หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่เชื่อแนวโน้มเศรษฐกิจปี 62 ดี การเลือกตั้งเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งในและแม้เศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายปี 61 กำลังซื้อชาวบ้านซบเซา หนี้ครัวเรือนเพิ่ม ชี้การออกมาตรการด้านภาษีที่ทำให้อนาคตนักท่องเที่ยวเข้าเชียงใหม่จะโตถึง 12 ล้านคนในปี 2562
วันที่ 30 ม.ค.62 ที่สำนักงานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยนายสมชาย ทองคำคูณ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และคณะกรรมการบริหารฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ปี 2561และแนวโน้มปี 2562
นายสมชาย ทองคำคูณ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เศรษฐกิจเชียงใหม่ไตรมาส 4 ปี 2561 กระเตื้องขึ้นจากปลายไตรมาส 3 และต้นไตรมาส 4 นักท่องเที่ยวจีนปรับตัวดีขึ้นมากในช่วงเทศกาลลอยกระทงและยังมีนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ขยายตัวมาก แต่การอุปโภค บริโภคโดยรวมไม่เข้มแข็ง กำลังซื้อตลาดชาวบ้านซบเซา การลงทุนภาคเอกชนมีประปรายในบางธุรกิจและการใช้จ่ายภาครัฐก็ลดลง เริ่มมีสัญญาณปัญหาหนี้ครัวเรือนของกลุ่มชาวบ้านและผู้มีรายได้ประจำ
นอกจากนี้ยังพบว่าธุรกิจดั้งเดิมต้องแข่งขันกับธุรกิจ E-Commerceซึ่งผู้บริโภคส่วนหนึ่งนิยมบริโภคผ่านช่องทางนี้ สำหรับการบริโภคสินค้าคงทนเช่นรถยนต์ขยายตัวดีจากการส่งเสริมการขาย โดยลดเงินดาวน์และขยายงวดผ่อนชำระ ธุรกิจอสังหาฯส่วนใหญ่ชะลอการเปิดโครงการใหม่ การก่อสร้างคอนโดมิเนียมซบเซาจากลูกค้าต่างประเทศโดยเฉพาะจีนชะงักจากภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว การก่อสร้างบ้านนวราบทรงตัวจากระยะเดียวกับปีก่อน การก่อสร้างของชาวบ้านชะลอลงทั้งบ้านใหม่และปรับปรุงบ้านเดิมเพราะขาดกำลังซื้อ
ความสนใจประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพในเชียงใหม่มีพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ดำเนินการและมีศักยภาพสูง เป็นธุรกิจบริการที่นำเทคโนโลยีผสมผสานกับการจัดการ และส่วนใหญ่อยู่ในช่วงบุกเบิกที่ต้องการแรงสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งข้อแนะนำสำหรับสตาร์ทอัพในเชียงใหม่คือต้องหาปัญหาและพฤติกรรมผู้บริโภคในระดับอาเซียนหรือระดับโลก ออกให้เร็ว ปรับให้ไว ตอบโจทย์ให้ได้ กำหนดเป้าหมาย วัดผลอย่างต่อเนื่อง มีเงินเลี้ยงชีพและเตรียมตัวอย่างดีเพื่อหาผู้ร่วมทุนและเตรียมกลยุทธ์ Exit Strategy เมื่อประสบความสำเร็จ
ทางด้านนางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจเชียงใหม่ในปี 2562 จะเร่งตัวขึ้นจากปี2561 จากการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ปลายไตรมาสที่ 1 ที่จะส่งผลด้านความมั่นใจทางการเมืองของนักลงทุนและผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ประกอบการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปลายปีต่อเนื่องต้นปีก่อนการเลือกตั้งทั้งผ่านบัตรสวัสดิการการออกมาตรการด้านภาษีที่ให้เกิดการท่องเที่ยวเมืองรอง เป็นต้น ก็จะทำให้ประชาชนจะกลับมาใช้จ่าย ลงทุน และบริโภคจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ส่วนด้านเศรษฐกิจของเชียงใหม่เองยังต้องพึ่งส่วนของการท่องเที่ยว และการลงทุน ซึ่งคาดว่าในช่วงไฮซีซั่นปีนี้นักท่องเที่ยวจีนจะมีอัตราท่องเที่ยวที่สูงขึ้น ซึ่งเราจะต้องปรับรูปแบบการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่ปรับเปลี่ยนจากกรุ๊ปทัวร์มาเป็นการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง หรือ FIT สูงขึ้น
