เชียงใหม่คุมเข้มสั่งทุกอำเภอบังคับใช้กม.ห้ามเผา

เชียงใหม่คุมเข้มสั่งทุกอำเภอบังคับใช้กม.ห้ามเผา

ศูนย์บัญชาการไฟป่าฯเชียงใหม่ย้ำทุกอำเภอช่วงครึ่งหลังเดือนเม.ย.ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ควบคุมการลักลอบเผา พร้อมจัดทีมลาดตระเวน ด้านรองนายกอบจ.เชียงใหม่กำชับทุกอำเภอที่รับเงินสนับสนุนประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้และทำรายละเอียดการใช้เงินเพื่อชี้แจงสภาฯและสตง.

เมื่อวันที่ 19 เม.ย.65 ที่ห้องปฏิบัติการศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นpm2.5 จังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผวจ.เชียงใหม่เป็นประธานประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าฯ ครั้งที่ 10/2565 โดยรองผวจ.เชียงใหม่ แจ้งที่ประชุมว่าในช่วงที่ผ่านมามีผู้บริหารระดับสูงมาเยี่ยมชม ติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าฯของจังหวัดเชียงใหม่หลายท่าน และได้รับคำชื่นชมในการดำเนินการของคณะกรรมการฯ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่ทำได้ดีมาก นอกจากนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกองทัพบกยังส่ง KA32 และ MI17 มาจอดเตรียมพร้อมปฏิบัติการที่เชียงใหม่อีกด้วย

“ยอมรับว่าในบางพื้นที่ยังมีปัญหาการลักลอบเผา ขอให้นายอำเภอบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจัดชุดปฏิบัติการลาดตระเวน ซึ่งผู้ว่าฯเน้นย้ำมากว่าวิธีการที่ดีคือต้องไม่ให้มีการเผา ไม่ใช่วิธีไล่ดับไฟ และคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของเดือนเม.ย.สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นแล้ว เพราะช่วงนี้มีพายุฤดูร้อนเข้ามา”รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวและว่า

ตั้งแต่ช่วงก่อนสงกรานต์มามีบางอำเภอที่มีจุดความร้อนเกิดขึ้นสูงมาก เช่น แม่แจ่ม อมก๋อย สะเมิง พร้าว เชียงดาว กัลป์ยาณิวัฒนา เวียงแหงและแม่แตงรวมกัน 284 จุด และตอนนี้อุตุฯแจ้งแล้วว่าตั้งแต่ 21 เม.ย.จะไม่มีฝนสำหรับพื้นที่ที่ยังต้องบริหารเชื้อเพลิงขอให้ทางอำเภอควบคุมด้วย ปีนี้แม้จุดความร้อนลดลงมากแต่พื้นที่เผาไหม้ยังสูงและเป็นสาเหตุของpm2.5 ด้วย ขอให้ทางอำเภอที่ได้รับเงินสนับสนุนจากอบจ.เชียงใหม่แล้ว บูรณาการงบประมาณของแต่ละอำเภอเพื่อจัดชุดปฏิบัติการเหยี่ยวไฟและเสือไฟลาดตระเวนให้มาก โดยเฉพาะแม่แจ่มซึ่งยังเหลือพื้นที่บริหารเชื้อเพลิงกว่า 11,000 ไร่หรือ 25% ต้องเฝ้าระวังทั้งพื้นที่ป่า พื้นที่สปก. ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ ให้ทางอำเภอบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตามคำสั่งของจังหวัดที่ห้ามเผาในพื้นที่ป่าเด็ดขาด

