน+เอ็นจีโอ โดยเบื้องต้นจะใช้ชื่อว่า สภาลมหายใจเชียงใหม่ Chiang Mai Breath Council ซึ่งจะมีการแถลงข่าวเปิดตัวและขับเคลื่อนในโอกาสต่อไป.