“หุ่นกระบอก”เล่าขาน ตำนานสมเด็จพระนเรศวร

“หุ่นกระบอก”เล่าขาน ตำนานสมเด็จพระนเรศวร

- in Exclusive, นันทนาการ

 ต้นทุนความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ที่นิสิตชมรมประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เก็บเกี่ยวสะสมไว้ ทำให้พวกเขาเกิดความคิดที่จะต่อยอดเพื่อเผยแพร่ประวัติศาสตร์ให้บุคคลภายนอกเข้าใจอย่างง่ายๆ และกว้างขวางมากขึ้น จึงรวมตัวกันตั้ง“ทีมประวัติศาสตร์ความทรงจำที่มีชีวิต” เพื่อทำกิจกรรม “หุ่นกระบอกตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” อันเป็นหนึ่งใน“โครงการปฏิบัติการวัยรุ่นสร้างสุขภาวะ (สุขยกแก๊ง)” ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กิตติศักดิ์ สีมูล ผู้ริเริ่มกิจกรรม เล่าถึงจุดเริ่มต้นของความคิด ว่ามีโอกาสไปเข้าค่ายกับกลุ่มกิ่งก้านใบ และได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ จากหลายที่ เหมือนขายฝันให้กันฟัง และมองย้อนกลับมาหาตัวเองที่เรียนประวัติศาสตร์ สนใจทำกิจกรรมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาตลอด แต่ในสายตาของบุคคลอื่น ประวัติศาสตร์กลับไม่ใช่เรื่องน่าสนใจ หากน่าเบื่อด้วยซ้ำเพราะ เพราะคือการท่องจำ ไม่มีสื่อ ส่งผลให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์น้อยลงเรื่อยๆ แตกต่างจากหลายกลุ่มที่มีอะไรดึงดูด น่าสนใจอยู่ในตัวเอง อาทิ เซรามิกลอยตัว ถ่ายรูปเล่าเรื่อง ชมรมต้นน้ำ เลยเก็บไอเดียสะสมไอเดียไว้พร้อมทั้งเกิดแนวคิดอยากหาวิธีเผยแพร่ให้เป็นที่สนใจและยอมรับของคนทั่วไป จึงได้ปรึกษา ผศ.ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร และหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ กับรุ่นพี่ที่ถนัดเกี่ยวกับหัวโขน อันเป็นที่มาของการตัดสินใจทำหุ่นกระบอก เพราะเห็นว่าเยาวชนบางคนยังไม่รู้จักหุ่นกระบอก จึงยึดเอาความเด่นทางด้านการเชิดหุ่นกระบอก มาเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ชมเข้าใจและเรียนรู้ประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มเรื่องราวที่น่าสนใจเข้าไปในการแสดงหุ่นกระบอก ขณะเดียวกันก็ผนวกความเป็นสมัยใหม่เข้าไปด้วย เพื่อสร้างความตื่นเต้น เร้าใจให้กับผู้รับชม  

“ในการทำงานช่วงแรกค่อนข้างยาก เนื่องจากทำหุ่นกระบอกกันเอง ขนาดใหญ่กว่าหุ่นทั่วไป เพื่อให้คนสนใจ จับต้องได้ ทำให้มีน้ำหนักมาก นิสิตรุ่นพี่ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโท และดึงมาเป็นที่ปรึกษา จะคอยสอน ให้คำแนะนำในการสร้างหุ่นทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขึ้นโครงหุ่น เกลาโฟม น้องๆ ก็มาช่วยกันทำ ซึ่งพอเริ่มแล้วทุกคนก็ไม่อยากทิ้งกลางคัน มีการออกแบบตั้งแต่หน้าหุ่น ตัวหุ่น แต่ละคนจะใส่เอกลักษณ์เฉพาะตัวลงไปในหุ่น อาจเป็นหน้าตา คิ้ว ปาก แม้จะไม่ใช่ตัวหลักอย่างสมเด็จพระนเรศวร มหาราช เป็นแค่ทหารนักรบ ที่แต่งกายเหมือนกัน หากคนทำจะรู้ว่าได้สร้างตัวไหน” กิตติศักดิ์ อธิบาย วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำหุ่น พยายามใช้สิ่งที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น เครื่องแต่งกาย มีการใช้ผ้าชนิดต่างๆ กับกระดาษที่มีสีสันเลื่อมระยับ มาตัดแต่งให้สวยงาม เข้ากับลักษณะตัวละคร ตามที่ถอดความจากประวัติศาสตร์ ใช้ทั้งการเย็บด้วยมือ และแปะด้วยกาวในบางจุด ช่วยให้ประหยัดรายจ่ายในการสร้างหุ่นได้ค่อนข้างมาก