หอการค้าฯ ได้วิเคราะห์เศรษฐกิจเชียงใหม่แต่ละด้านดังนี้ ด้านการท่องเที่ยว ด้านนักท่องเที่ยวจีนที่มีประเด็นว่าลดลงในปีที่ผ่านมา หอการค้าฯได้วิเคราะห์แล้วว่าจำ นวนนักท่องเที่ยวจีน และเที่ยวบินไม่ได้ลดลง และในปี 2561 มีมากกว่า 2 ล้านคน สายการบินประจ าที่ท าการบินตรงจากเชียงใหม่ไปยังจีนแผ่นดินใหญ่และเขตปกครองพิเศษของจีนอีก 15 สายการบินใน 14 เส้นทาง 36 เที่ยวบิน/วัน หรือเฉลี่ยวันละ 6,000 คน ก็ยังไม่ลดและยังเพิ่มบินตรงไปยังเมืองปักกิ่งเพิ่มขึ้นของแอร์เอเชีย ซึ่งเดิมแอร์เอเซียมีเส้นทางบินตรงระหว่างประเทศไปยัง ฮ่องกง มาเก๊า ฉางซา หางโจว และหนานชาง แต่ที่น่าสนใจคือนักท่องเที่ยวจีนใช้บริการผ่านบริษัททัวร์ลดลงมาก และนักท่องเที่ยวกลุ่มท่องเที่ยวด้วยตนเองแทน (Free and Independent Traveler : FIT) ส่วนนี้หอการค้าฯจึงจะได้เสนอให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวปรับตัวด้านสินค้าและบริการที่เชื่อมระบบออนไลน์กับจีนสูงขึ้นรวมถึงการใช้ระบบชำระเงิน
โดยสถิตินักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนเชียงใหม่มีทั้งหมด 10,844,753 คน เป็นคนไทย7.5 ล้านคน ชาวต่างชาติ 3.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ ร้อยละ 4 สามารถสร้างรายได้ให้กับพื้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ถึง 108,012 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย 66,362 ล้านบาท และจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 41,650 ล้านบาทส่วนแนวโน้มในปีนี้ คิดว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวจากอินเดียก็จะเพิ่มขึ้นด้วย จึงเชื่อมั่นว่าอัตราการขยายตัวของการท่องเที่ยวยังจะขยายตัวสถิตินักท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวน 11-12 ล้านคน จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว 10% หรือมากกว่า 120,000 ล้านบาท ซึ่งในระยะยาว ในปี 2563 มีการประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นถึง 15-20 ล้านคน ซึ่งเชียงใหม่ในอนาคตเราจำเป็นที่จะต้องกระจายและดึงนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในกลุ่มใหม่เพิ่มทั้งจากตะวันออกกกลาง หรือในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน
ด้านสินค้าการเกษตร ถือว่าเป็นภาคเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นเนื่องจากผลผลิตลำไยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5-7 จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อเนื่องโดยเฉพาะปลายปีฤดูหนาวนี้ก็จะมีสตรอเบอรี่ รวมพืชผักเมืองหนาวออกสู่ตลาด อย่างไรก็ตามภาคการเกษตรก็จะเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว หากเราช่วยกันส่งเสริมให้เกิดภาคการท่องเที่ยวเติบโตขึ้น ก็จะช่วยกันเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และก็จะกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ได้เศรษฐกิจก็จะหมุนเวียนตามมาด้วย
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีการประเมินว่า จะไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา มีอุปทานคงเหลือจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ชะลอการลงทุน กำลังซื้อบ้านเดี่ยวของลูกค้าในประเทศไม่สูงมากนัก และเริ่มมีธุรกิจจัดสรรขนาดเล็ก จำนวนแปลงไม่มาก พัฒนาโดยผู้ประกอบการรายเล็กในพื้นที่และจำหน่ายในราคาไม่สูง สำหรับคอนโดมิเนียมยังได้กำลังซื้อจากนักลงทุนชาวจีน และมีการเปิดโครงการใหม่เพื่อรองรับความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมของชาวจีนอย่างต่อเนื่อง SME ต้องปรับตัวสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิตอล
นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ กล่าวต่อไปอีกว่า หอการค้าฯ ยังให้ความสำคัญกับการนำเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในจังหวัด เนื่องจากมองแนวโน้มในอนาคตอันใกล้ว่ามูลค่าการค้าแบบ E-commerce มีอัตราการเติบโตสูง และขยายตัวเร็วมาก ซึ่งหอการค้าฯ กำลังสร้างฐานข้อมูลด้านนี้ขึ้นมาโดยตรง เพราะเชียงใหม่มีมูลค่าการค้าแบบออนไลน์สูง นอกจากนั้นการเข้าสู่ระบบสังคมไร้เงินสดก็ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นการรับรู้ให้มากขึ้น เพราะจะลดต้นทุนรวมถึงสะดวกสำหรับผู้ขายด้วย รวมถึงหอการค้าฯ จะได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจระบบการส่งออกสินค้าไปยังจีนในระบบ Cross Border Ecommerce ด้วยที่จะทำให้ลดต้นทุนทางด้านภาษีนอกจากนั้น ยังพบว่ามีสถิติธุรกรรมการนำส่งพัสดุทางไปรษณีย์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อธุรกิจออนไลน์หรืออีคอมเมิร์สมีธุรกรรมที่ขยายตัวรวดเร็ว ย่อมหมายความถึงธุรกิจดั้งเดิมที่เป็น off-line ยอดจำหน่ายจะถูกกระทบไปด้วย และจะรุนแรงขึ้นในอนาคต ซึ่งหอการค้าฯ จะได้เร่งกระตุ้นผู้ประกอบการ รวมถึงสมาชิกหอการค้าฯ ได้ปรับตัวและเข้าสู่ฐานเศรษฐกิจดิจิตอลมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเป้าหมายหอการค้าฯ ก็จะผลักดันต่อเนื่องให้เชียงใหม่เป็นเมือง marketplace ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล และการเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศต่อไป
ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากการบริหารงานของหอการค้าฯ ในสมัยนี้จะหมดวาระในเดือนมีนาคม 2562 ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 16 มีนาคม 2562 ก็จะได้ประสานงานต่อไปยังประธานและคณะกรรมการชุดใหม่ในการดำเนินกิจกรรมโครงการที่ส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยจะเสนอให้คงโครงการต่อเนื่องได้แก่ โครงการที่หอการค้าฯ ได้นำเสนอและผ่านมติคณะรัฐมนตรีสัญจรแล้วคือโครงการพื้นที่นวัตกรรมเครื่องสำอางภาคเหนือ (Northern Thailand Cosmetic Valley)และโครงการ Cross Border Ecommerce เชื่อมตลาดจีน นอกจากนั้นคือ โครงการงานแสดงสินค้า เช่น หอการค้าแฟร์ งานแสดงสินค้าชายแดนเพื่อสร้างช่องทางการตลาด กระตุ้นกำลังซื้อในพื้นที่และภาคเหนือ ตลอดจนเป็นเวทีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด โครงการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว(Long Stay) ที่จะดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่พำนักระยะยาวเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่ โครงการท่องเที่ยวฮาลาล (Halal Tourism) เจาะตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม โครงการส่งเสริมด้านการค้า การท่องเที่ยวกับบ้านพี่เมืองน้องกับจังหวัดเชียงใหม่ และหอการค้าฯ โครงการเชียงใหม่สู่ Smart City เป็นต้น นอกจากนั้นก็จะได้เร่งรัดโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเชียงใหม่ไม่ว่าด้านด้านสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ โครงการมอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย เป็นต้น.