เครือซีพีเปิดโรงแปรรูปวิสาหกิจชุมชนบ้านกองกาย อ.เเม่เเจ่ม จ.เชียงใหม่ ชูโมเดล “ธุรกิจเพื่อสังคม Social Enterprise ”

เครือซีพีเปิดโรงแปรรูปวิสาหกิจชุมชนบ้านกองกาย อ.เเม่เเจ่ม จ.เชียงใหม่ ชูโมเดล “ธุรกิจเพื่อสังคม Social Enterprise ”

เครือซีพี เดินหน้าร้อยเรียงความดี เปิดโรงแปรรูปวิสาหกิจชุมชนบ้านกองกาย อ.เเม่เเจ่ม จ.เชียงใหม่ ชูโมเดล “ธุรกิจเพื่อสังคม Social Enterprise ” สร้างป่า สร้างอาชีพคนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

เมื่อเร็วๆนี้ นางสาวพัทธนันท์ พิทาคำ นายอำเภอแม่แจ่ม เป็นประธานในพิธีเปิด “โรงแปรรูปกาแฟชุมชนบ้านกองกาย” พร้อมด้วยนางสาวพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายอดิเรก อินต๊ะฟองคำ รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง นายเอกสิทธิ์ วงค์ใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทับ พร้อมด้วยผู้บริหาร พนักงาน บริษัทในเครือฯ ชาวบ้านชุมชนกองกาย ร่วมเป็นสักขีพยาน เปิดโรงเเปรรูปกาเเฟชุมชนบ้านกองกาย ภายใต้โครงการศูนย์วิจัยบ้านกองกาย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์  เพื่อเป็นสถานที่รองรับผลผลิตกาแฟคุณภาพของเกษตรกร สำหรับการแปรรูปกาแฟเพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่ากาแฟของวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบ้านกองกาย ณ โรงแปรรูปกาแฟชุมชนบ้านกองกาย ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ มุ่งมั่นในการดำเนินงานอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3Hs คือ Heart – Living Right, Health – Living Well และ Home – Living Together ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญคือการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นองค์กรที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2030 (Carbon neutrality) จากนโยบายสู่การปฏิบัติพื้นที่ภาคเหนือ ในการฟื้นฟูป่า “Re4rest ปลูกเพื่อความยั่งยืน 4 ต้นน้ำภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน” โดยโครงการศูนย์วิจัยบ้านกองกาย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในเป้าหมายการฟื้นฟูป่าต้นน้ำปิง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพลิกฟื้นผืนป่าต้นน้ำปิง สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบนิเวศทรัพยากรป่าไม้ที่ยั่งยืน ด้วยการพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรให้มีเงินหมุนเวียน ส่งเสริมให้จัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบ้านกองกาย ต.บ้านทับ” ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกพืชทางเลือกอย่างกาแฟอะราบิก้า ทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ บนพื้นที่นำร่องกว่า 133 ไร่ ปัจจุบันเครือซีพีสนับสนุนเกษตรกรในการปลูกกาแฟและไม้ผลเมืองหนาว สามารถสร้างรายได้ที่ดีตลอดทั้งปีให้แก่ชุมชน เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบในการฟื้นคืนผืนป่าภาคเหนือให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง

ทางด้าน นางสาวพัทธนันท์ พิทาคำ นายอำเภอแม่แจ่ม กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ สนับสนุนโรงแปรรูปกาแฟให้กับชุมชนบ้านกองกายในวันนี้ ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนบ้านกองกาย ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนบ้านกองกาย ซึ่งโครงการที่ขับเคลื่อนดังกล่าวฯ ถือว่าเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เนื่องจากชาวบ้านมีอาชีพทำกินในพื้นที่ป่า ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านมีความยากลำบากในการทำการเกษตรจากปัญหาไม่มีแหล่งน้ำ เพื่อมาสนับสนุนการปลูกพืชแบบผสมผสานทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อีกทั้ง อ.แม่แจ่ม ถือเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญที่กว้างใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของ จ.เชียงใหม่ และเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศไทย และความสำเร็จในวันนี้ เกิดได้จากการสนับสนุนชุมชนในการพัฒนาแหล่งน้ำในการปลูกกาแฟที่มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการนำองค์ความรู้ “ศาสตร์พระราชา” ในการจัดการพื้นที่ป่าตามแนวทาง “วนเกษตร” หรือ “เกษตรทฤษฎีใหม่” โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โรงแปรรูปกาแฟชุมชนบ้านกองกาย จะเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในชุมชน เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบที่สามารถขยายไปพัฒนาในทุกพื้นที่ของ อ.แม่แจ่ม ในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ลดปัญหาหมอกควันไฟป่า และลดการใช้พื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว นำไปสู่การทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างยั่งยืน

นางสาวพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือซีพีสนับสนุนโรงแปรรูปกาแฟชุมชนบ้านกองกาย ภายใต้โครงการศูนย์วิจัยกาแฟชุมชนบ้านกองกายในครั้งนี้ ผ่านการผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายในภาคส่วนต่างๆ อาทิ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) กรมป่าไม้ อำเภอแม่แจ่ม สำนักงานเกษตรอำเภอเเม่แจ่ม องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมและชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับอาชีพชุมชนโดยการปลูกกาแฟฟื้นป่าและปลูกพืชแบบผสมผสาน ภายใต้โมเดลต้นแบบ “กองกาย หมู่บ้านฟื้นฟูป่า 100%” โดยเครือซีพี สนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ เติมเต็มทักษะด้านบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตลอดจนยกระดับการพัฒนาสู่ธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ดังนั้น โรงแปรรูปแห่งนี้ จึงเป็นพื้นที่สำคัญในขั้นตอนและกระบวนการแปรรูปที่สามารถรองรับผลผลิตกาแฟคุณภาพ และยกระดับผลผลิตกาแฟให้เกิดมูลค่าสูงสุด ถือเป็นพื้นที่เปิดกว้างในการร่วมแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของทุกภาคส่วน ส่งเสริมชุมชนให้สามารถอยู่ร่วมกับป่า และสามารถสร้างรายได้ควบคู่กับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ที่จะสามารถลดหมอกควันไฟป่า จากการที่ชุมชนพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน โดยชุมชนบ้านกองกาย จะกลายเป็นชุมชนต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆใน อ.แม่แจ่ม และสามารถเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านกองกาย (Kong Kai Community Learning Center)” ที่จะพร้อมเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของชุมชน จากความร่วมมือระหว่างคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือซีพี เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ เครือซีพี ยังให้ความสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการไม่ตัดไม้ทำลายป่า (Biodiversity and No Deforestation Commitment) โดยโครงการดังกล่าวฯ เข้าไปพัฒนาในหลายด้าน อาทิ ในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ เครือซีพีสนับสนุนการสร้างฝายและอ่างเก็บน้ำบ้านกองกาย ซึ่งเป็นโครงการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภาคีเครือข่ายตำบลบ้านทับ ภายใต้แผนงาน แม่แจ่มโมเดลพลัส โดยมีเป้าหมายให้เป็นแหล่งน้ำสำคัญในการทำเกษตรของชุมชน ให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งน้ำในการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชมูลค่าสูง  ในด้านการฟื้นฟูป่าไม้ เครือซีพี สนับสนุนการเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการปลูกต้นไม้สร้างป่า และไม้สีต่างๆ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ร่วมกับภาคีเครือข่ายและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ลดการใช้พื้นที่ทำเกษตรให้ป่าฟื้นฟู สร้างชุมชนเข้มแข็ง พร้อมอนุรักษ์ทรัพยากรไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน.

You may also like

ดีป้า ปิดท้ายกิจกรรม Coding Inspire กระตุ้นเยาวชนเข้าถึงโค้ดดิ้งเท่าเทียมและทั่วถึง
ภายใต้ โครงการ Coding for Better Life ‘สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย

จำนวนผู้