“อนาคตใหม่”เปิดเวทีแลกเปลี่ยนแนวทางทำงาน ชูนโยบายกระจายอำนาจเลิกการบริหารส่วนภูมิภาค เสนอจัดเก็บภาษีหุ้นและที่ดินไม่ใช้ประโยชน์

“อนาคตใหม่”เปิดเวทีแลกเปลี่ยนแนวทางทำงาน ชูนโยบายกระจายอำนาจเลิกการบริหารส่วนภูมิภาค เสนอจัดเก็บภาษีหุ้นและที่ดินไม่ใช้ประโยชน์

- in headline, จับกระแสสังคม

“อนาคตใหม่”เปิดเวทีแลกเปลี่ยนแนวทางทำงาน ชูนโยบายกระจายอำนาจเลิกการบริหารส่วนภูมิภาค เสนอจัดเก็บภาษีหุ้นและที่ดินไม่ใช้ประโยชน์แบบทวีคูณ หวังลดความเหลื่อมล้ำ แนะสื่ออย่าเฉยเมยกับกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องความอยุธติธรรม สิทธิเสรีภาพและวิจารณ์ผู้มีอำนาจที่ถูกจับ แจงแผนระดมทุนตั้งพรรค เลือกตัวแทนในแต่ละพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมและโปร่งใสวันที่  27 เม.ย.61 ที่โรงแรมศิรินาถการ์เด้น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมด้วยนายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ได้จัดกิจกรรมพบปะกับนักธุรกิจและสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเปิดโอกาสให้แสดงความเห็น ข้อเสนอแนะและความต้องการเพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน

นายชำนาญ จันทร์เรือง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นขอจดแจ้งก่อตั้งพรรคและกกต.ได้รับรองชื่อพรรคแล้ว และยื่นขอประชุมเพื่อจัดตั้งพรรคในวันที่ 27 พ.ค.นี้ซึ่งก็คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา หลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการเลือกกรรมการบริหารพรรคและยื่นต่อกกต.เพื่อให้ออกใบรับรอง ก่อนจะเริ่มสรรหาสมาชิกและระดมทุนซึ่งคาดว่าน่าจะประมาณปลายเดือนกรกฎาคม ในช่วงนี้จึงเป็นการหาแนวร่วมเพราะพรรคจะส่งผู้สมัครลงทุกเขตเลือกตั้ง และจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่ 10 ที่ได้ออกมาพบปะกับกลุ่มต่างๆขณะที่นายจุลพันธ์ นนท์ศรีชัย ได้เสนอให้พรรคมีนโยบายในการช่วยเหลือผู้พิการ โดยเฉพาะการติดอาวุธทางปัญญาส่งเสริมให้ผู้พิการเข้าถึงอีคอมเมิร์ซ เพราะกฎหมายที่มีอยู่ทำให้เห็นว่าการจะให้นายจ้าง จ้างคนพิการทำงานไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนักเพราะไม่สามารถใช้แรงงานแข่งกับคนปกติได้ ส่วนนายรัฐภัทร ศรีจำกัด ตัวแทนจากบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม เสนอเรื่องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยากให้รัฐบาลกระจายอำนาจและมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องคนกับป่า โดยเฉพาะการออกกฎหมายสิ่งแวดล้อม อย่างกรณีปัญหาหมอกควัน ไฟป่าที่เกิดจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งรัฐบาลต้องจัดเก็บภาษีจากกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นแล้วตั้งเป็นกองทุนมาจัดการปัญหานี้ โดยที่ผ่านมายังไม่เคยมีรัฐบาลไหนกล้าพูดเรื่องนี้ทั้งที่วิสาหกิจเพื่อสังคือหรือ CSE จะเป็นตัวผลักดันทำให้เกิดความร่วมมือในชุมชน เป็นกลไกขับเคลื่อนในชุมชน แต่รัฐบาลกับไปใช้ประชารัฐเป็นกลไกซึ่งถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของรัฐบาลในเรื่องกิจการเพื่อสังคมทางด้านนางภิมทร์ เขมะสิงคิ เจ้าของนิตยสาร Citylife Chiang Mai กล่าวว่า หน้าที่ของสื่อมวลชนคือสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ในฐานะคนทำสื่อตอนนี้กลับถูกบิดเบือนและลดทอนสิทธิเสรีภาพ

เช่นเดียวกับนายธีรมล บัวงาม บรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม กล่าวว่า อยากจะฝากให้พรรคชูนโยบายเรื่องของการปฏิรูปสื่อ โดยเฉพาะเรื่องการผ่อนโครงสร้างคลื่นความถี่ เพราะถูกผูกขาดและยึดกุมจากหน่วยงานความมั่นคงและกรมประชาสัมพันธ์ พอคสช.เข้ามาจัดการก็กลับทำให้เกิดภาวะย้อนแย้งเข้าไปอีก เมื่อให้กสทช.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระไปอยู่ภายใต้กระทรวงดิจิตอลและมีกฎหมายควบคุมอีก ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอบ ทุกอย่างถูกผูกขาดและก่อนหน้านั้นก็ไม่มีพรรคการเมืองไหนเคยมีนโยบายในเรื่องนี้

