เชียงใหม่เดินหน้าแผนป้องกันไฟป่าหมอกควันและฝุ่นฯ 2.5 ทีมวิศวะ มช.จับมือเซี่ยงไฮ้ศึกษาวิจัยเครื่องฟอกระบบนาโนเทคสูง 15 เมตรตั้ง 3 จุด และเครื่องกรองขนาดเล็กใช้ระบบไฟฟ้าสถิตย์ตั้ง 4 มุมเมือง ขณะที่อปท.ตั้งงบฯดูแลครอบคลุมทุกพื้นที่ ด้านศึกษาธิการจังหวัดจับมือมช.บรรจุหลักสูตรเรียนรู้สู้ฝุ่นpm2.5 สอนเพิ่มเติมในระดับประถมศึกษาเริ่มภาคเรียนที่ 2 เดือนต.ค.นี้ มั่นใจปีนี้รับมือสถานการณ์ได้
นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด(ทสจ.)เชียงใหม่ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์หมอกควันและไฟป่า ประจำปี 2562-2563 ว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นควัน PM2.5 ประจำปีงบประมาณ 2563 ไปเมื่อ 24 ก.ย.ในงาน Chiangmai Showase ซึ่งมีนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผวจ.เชียงใหม่ขณะนั้นเป็นประธาน โดยได้ทบทวนแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่พ.ศ.2561-2565 และเพิ่มเติมบรรจุประเด็นที่ 5 การแก้ไขปัญหาหมอกควัน ฝุ่นpm2.5 การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เพื่อให้การดำเนินการของจังหวัดมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า จากการสรุปผลถอดบทเรียนของทุกภาคส่วนในปีที่ผ่านมาได้กำหนดกรอบการทำงาน 4 มาตรการ คือ ดึงฟืนออกจากไฟ ด้วยการลดและจัดการเศษวัสดุเชื้อเพลิงทุกประเภทในทุกพื้นที่ ดึงไฟจากใจคน โดยการสร้างนวัตกรรมในการสื่อสารทั้ง On line- On Air และ On Ground เชียงใหม่ปลอดภัยจากมลพิษและฝุ่นควัน โดยดำเนินการป้องกันและดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง และสุดท้ายคือ การขยายผลตามแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และ 37 กุลยุทธ์ เพื่อนำไปปฏิบัติในแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
“จากการประเมินโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าในปี 2563 จะมีสถานการณ์ความแห้งแล้งไม่น้อยกว่าปีนี้ ปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าบางแห่งอาจลดลง แต่โดยรวมแล้วปัจจัยการเกิดปัญหาหมอกควัน ไฟป่า(Hot Spot)และฝุ่นควัน PM2.5 ไม่ลดน้อยกว่าปีนี้”นายสรัชชา กล่าวและว่า
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัดโดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งได้ให้นโยบายโดยเน้นปฏิบัติการเชิงรุกในการป้องกันการเผาในพื้นที่โล่งและการดูแลสุขภาพของประชาชน จากผลกระทบของฝุ่นควันอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ จังหวัดเชียงใหม่มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงาน โครงการและงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 211 แห่ง เตรียมสนับสนุนงบประมาณ 74 ล้านบาท เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาในเชิงรุกในหมู่บ้านและชุมชน โดยเฉพาะการป้องกันการเผาในที่โล่ง ในส่วนของฝ่ายวิชาการและสาธารณสุขได้มีการดำเนินการจัดทำและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยจากฝุ่นละออง(Savety Zone)จำนวน 317 แห่ง ในสถานพยาบาลระดับอำเภอ ตำบล ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก โรงเรียนประถมศึกษา รวมถึงบ้านพักอาศัยกลุ่มเสี่ยง คือ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ พร้อมทั้งจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนในหัวข้อวิชาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 โดยศึกษาธิการจัดหวัดเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อใช้ในการเรียน การสอนเพิ่มเติมในปีการศึกษานี้ โดยจะเริ่มในสถานศึกษาระดับประถมศึกษาทั้ง 131 แห่ง ในเดือนตุลาคม 2562 นี้ เป็นต้นไป
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต่อไปอีกว่า นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่ได้มีข้อสั่งการให้เร่งรัดดำเนินการขับเคลื่อนตามมาตรการและแผนงาน โครงการที่กำหนดไว้ โดยสภาลมหายใจเชียงใหม่และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมประชุมและมีมติกำหนดจัดกิจกรรม Car Free Day ที่สวนสาธารณะเจริญประเทศและในเขตเมืองเชียงใหม่ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2562 จัดมหกรรมเรียนรู้สู้ฝุ่น ระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2563 พัฒนาระบบการสื่อสารเพื่อใช้ในการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงปัญหาและขอความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับภาคราชการ และร่วมกันจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในระดับหมู่บ้าน ตำบลทั้ง 25 อำเภอโดยการสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“สำหรับกรณีการสร้างหอคอยกรองอากาศขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช.ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนอยู่ในระหว่างศึกษาวิจัย โดยมีข้อสรุปใน 2 ทางเลือก คือ จะใช้ระบบโฟโตคาตาลิติก (photocatalytic) ซึ่งเป็นระบบนาโนเทคโนโลยีที่ฝุ่นละอองจะมาเกาะติดกับตัวเครื่อง แล้วสามารถชะล้างออกด้วยน้ำ เป็นการใช้ระบบการเดินเครื่องด้วยไฟฟ้า หรืออาจจะใช้โซลาร์เซลล์ ซึ่งจะมีความสะอาดโดยไม่ต้องเปลี่ยนไส้กรอง มูลค่าประมาณ 25 ล้านบาท โดยเป็นค่าชุดอุปกรณ์ประมาณ 10 ล้านบาท ความสูง 15 เมตรจากเครื่องต้นแบบสูง 50 เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. และทีมจากเซี่ยงไฮ้ ในการสำรวจพื้นที่ติดตั้งซึ่งจะต้องใช้เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 1-5 ตารางกิโลเมตร เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบินหรืออื่นๆ โดยเบื้องต้นมีการกำหนดจุดที่จะติดตั้งเครื่องกรองฯนี้ไว้ 3 จุดคือที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ห้วยตึงเฒ่า และที่ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่”นายสรัชชา กล่าวและชี้แจงอีกว่า
ส่วนอีกแนวทางหนึ่งคือ ติดตั้งเครื่องกรองอากาศขนาดใหญ่ ลักษณะเดียวกับยักษ์เขียว ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เคยนำมาช่วยเชียงใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาให้เป็นรูปแบบของเชียงใหม่เอง เป็นระบบไฟฟ้าสถิตย์ที่เชื่อมต่อกับระบบกรองอากาศแบบง่าย มีประสิทธิภาพกรองอากาศได้ 1,000 ตารางเมตร ข้อดี คือ สามารถเคลื่อนย้ายไปได้ เหมาะกับชุมชนเขตเมือง ต้นทุนก็ประมาณเครื่องละ 2-3 ล้านบาท โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาลนครเชียงใหม่ มีแนวคิดที่จะนำไปติดตั้ง 4 มุมเมือง ในจุดที่มีค่าฝุ่นละอองหนาแน่นในช่วงฤดูกาล ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้ทันในปี 2563 นี้
นายสรัชชา กล่าวด้วยว่า คาดว่าสถานการณ์ปีนี้จะดีขึ้น เนื่องจากปีที่ผ่านมาเราลงมาแก้ไขปัญหาตอนปัญหาเกิดขึ้นแล้ว แต่ปีนี้จะเริ่มตั้งแต่การป้องกันตามคำสั่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ทำตั้งแต่การจัดซื้อหน้ากาก การเตรียมคนป้องกันปัญหา รวมทั้งการรับบริจาคของจากประชาชนจะทำล่วงหน้าผ่านองค์กรประชาสังคมที่มีอยู่ คือ สภาลมหายใจ เขียวสวยหอม และ 20 สถาบันการศึกษาในเชียงใหม่ ภายใน 3 ปี ต้องปลอดการเผา ไม่เพียงการปรับเปลี่ยนพื้นที่การเผาเท่านั้น แต่ต้องสามารถนำเศษวัสดุทางการเกษตรไปทำประโยชน์และเกิดรายได้ด้วย.