ครั้นสร้างหุ่นเสร็จ ยังเชิดหุ่นไม่เป็น รุ่นพี่ก็หาวิทยากรมาสอน ปรากฏว่าภายในชมรมมีทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง เวลาเรียนไม่ตรงกัน เวลาว่างมาทำกิจกรรมก็ต่างกัน ต้องขยับไปใช้ช่วงเย็น ประมาณ 17.00-18.00 น.ขึ้นอยู่กับเวลาว่างของน้องเป็นหลัก โชคดีที่ อ.วศิน สนับสนุนให้ใช้ตึกเพื่อทำกิจกรรมได้ตลอด การฝึกซ้อมจึงคืบหน้ามาเรื่อยๆ จนสามารถแสดงโชว์ได้ด้าน วรวิทย์ ฤทธิ์เดช ประธานชมรมประวัติศาสตร์ และผู้ประสานงานทีมประวัติศาสตร์ความทรงจำที่มีชีวิต เล่าว่า ในการทำงานจะอาศัยความสามารถที่โดดเด่นของแต่ละคน เช่น น้องถนัดคอสตูม ก็ดูแลด้านเครื่องแต่งกายหุ่น ดึงออกมาจากหนังสือประวัติศาสตร์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช บางคนถนัดพล็อตเรื่อง ก็ช่วยนิสิตรุ่นพี่ดูบท เน้นคงเรื่องราวเดิมไว้ แต่เพิ่มจุดเด่น อย่างตอน “สุบินราชาหงสาพ่าย” เพิ่มจระเข้เข้ามาในสุบินของสมเด็จพระนเรศวร มีการต่อสู้ฟาดฟันจนพระองค์ได้ชัยชนะ เป็นนัยว่าจระเข้คือพระมหาอุปราชแห่งกรุงหงสาวดี และสุดท้ายสมเด็จพระนเรศวรจะเอาชนะสงครามได้ พอนำออกแสดง เด็กๆ เห็นก็อยากรู้ สังเกตว่าเมื่อแสดงจบแล้วมีเด็กมาถามว่าตัวนี้คือใคร อย่างไร บางคนสนใจอยากทำหุ่นด้วย

“ทีมงาน 20 กว่าคน ทุกคนสามารถเชิดหุ่นได้ทุกตัว แม้ว่าปกติจะมีตัวเชิดของตนเอง แต่ถ้าคนขาดก็สามารถทดแทนกันได้ทันที โดยบางคนอาจวนเชิดหลายรอบ ทีมงานที่อยู่เบื้องหลังก็จะคอยช่วยเตรียมหุ่นให้พร้อม จ่อคิวยื่นให้คนเชิดรับไปเชิดต่อ และบางครั้งรุ่นพี่ก็จะเปิดโอกาสให้รุ่นน้องขึ้นไปเชิดตัวหลักแทน ซึ่งไปแสดงแต่ละที่ก็จะเจออุปสรรคให้ช่วยกันแก้ไขเฉพาะหน้าแตกต่างกันไป ยิ่งผู้ชมเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์เคยเชิดหรือดูหุ่นกระบอกมาก่อน จะไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมก้าวเท้าไม่พร้อมกัน หรือไม่ตั้งฉากไว้แต่ให้คนถือแทน ภาพที่ออกมาจึงไม่สวยเหมือนหุ่นละครเล็ก หรือโขน ก็ต้องทำความเข้าใจว่าในบางสถานที่ค่อนข้างคับแคบ การก้าวออกไปพร้อมๆ กันทำได้ยาก และพื้นที่ตั้งฉากก็จำกัด เป็นต้น” วรวิทย์ กล่าวเขาบอกว่าสิ่งที่ทำอยู่ สร้างความสุขได้ 2 ระดับ คือตัวของคณะทำงาน มีความสุขในฐานะผู้ให้ นำความรู้ที่ได้จากการเรียนประวัติศาสตร์มาแปรเปลี่ยนเป็นบทละครที่บอกเล่าถึงวีรกรรมของวีรกษัตริย์ไทย ผ่านสื่อหุ่นกระบอก ทั้งยังสามารถนำเสนอได้ทุกแห่งหน ส่วนระดับที่ 2 คือในส่วนของผู้รับ ได้อรรถรสในการชมและรับทราบเรื่องราวของวีรกษัตริย์ผู้กล้าหาญ และมีคุณูปการต่อประเทศชาติ ขณะเดียวกันผู้ชมที่เป็นเด็กประถม หรือเด็กอนุบาล ยังสามารถจับต้องอุปกรณ์บางชิ้น เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ผ่านกระบวนการฝึกจับหุ่นที่มือ และชักหุ่นตามท่าทางต่างๆ ได้อีกด้วย และที่สร้างทั้งความภาคภูมิใจและความประทับใจให้กับทีมประวัติศาสตร์ความทรงจำที่มีชีวิต ก็คือการได้แสดงหุ่นกระบอกในเทศกาลหุ่นโลก ซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่ตำนานสมเด็จพระนเรศวรให้ชาวต่างประเทศรับรู้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นแล้ว ทุกคนยังได้ฝึกภาษา ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างของคนในสังคม รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนใหม่หลายประเทศ ถือเป็นกำไรชีวิต และประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่ง.

You may also like

CEA – MUJI จับมือดันงานหัตถกรรมท้องถิ่นเชียงใหม่ ผลักดันผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ท้องถิ่นเข้าสู่ตลาดแบรนด์ระดับโลก

จำนวนผู้