นายไกลก้อง ไวทยการ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายของพรรคคือจะทำในเรื่องของความโปร่งใส โดยแสดงข้อมูลเปิดในเรื่องของการใช้งบประมาณทั้งของส่วนกลางและท้องถิ่น เป็น Open Data เพราะที่ผ่านมาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการสื่อจะเข้าถึงได้ต้องใช้พรบ.ข้อมูลข่าวสารฯ และ Open Data นี้ยังรวมไปถึงข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจด้วย ซึ่งจะไม่มีการแสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐใช้งบประมาณเท่าไหร่ มีการจัดซื้อจัดจ้างอย่างไรหลังจากนั้นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้กล่าวแนะนำตัวเองว่า ก่อนที่จะมาทำงานด้านการเมืองก็เคยเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครนายกมา 4 ปี เป็นกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 6-8 ปีและเป็นเลขาธิการสมาคมยานยนต์ไทยและเป็นกรรมการที่อายุน้อยที่สุดรวมถึงกรรมการพัฒนาคลัสเตอร์สวทช.ด้วย จึงมีประสบการณ์ทางด้านธุรกิจมาบ้าง และเห็นด้วยกับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องหมอกควัน ไฟป่าตามที่บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ทำและนำเสนอปัญหาดังกล่าวขึ้นมา

“จังหวัดเชียงใหม่มีนักท่องเที่ยวเยอะ จะเป็นไปได้มั้ยหากจะเอาพื้นที่บางส่วนไปปลูกพืชผลิตอาหารให้โรงเรียน นำรายได้ไปตั้งกองทุนแล้วเอาไปฟื้นฟูป่า และทำเป็นโฮมสเตย์ ให้ชาวบ้านได้ดูแลนักท่องเที่ยวและช่วยกันฟื้นฟูป่า ซึ่งถือเป็นอีกทางหนึ่งในการสร้างอาชีพ แต่สิ่งที่จะต้องทำอันแรกคือเรื่องของการกระจายอำนาจ  ให้อำนาจการจัดการอยู่ที่ท้องถิ่น เพราะปัญหาที่ผ่านมาทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายกรม หลายกระทรวง แต่คนที่จะสามารถจัดการ สั่งการแก้ไขปัญหาได้มีเพียงนายกรัฐมนตรีเท่านั้น”นายธนาธร กล่าว

ผมเชื่อแบบอาจารย์ชำนาญว่าการกระจายอำนาจจะเป็นกลไกสำคัญและต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องคนกับป่า ซึ่งกฎหมายผู้ถือครองที่ดินจะเป็นของรัฐกับเอกชน แต่จริงๆ สามารถเป็นของชุมชนได้ ซึ่งก็มีอีกหลายๆ เรื่องที่ต้องทำ ที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าทำ รัฐไทยเป็นรัฐที่ใหญ่มากเงินงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาทจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับข้าราชการประจำ เหลือเพียง 20% ของงบประมาณแผ่นดินที่เป็นงบลงทุน และรัฐวิสาหกิจก็มีโครงข่ายยึดโยงไปในชีวิตประจำวันมากและนำมาถึงการทุริตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันเมื่อมาถึงจังหวัดก็ไม่มีอำนาจจัดการตนเองและยังมีการจัดสรรทรัพยากรบิดๆ เบี้ยวๆ

“กทม.จัดเก็บภาษีได้ 26% แต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณถึง 72% ขณะที่มีประชากร 17% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดเก็บภาษีได้ 11% แต่ได้รับการจัดสรร 6% แต่มีประชากร 34% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ภาคเหนือจัดเก็บได้ 9% แต่ได้รับจัดสรรมา 7% แต่มีประชากร 18% ซึ่งทุกภาคมีแนวโน้มเหมือนกันหมดคือมีทรัพยากร ป่าไม้ คนกรุงเทพก็คาดหวังให้คนภาคเหนือดูแลป่าต้นน้ำและสถานที่ท่องเที่ยว ขณะที่คนอีสานต้องเสียสละวิถีชีวิตตนเองแลกกับการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ทรัพยากรของทั้งประเทศกลับถูกถ่ายโอนไปที่กทม.”

มีคนพยายามเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2540 จนกระทั่งมีพ.ร.บ.ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่นปีพ.ศ.2542 และมีกฎหมายลูกออกมาและการกระจายอำนาจเริ่มดีขึ้น แต่ก็มาสะดุดเมื่อเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2549 และอีกครั้งในรอบที่ผ่านมา ซึ่งก็ทำให้เห็นว่าเกิดขึ้นจากพันธมิตรจากฟากราชการที่ไม่ยอมคืนอำนาจกับทหาร จากที่คุยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเห็นถึงความตึงเครียดอยู่ว่าอำนาจปล่อยมาไม่สุด

นายธนาธร กล่าวต่อไปอีกว่า ข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่คือ องค์กรที่จะดูแลเรื่องทรัพยากรต่างๆ จะต้องตัดออกจากส่วนกลาง โดยเอาองค์กรในเชียงใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งและมีอำนาจเบ็ดเสร็จคือมีทั้งคน งานและเงิน ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เป็นจริงได้นั่นคือจะต้องให้จังหวัดจัดเก็บภาษีหลัก 4 อย่างเองโดยไม่ต้องส่งเข้าส่วนกลางแบบเดิมคือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ

“ไอเดียของพรรคคือจะให้จังหวัดเก็บภาษีตรงและให้อำนาจในการบริหารจัดการสามารถเอาเงินจากการจัดเก็บภาษีนี้ไปใช้โดยข้ามขั้นตอนที่จะต้องขออนุมัติจากส่วนกลาง ซึ่งเราเชื่อว่าที่ต่างจังหวัดมีความเหลื่อมล้ำที่รายได้ ไม่ใช่เรื่องโงหรือไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะจากที่ไปพูดคุยมาหลายจังหวัดทั้งอุดร ขอนแก่น โคราช ตรัง เชียงใหม่ ก็ได้พบไอเดียดีๆ แบบนี้”

ผมปฏิเสธความเชื่อที่ว่า โง่ จน เจ็บ แต่เชื่อสิ่งที่จังหวัดไม่สามารถพัฒนาตนเองได้คือ ประชาชนถูกปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพ ทุกคนเข้าไม่ถึงอำนาจในการพัฒนา ถ้าไม่แก้ประเทศไทยก็จะขับเคลื่อนได้ช้าลงและถ้ายิ่งปล่อยต่อไปประเทศจะถดถอยในเรื่องของการพัฒนาลงไป หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีสังคมไหนไม่มีคอรัปชั่น แต่จากข้อมูลข้อพิสูจน์พบว่ายิ่งเป็นประชาธิปไตย การคอรัปชั่นจะน้อยลง แต่ประเทศไทยแก้ปัญหาคอรัปชั่นโดยดึงอำนาจจากประชาชนไปให้ทหาร เป็นการสวนทางของมนุษยชาติ หลายปีมานี้ทำให้เห็นแล้วว่าการดึงอำนาจจากประชาชนไปให้ทหารการคอรัปชั่นก็ไม่ได้น้อยลง

นายธนาธร กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพของสื่อก็เช่นเดียวกัน ทำไมสิทธิเสรีภาพและการแสดงออกถึงจำเป็น ซึ่งสื่อมีหน้าที่เฉพาะของสื่อคือการนำเสนอความจริงและเรื่องที่ผู้มีอำนาจไม่อยากรู้ ดังนั้นในสังคมประชาธิปไตยสิทธิและเสรีภาพสื่อจึงได้รับการปกป้อง ปัญหาสังคมไทยในเรื่องสื่อหลังรัฐประหารมีคนจำนวนมากที่กำลังโดนคดีอยู่ในคุกและจะโดนอีก เพียงแต่ไม่เห็นด้วย และวิพากษ์ วิจารณ์ผู้มีอำนาจในสังคมและเป็นคนที่อายุน้อยที่มีความกล้า ผมดีใจที่เห็นคนกลุ่มนี้ออกมาเรียกร้องและวิจารณ์ และเสียใจว่าไม่มีสื่อไหนยอมรับว่าการออกมาของเด็กกลุ่มนี้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นหากสื่อเองถูกริดรอนเสรีภาพบ้างก็อย่าไปเรียกร้องสิทธิ ทั้งนี้ จงอย่าไปเห็นความอยุติธรรมและเฉยเมยกับมันจนกลายเป็นเรื่องปกติของสังคม แต่สื่อต้องแสดงให้เห็นถึงความกล้า รายงานสิ่งที่ถูกต้อง

“เรื่องเสรีภาพสื่อเป็นผลพวงจากเหตุการณ์พฤษภา 35 ที่ต้องการทำให้สื่อมีอิสระจากรัฐและทุน จึงทำให้เกิดสื่อใหม่ขึ้นมาคือไทยพีบีเอสในปัจจุบัน ทุกคนตระหนักถึงความพยายามปิดกั้นการแสดงออก ดังจะเห็นว่าวิทยุชุมชนถูกปิดหมด แม้มาถึงยุคที่มีกสทช.ที่พยายามยกเลิกและจัดสรรใหม่แต่สุดท้ายก็ล้มเลิกไปเพราะยังมีผู้มีอิทธิพลอยู่ในวงการที่ได้รับประโยชน์

