เขื่อนแม่กวงฯเตรียมประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำวางแผนบริหารเพาะปลูกพืชกลางก.ค.นี้

เขื่อนแม่กวงฯเตรียมประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำวางแผนบริหารเพาะปลูกพืชกลางก.ค.นี้

เขื่อนแม่กวงฯเตรียมประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อวางแผนเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน โดยเริ่มตั้งแต่ 15 ก.ค. “ผอ.เจนฯ”แจงหลังอุตุฯแจ้งเข้าฝนมีน้ำไหลเข้าเขื่อนเพียง 6.1 ล้านลบ.ม.ขณะที่ต้องปล่อยน้ำเพื่อผลิตประปาหมู่บ้านใน 2 พื้นที่ 40 ล้านลิตร ยันเรียงลำดับความสำคัญตามนโยบายรัฐบาลและกรมชลประทานอย่างเคร่งครัด

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมอุตตุนิยมวิทยาได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 18 พ.ค.63 เป็นต้นมา ปรากฏว่าในพื้นที่รับน้ำของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีฝนตกในพื้นที่เพียง 141 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย ณ วันเดียวกัน 204 มิลลิเมตร คิดเป็น 69.12% เท่านั้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนน้อยลงไปด้วย ปัจจุบันมีน้ำไหลเข้าเขื่อน 6.1 ล้าน ลบ.ม. เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย ณ วันเดียวกัน 11.6 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 52.59% ทำให้เหลือน้ำเก็บกักอยู่ในเขื่อนปัจจุบัน 61.73 ล้าน ลบ.ม.(23.48%)

ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา กล่าวอีกว่า เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และกรมชลประทาน ในช่วงระหว่างที่ฝนยังตกในปริมาณที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย จึงมีการส่งน้ำให้กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภค บริโภค ซึ่งมีการร้องขอให้ช่วยเหลือไปแล้ว 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวต้องการแหล่งน้ำที่ใช้เป็นน้ำต้นทุนในการผลิตประปาจำนวน 3 หมู่บ้าน(หมู่ที่ 2 ,6 และ 10) ที่ขาดแคลนน้ำ โครงการฯแม่กวงฯ ได้ส่งน้ำเข้าพื้นที่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 63 ปริมาณน้ำที่ส่งให้ทั้งสิ้น คิดเป็นปริมาณน้ำ 40,000,000 ลิตร

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ ต.หนองแหย่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งน้ำที่ใช้เป็นน้ำต้นทุนในการผลิตประปาหมู่บ้านและขาดแคลนน้ำ พื้นที่ทุ่งปศุสัตว์ โดยโครงการฯแม่กวงฯ ได้ส่งน้ำเข้าพื้นที่เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 63 ปริมาณน้ำที่ส่งให้ทั้งสิ้น คิดเป็นปริมาณน้ำ 8,100,000 ลิตร

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวถือเป็น 1 ใน 5 นโยบายในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงฯ ได้วางแผนการบริหารจัดการในพื้นที่ชลประทานโดยจัดลำดับไว้ ดังนี้ น้ำอุปโภค บริโภค จะต้องเพียงพอตลอดปี พื้นที่ชลประทานที่เพาะปลูกในฤดูนาปี ให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง หรือขาดแคลน มีการบริหารน้ำท่าด้วยอาคารชลประทานให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ให้สามารถนำน้ำในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่า เก็บกักน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนให้ได้มากที่สุด โดยการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้มีน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งหน้า และบริหารน้ำหลากให้เกิดประสิทธิภาพ แลวางแผนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ โดยใช้หลักการ 3 ข้อ คือ การกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย(มาก ปานกลาง น้อย) การกำหนดตัวบุคคลที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน และสุดท้ายเตรียมเครื่องจักรเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเมื่อเกิดเหตุ

นายเจนศักดิ์ กล่าวด้วยว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธาราได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วตามที่กรมฯสั่งการ และยังมีการจัดการประชุมผู้ที่มีส่วนร่วมในการใช้น้ำ เพื่อวางแผนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ไว้แล้ว คือ จะเริ่มมีการเพาะปลูกและเริ่มส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรสำหรับฤดูฝนในวันที่ 15 ก.ค. 63 และจะมีการประชุมเพื่อวางแผนรอบเวรในการบริหารจัดการน้ำอีกครั้งในวันที่ 8 มิ.ย.63 นี้ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพ และประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรผู้ใช้น้ำต่อไป.

 

 

You may also like

รมว.ท่องเที่ยวฯเตรียมเสนอรัฐบาลดันโครงการ”แอ่วเหนือคนละครึ่ง”จัดครม.สัญจรสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวหวังฟื้นฟูได้ทันพ.ย.นี้

จำนวนผู้