จังหวัดเชียงใหม่ กระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ป่าร่วมฟื้นฟูสภาพป่า เริ่มปลูกป่าปลายพฤษภาคม เข้าสู่ฤดูฝน เน้น ปลูกไม้ยืนต้น ที่ให้ผลผลิต หล่อเลี้ยงชีวิตคนอยู่กับป่าได้อย่างสมดุล ขณะที่กรมอุทยานฯรับจัดหากล้าไม้ ผู้ว่าสั่งทุกอำเภอ ช่วงวันหยุดเพิ่มการลาดตระเวนเฝ้าระวังการลักลอบเผา ขณะที่ผอ.ศูนย์ฝนหลวงภาคเหนือยอมรับช่วงเดือนเม.ย.สภาพอากาศไม่เอื้อต่อปฏิบัติการ แต่นักบินเตรียมพร้อมตลอดเวลา
เมื่อวันที่ 18 เม.ย.63 ที่ศูนย์บัญชาการป้องกันไฟป่าและฝุ่นpm2.5 จังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการฯเพื่อติดตามสถานการณ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าฯ โดยมีหัวหน้าส่วนงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนายอำเภอในพื้นที่ที่พบจุดความร้อน ซึ่งได้ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเร้นท์ด้วย
สำหรับวันนี้(19 เม.ย.63)จังหวัดเชียงใหม่ ตรวจพบจุดความร้อนขึ้นจำนวน 13 จุด อยู่ในพื้นที่ 5 อำเภอ 7 ตำบล เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 9 จุด และป่าอนุรักษ์ 4 จุด ซึ่งตรวจพบในอำเภอแม่แจ่ม 7 จุด อำเภอสะเมิง 3 จุด และในอำเภอกัลยาณิวัฒนา พร้าว และอมก๋อย อย่างละ 1 จุด
“แม้จุดความร้อนจะลดลงต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องบริหารงานอย่างเป็นระบบ โดยขอให้ทุกอำเภอเข้าตรวจสอบพื้นที่ที่เกิดไฟป่าอย่างใกล้ชิด ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจทำให้ไฟที่เกิดขึ้นลดลงได้ถึงขนาดนี้ แต่อย่างไรก็ตามขอให้คงกำลังชุดลาดตระเวนในแต่ละพื้นที่ไว้ โดยขอให้เพิ่มการลาดตระเวนในช่วงบ่ายให้มากขึ้น เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวมักจะมีการเกิดไฟกลับขึ้นมาอีก ซึ่งอาจจะเป็นไฟที่เกิดจากตอไม้ที่ไหม้แล้วดับไม่สนิท ลุกกลับขึ้นมาอีก จึงขอให้เฝ้าระวังจนกว่าจะดับสนิททั้งหมด”ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวและว่า
ขอให้นายอำเภอและหน่วยงานในพื้นที่ให้เพิ่มการเฝ้าระวังและลาดตระเวนให้มากขึ้นในช่วงวันหยุด เพราะคิดว่าเป็นวันหยุดราชการและอาจจะมีการลักลอบเข้าป่าและจุดไฟได้ โดยได้เน้นย้ำให้แต่ละอำเภอไปสร้างความเข้าใจและสร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งในห้วงเดือนเม.ย.นี้ยังเป็นช่วงที่มีประกาศห้ามเผาเด็ดขาด รวมทั้งคำสั่งประกาศปิดป่าของกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งหากมีผู้ฝ่าฝืนก็ต้องถูกดำเนินคดี
“ในแต่ละพื้นที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ผ่อนผันให้ทำกินว่า หลังจากพ้นช่วงกำหนดห้ามเผา จะมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการ ซึ่งจะมีแผนบริหารจัดการที่แต่ละพื้นที่แต่ละอำเภอดำเนินการได้ในห้วงเวลาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศ แต่ก็จะให้ทันกับช่วงฤดูกาลเพาะปลูก ทำไร่หมุนเวียนอย่างแน่นอน โดยทางจังหวัดได้มีการประสานการทำงานร่วมกับภาคประชาชนและภาควิชาการด้วย”นายเจริญฤทธิ์ กล่าว