ในส่วนของพรรค สิ่งที่อยากทำในเรื่องของการมีส่วนร่วมต่อการเป็นพรรคการเมืองที่ยืนหยัดระยะยาว ไม่มีเจ้าของ เพราะได้เห็นแล้วว่าพรรคที่มีเจ้าของไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เราไม่ได้อยากทำพรรคแบบนั้น แต่อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงาน เรื่องหลักของพรรคคือ 1.ระดมทุน แม้ตนมาจากครอบครัวที่มีฐานะแต่ไม่อยากเอาเงินมาใช้ในการก่อตั้งเพราะจะทำให้พรรคไม่ยั่งยืน ดังนั้นเราจะระดมทุนจากประชาชนและสมาชิกให้ได้ 350 ล้านบาท และจะมีการแสดงบัญชีอย่างโปร่งใสให้คนภายนอกและสมาชิกเห็น ซึ่งการที่เงินก่อตั้งพรรคไม่ได้มาจากใครหรือกลุ่มใด กลุ่มหนึ่งก็จะไม่มีใครเป็นผู้ตั้งพรรค จะไม่ใช้เงินซื้อตัวส.ส.หรือดูดส.ส.จากพรรคอื่น ในส่วนของกรรมการบริหารพรรค จะมีคณะกรรมการในแต่ละจังหวัดและรวมเป็นกรรมการภาค ซึ่งก็จะเป็นผู้คัดเลือกส.ส.ว่าคนไหนได้ลง ไม่ใช่ผมหรือปิยะบุตรเป็นคนเลือก เพราะเราจะมีกรรมการกลาง 10 คนเป็นผู้เลือก โดย 5 คนเป็นตัวแทนภาคและเลือกกันมาเอง

อีกเรื่องที่อยู่ในแนวคิดของพรรคคือเรื่องของภาษีที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมจะต้องแก้ไข และหนี่งในนั้นคือบีโอไอ ซึ่งพรรคจะกำหนดเป็นหนึ่งในนโยบายที่จะยกเลิก และจะให้มีการเก็บภาษีหุ้น เพราะที่ผ่านมาหุ้นที่มีกำไรแต่ก็ไม่เคยมีการจ่ายภาษี คนเล่นหุ้นก็คือคนที่มีเงิน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันพรรคจะมีนโยบายให้เก็บภาษีหุ้นด้วย รวมไปถึงการเก็บภาษีที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ปล่อยทิ้งร้างที่จะต้องให้ชำระภาษีทวีคูณ เพราะเมื่อคนที่ถือครองและเก็บที่ดินไว้โดยไม่ทำประโยชน์ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นทุกปี สุดท้ายก็จะพัฒนาที่ดินหรือปล่อยที่ดินที่ถือครองไว้ไปใช้ประโยชน์ ไปเพิ่มมูลค่าก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ

นายธนาธร ได้กล่าวทิ้งท้ายกับผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นว่า อนาคตเป็นของพวกเรา อย่าปล่อยให้คนอื่นมากำหนด คนที่อายุเยอะกว่าตนก็ขออย่าเพิ่งหมดไฟ และถ้าหากยังมีไฟก็ให้มาร่วมกับอนาคตใหม่เพื่อส่งถ่ายให้คนรุ่นต่อไปได้บริหารประเทศ

นายธนาธร  ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกในภาคเหนือที่ได้ลงพื้นที่พบปะ แลกเปลี่ยนกับกลุ่มต่างๆ วันแรกที่มาก็ยอมรับว่าไม่พอใจเพราะยังไม่ค่อยมีใครรู้จักธนาธร นับตั้งแต่ลงเครื่องบินมาไม่เหมือนยิ่งลักษณ์หรืออภิสิทธิ์ ดังนั้นในช่วง 10 เดือนจากนี้ไปต้องทำให้คนรู้จักพรรคอนาคตใหม่ให้มากที่สุดและจะทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้ได้พูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ ได้รู้ถึงเรื่องป่าไม้ ที่ดินทำกินซึ่งต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อที่จะนำไปคิดเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมของพรรค จากนี้ก็มีแผนที่จะพบกับนักธุรกิจคนรุ่นใหม่พูดคุยในเรื่องการทำธุรกิจให้แข็งแรง พบกับกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและนักวิชาการ พูดคุยในเรื่องของการกระจายอำนาจซึ่ง 3 วันที่อยู่ในเชียงใหม่จะเก็บข้อมูล พบปะและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันให้มากที่สุด.

You may also like

โออาร์ จัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์สื่อมวลชนภูมิภาค ประจำปี 2567 ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “เติมเต็มโอกาส

จำนวนผู้