ด้านนายนาวิน สินธุสะอาด รองนายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า อบจ.เชียงใหม่ได้สนับสนุนเงิน 13.67 ล้านบาทให้กับ 644 หมู่บ้านโดยผ่านกองทุนไฟป่าฯจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผ่านนายอำเภอทุกแห่งซึ่งอบจ.เชียงใหม่มีส.อบจ.42 แห่งเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นขอให้ทางอำเภอประชาสัมพันธ์ ชี้แจงข้อมูลให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วย รวมทั้งขอให้จัดทำรายละเอียดการใช้เงินดังกล่าวว่าเอาไปทำอะไรบ้าง แล้วเกิดประโยชน์กับชุมชนมากน้อยแค่ไหน ทำให้ปัญหาไฟป่าหมอกควันฯในพื้นที่ลดลงหรือไม่ เพราะงบฯดังกล่าวทางคณะผู้บริหารจะต้องชี้แจงในที่ประชุมสภาอบจ.ฯด้วย รวมทั้งสตง.ที่จะมาตรวจเรื่องการใช้เงินงบประมาณด้วย และหากได้ผลดีปีหน้าจะได้ดำเนินการต่อ โดยเงินที่ส่งมอบไปแล้วนั้นไม่มีการเรียกคืนแต่ขอให้ใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่

ทางด้านนายสมคิด ปัญญาดี ผอ.ส่วนยุทธศาสตร์ สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงซึ่งให้ลงทะเบียนผ่านระบบไฟดี ตั้งแต่ 1 ม.ค.-30 เม.ย.มียอดลงทะเบียนทั้งหมด 271,382 ไร่ 10,851 ราย อนุมัติให้ดำเนินการ 217,531.6 ไร่ โดยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ลงทะเบียนขอบริหารเชื้อเพลิง  97,754.2 ไร่ 325 ราย  ได้รับอนุมัติ 81,173.2 ไร่ พื้นที่ป่าสงวน 65,239.9 ไร่ 670 ราย ได้รับอนุมัติ 54,436.9 ไร่ พื้นที่ทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ 16,563.7 ไร่ ได้รับอนุมัติ 8,537.8 ไร่ พื้นที่ทำกินในเขตป่าสงวน 36,846.5 ไร่ 4,698 ราย ได้รับอนุมัติ  30,642.6 ไร่ และพื้นที่ป่าชุมชน 1,312.6 ไร่ 69 รายได้รับอนุมัติ 1,096.1 ไร่

นายสมคิดยังรายงานความคืบหน้าการประชุมและนำเสนอผลงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าฯของจังหวัดเชียงใหม่ต่อคณะกรรมาธิการกพร.วุฒิสภาที่จังหวัดลำปาง โดยจังหวัดเชียงใหม่ได้เสนอประเด็นที่ต้องการปลดล๊อคเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการในจังหวัด ตามประเด็นนโยบายสำคัญของจังหวัดที่มีความคล่องตัวในระบบงาน ระบบแผนและระบบงบประมาณและระบบบริหารงานบุคคลให้มีการทำงานที่มีผลสัมฤทธิ์สูง ประกอบด้วยการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของจังหวัดให้มีความสมบูรณ์นำไปสู่การปฏิบัติที่ง่าย สามารถนำมาวิเคราะห์ข้อมูลและเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของจังหวัดได้

การจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกรโดยเฉพาะพื้นที่คทช.ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น การพัฒนาระบบการแจ้งเตือนคุณภาพอากาศให้ประชาชน ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์และสามารถบูรณาการข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ภารกิจถ่ายโอนของอปท.ในเรื่องการแก้ไขปัญหาไฟป่าฯบางอปท.ยังไม่มีความพร้อมในการดำเนินการดังกล่าวทั้งในเรื่องบุคลากรและจัดตั้งงบประมาณ สนับสนุนการใช้สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของพื้นที่ ที่มีคุณภาพและมาตรฐานติดตั้งครอบคลุมทุกพื้นที่จังหวัด รวมถึงใช้แอพพลิเคชั่นในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของพื้นที่ด้วยและลดการส่งเสริม สนับสนุนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนพื้นที่สูงจากกลุ่มทุนต่างๆด้วย.

 

You may also like

ดีป้า ปิดท้ายกิจกรรม Coding Inspire กระตุ้นเยาวชนเข้าถึงโค้ดดิ้งเท่าเทียมและทั่วถึง
ภายใต้ โครงการ Coding for Better Life ‘สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย

จำนวนผู้