ทางด้านนายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในเรื่องของการปลูกป่าทดแทนพื้นที่ถูกเผาไหม้นั้น ทางกรมอุทยานฯจะเป็นผู้จัดหากล้าไม้ ซึ่งผู้ว่าฯได้ให้นโยบายมาว่าในการปลูกป่าควรจะให้อยู่ในช่วงที่ใกล้ฤดูฝน เพราะไม่เช่นนั้นเกรงว่าในการเข้าไปดูแลต้นไม้ที่ปลูกใหม่หากขาดน้ำจะทำให้ต้นไม้ตายได้ ซึ่งเดิมกำหนดว่าจะใช้วันพืชมงคลในการรณรงค์ปลูกต้นไม้พร้อมกัน ก็ขอปรับเปลี่ยนให้แต่ละพื้นที่เตรียมแปลง เตรียมพื้นที่ปลูกไว้ก่อน และประมาณปลายเดือนพ.ค.ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มมีฝนบ้าง จะได้เริ่มปลูกกันในช่วงนั้น
รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า นอกจากกล้าไม้ที่กรมอุทยานฯ จัดหาแล้ว ยังจะมีการจัดหาไม้ยืนต้น และไม้ผล อาทิ กาแฟ มะม่วง ลำไย และลิ้นจี่ มาปลูกด้วยพื่อเป็นการสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพทางการเกษตร ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวด้วย
ด้าน พันตำรวจเอกปิยะพันธ์ ภัทรพงศ์สินธุ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเน้นแนวทางสร้างความเข้าใจควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยพร้อมจะดำเนินการต่อเนื่องตามนโยบายของผู้ว่าราชการจัดหวัดเชียงใหม่ ที่จะให้ประชาชนรับรู้ว่าในปีต่อไปก็ไม่สามารถจุดไฟเผาได้ และจะถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกัน โดยหลังจากหมดช่วงห้ามเผาในวันที่ 30 เมษายนแล้ว ให้แต่ละอำเภอประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ทราบเกี่ยวกับแผนบริหารจัดการการเผา สำหรับความคืบหน้าสามารถดำเนินคดีได้ 40 คดี ในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้ผู้ต้องหา 4 ราย คือที่ อำเภอฝาง 1 รายและอำเภอพร้าว 3 ราย ผลจับกุมรวมถึง ณ ปัจจุบัน จำนวน 1,204 ราย แยกเป็น มีตัว 162 ราย ไม่มีตัว 1,042 ราย แยกเป็น สาธารณสุข 29 ราย แยกเป็นมีตัว 22 ราย ไม่มีตัว 7 ราย ป่าไม้ 1,083 ราย แยกเป็นมีตัว 48 ราย ไม่มีตัว 1,035 ราย (รับคดี 94 ราย ลงปจว.เป็นหลักฐาน 941 ราย) จราจร 91 ราย โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเร่งเดินหน้าพิสูจน์ทราบ และแจ้งความดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระบวนการแจ้งความจะต้องแล้วเสร็จภายใน 3 วัน
ในส่วน พันเอก อโณทัย ชัยมงคล รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 กล่าวว่า ทางมณฑลทหารบกที่ 33 ยังคงจัดกำลังร่วมปฏิบัติตามแนวทางที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้วางไว้ โดยยังคงให้กำลังทหารสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าไปลาดตระเวนและเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือน ซึ่งได้ดึงให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านจิตอาสา รวมทั้งชาวบ้านที่หาของป่าตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ ให้เข้าไปช่วยลาดตระเวน เพื่อช่วยสอดส่องให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐอีกทางหนึ่ง
ด้านนายธนาวุฒิ ปัญจพรอุดมลาภ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวว่า สภาพอากาศในช่วงนี้ถือว่าอากาศยกตัวดีขึ้นมาก เพราะอุณภูมิช่วงเช้าไม่เย็นจัด อยู่ที่ประมาณ 24 – 27 องศาเซลเซียส ทำให้อากาศยกตัวได้เร็ว ส่วนในช่วงบ่ายจะเห็นเมฆเกาะอยู่แนวเขาถือเป็นสัญญาณที่ดี ลมระดับล่างเป็นลมใต้ พัดเข้ามาในพื้นที่ทำให้ฝุ่นไม่ตกค้าง พัดเข้ามาแล้วผ่านไปสามารถกระจายไปได้บ้าง แต่ในช่วงนี้ถึงวันพุธกำลังลมค่อนข้างอ่อน จึงอาจระบายไปได้ช้า ทำให้ฝุ่นควันยังสะสมอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่อยู่ ซึ่งที่ผ่านมามีฝนตกฟ้าคะนองขึ้นบ้างเล็กน้อยแต่ไม่ได้มีส่วนช่วยให้ฝุ่นควันหายไป และจะมีอาจมีฝนฟ้าคะนองอีกครั้งในช่วงประมาณวันที่ 27 เมษายน อากาศร้อนสลับเย็นนี้ ถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ที่แสดงถึงเริ่มเปลี่ยนฤดูแล้ว
ส่วนทางด้านนายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ได้ติดตามสถานการณ์ความต้องการน้ำฝน และภัยพิบัติปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาไฟป่า และไฟป่า ในพื้นที่ภาคเหนือที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยในช่วงวันที่ 11 – 17 เมษายน 2563 หน่วยปฏิบัติการ ฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ได้บินปฏิบัติการฝนหลวงและมีฝนตกจำนวน 4 วัน มีพื้นที่ได้รับผลประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง ทั้งสิ้น จำนวน 4 จังหวัด 17 อำเภอ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ (เมืองเชียงใหม่ แม่แจ่ม, จอมทอง, ฮอด, สะเมิง, หางดง, พร้าว, ไชยปราการ , ดอยเต่า, แม่วาง) จ. ลำพูน (ลี้, ทุ่งหัวช้าง) จ. ลำปาง (เสริมงาม, เถิน, แม่พริก) และ จ. เชียงราย (แม่สรวย, เวียงป่าเป้า)
ผอ.ศูนย์ฝนหลวงภาคเหนือ กล่าวอีกว่า สำหรับการปฏิบัติการช่วงต้นเดือนเมษายน ยังคงมีอุปสรรคด้านสภาพอากาศที่ยังไม่เหมาะสมต่อการปฏิบัติการฝนหลวงมากนัก โดยพบว่า ค่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่ระดับปฏิบัติการ (5,000-10,000 ฟุต) เพิ่มขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่ยังคงมีค่าต่ำกว่า 60% แต่มวลอากาศยังมีเสถียรภาพค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อโอกาสการยกตัวของมวลอากาศที่จะพัฒนาตัวจนเป็นกลุ่มเมฆฝนได้ รวมทั้งเมฆที่เกิดขึ้นยังมีปริมาณและขนาดเม็ดน้ำในก้อนเมฆค่อนข้างน้อย ทำให้เมฆที่เกิดขึ้นไม่พัฒนาตัวและมีแนวโน้มสลายตัวเร็ว อย่างไรก็ตาม ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ได้เตรียมความพร้อมการปฏิบัติการฝนหลวงตลอดเวลา (ทุกวันไม่เว้น วันหยุดราชการ) ทั้งในส่วนของบุคลากร เครื่องบิน สารฝนหลวง รวมทั้งการตรวจสภาพอากาศจากวิทยุหยั่งอากาศในช่วงเช้า และ เรดาร์ตรวจวัดอากาศ (รอบการตรวจทุก 6 นาที ตลอด 24 ชั่วโมง) โดยติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ และการเปลี่ยนแปลง ของสภาพอากาศระหว่างวันอย่างใกล้ชิด ผ่านระบบฐานข้อมูลของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งติดตามการรายงานสภาพท้องฟ้าของเครือข่ายอาสาสมัครฝนหลวงบริเวณต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ.