หอการค้าเชียงใหม่ห่วงSMEพังหลังหมดระยะเวลาพักชำระหนี้ เผยท่องเที่ยวเริ่มกระเตื้องช่วงปลายปี

หอการค้าเชียงใหม่ห่วงSMEพังหลังหมดระยะเวลาพักชำระหนี้ เผยท่องเที่ยวเริ่มกระเตื้องช่วงปลายปี

หอการค้าเชียงใหม่ห่วงอุตสาหกรรมขนส่งบริการ หลังหมดเวลาพักชำระหนี้ SME ชี้สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ ขณะที่รถบัส-รถตู้นำเที่ยวกว่า 90%แขวนป้ายไร้งาน ขาดรายได้ คาดคงต้องปล่อยไฟแนนซ์ยึดเหตุไม่มีเงินจ่ายชำระค่างวด ปธ.หอการค้าฯระบุศก.ปีหน้าหากไม่มีการระบาดระลอกใหม่เชื่อเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว แจงแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 9 ต.ค.63 ที่สำนักงานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่   นายวโรดม  ปิฎกานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารได้ร่วมกันแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 โดยดร.กอบกิจ อิสรชีววัฒน์ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจในรอบ 9 เดือนของปี 63 ว่า เศรษฐกิจของเชียงใหม่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก แต่เมื่อมีสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างมากและทำให้เศรษฐกิจโดยรวมหดตัวไปด้วย

“การบริโภคภาคเอกชนก็หดตัวมาก ตามกำลังซื้อในส่วนของสินเชื่อก็มีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมาก แม้ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือ SMEsถึง 5 แสนล้านบาท แต่ในความเป็นจริง SMEs ส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงเงินทุนดังกล่าวทำให้ไม่มีทุนหมุนเวียนและจ้างงาน จึงทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไม่ได้ การท่องเที่ยวก็หดตัวมาก หากดูตัวเลขผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่เมื่อปี 62 สูงถึง 11 ล้านคนเป็นชาวต่างชาติ 1.5 ล้านคนแต่ไตรมาส 1-2 ของปี 63 ตัวเลขลดลงถึง93.7% แต่ในไตรมาส 3 ปีนี้เริ่มดีขึ้นจากมาตรการไทยเที่ยวไทยและเป๋าตุง แต่ก็ยังติดลบอยู่ร้อยละ 68.5 เพราะตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเป็นศูนย์”รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวและว่า

สำหรับอัตราเงินเฟ้อแม้ว่าไตรมาส 2 จะลดลง แต่คนก็ประหยัดมากขึ้น ทำให้ไตรมาส 3 เงินเฟ้อดีขึ้นแต่ก็ยังติดลบร้อยละ 0.8 ขณะที่อัตราว่างงานดูตัวเลขแล้วร้อยละ 3.4 ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนักเพราะภาคเหนือแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร ตัวเลขคนว่างงานส่วนใหญ่จึงมาจากภาคบริการและท่องเที่ยว

ทางด้านนายวโรดม ปิฎกานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2564 จะสอดคล้องกับเศรษฐกิจมหภาคคือขึ้นอยู่การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงในไทย หากไม่มีการระบาด โอกาสการฟื้นตัวจะเร็วขึ้น รวมถึงปัจจัยเรื่องวัคซีน การใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ และการเตรียมพร้อมเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เป็นต้น

“ล่าสุดเชียงใหม่ได้เตรียมความพร้อมด้านมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในการจัดเตรียมที่พักแบบ Alternative Local Quarantine สำหรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA: STV) แบบจำกัดจำนวนตามที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาฯ การท่าอากาศยานเตรียมความพร้อมที่จะรับเที่ยวบินระหว่างประเทศวันละ 2 เที่ยวบิน หรือไม่เกินวันละ 400 คน ในส่วนหอการค้าฯ คิดว่าเราจะต้องรอบคอบและมีมาตรการที่เข้มงวด ซึ่งหากดำเนินการได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อมาตรการด้านสาธารณสุข รวมถึงความร่วมมือของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หอการค้าฯ ก็จะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการปฏิบัติของจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป ซึ่งหากดำเนินการได้จะเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ได้ ซึ่งคิดว่าภายในปีนี้ยังคงไม่สามารถดำเนินการได้ทัน”   ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่กล่าวและชี้แจงต่อว่า

แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2564 ขึ้นอยู่กับมาตรการและนโยบายกระตุ้นของภาครัฐเป็นเรื่องหลักได้แก่ กระตุ้นกำลังซื้อภาคชาวบ้านผ่านราคาสินค้าเกษตร และกำลังซื้อของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย การกระตุ้นด้านการคลัง เพิ่มการใช้จ่าย  ทดแทนการลงทุนภาคเอกชน การดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนและสามารถแข่งขันได้  โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือกลุ่มที่มีความเปราะบางและ SME ซึ่งล่าสุดออกมาตรการด้านการสร้างแรงงานตามโครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบลก็จะช่วยให้แรงงาน และนักศึกษาจบใหม่มีงานทำเพิ่มมากขึ้น

ที่น่าเป็นห่วงคือมาตรการพักชำระหนี้ที่จะหมดเขต 22 ต.ค.นี้ ทางภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลมีการขยายเวลาออกไปเพราะ SMEs ยังอ่อนแอ แต่รัฐบาลก็ไม่มีการขยายเวลาแล้วเพราะเกรงว่าจะผิดวินัยการเงินและทำให้เงินไม่เข้าสู่ระบบธนาคาร โดยรัฐบาลจะให้ผู้ประกอบการไปเจรจากับสถาบันการเงินเองโดยการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งทางธนาคารก็จะเจรจากับผู้ประกอบการโดยตรง ทางหอการค้าฯเองก็แจ้งไปยังสมาชิกแล้วว่าหากมีปัญหาอุปสรรคะให้ทางหอการค้าฯประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทยให้

ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต่อไปอีกว่า ในแผนงานต่อไปหอการค้าฯจะเร่งดำเนินโครงการ และกิจกรรมที่กระตุ้นเศรษฐกิจเชียงใหม่ ในปลายปีนี้และปี 2564 โดยจะส่งเสริมสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวภายในประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดรอบข้าง เพื่อช่วยเติมเต็มช่องว่างของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป รวมถึงเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของจังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือ  เพราะผลกระทบจากเรื่องของ PM2.5 สร้างความเสียหายให้แก่เชียงใหม่มูลค่ากว่า 48,400-50,000 ล้านบาท

นอกจากนี้จะผลักดันให้เชียงใหม่เป็น Medical-Wellness Tourism เพื่อรองรับ Long Stayer  เนื่องจากเชียงใหม่มีเทคโนโลยีแพทย์เฉพาะทางเฉพาะด้านที่มีชื่อเสียง และมีโรงพยาบาลระดับมาตรฐานในระดับนานาชาติ ตลอดจนธุรกิจบริการด้านสุขภาพที่ครบวงจร โดยศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของเชียงใหม่ มีสถานบริการโดยรวมมากถึง 1,534 แห่ง ซึ่งคาดว่าได้สร้างเงินหมุนเวียนในพื้นที่มากกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี

หอการค้าฯยังผลักดันด้านการค้าชายแดน   กิ่วผาวอก-หลักแต่งอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดทางกระทรวงพาณิชย์ได้สนับสนุนและประสานงานทางพม่าแล้ว  หากมีการเปิดผ่อนปรนก็จะเป็นการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงจะส่งเสริมการท่องเที่ยวชายแดนด้วย  ดังนั้นหากสามารถยกระดับเป็นด่านถาวรได้จะทำให้มีการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าทางการค้าที่เกิดขึ้นจะสูงถึงปีละ 5 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการ Thai cometopoeia     หรือการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น ที่หอการค้าร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว) ที่จะร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์นวอัตลักษณ์เครื่องสำอาง (Innovative Identity Cosmetic) ประเทศไทยให้มีความโดดเด่น และแตกต่าง ด้วยการใช้ทรัพยากรฐานชีวภาพที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่  โดยใช้ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม  ในอนาคตจะเป็นภาคเศรษฐกิจที่เติบโตมีมูลค่ามากกว่า 5 พันล้านบาท  โครงการ Medicopolis เชียงใหม่เป็นจังหวัดเดียวในประเทศที่ได้ลงนามกับ TCEL และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งหอการค้าจังหวัดเป็นเครือข่ายหนึ่งที่จะส่งเสริมจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองสุขภาพ  ในการรองรับกลุ่มผู้รักสุขภาพ และการดูแลรักษาพยาบาลในอนาคต ซึ่งมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

สนับสนุนโครงการ Gastronomy Tourism ที่หอการค้าฯ จะได้ร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่ ฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังวิกฤติโควิด-19   ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ เกษตรกร ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้ประกอบการธุรกิจบริการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท เป็นการสร้างภาพลักษณ์เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนาแบบใหม่ หรือ Chiang Mai Gastronomy Culture และเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวคุณภาพในปี 2564 ไม่น้อยกว่า 50,000 คนด้วย

หอการค้าฯ มีแผนงานที่จะร่วมกับภาคเอกชน และภาคการศึกษาที่จะผลักดัน Smart City เมืองอัจฉริยะ ให้เกิดพื้นที่นำร่องเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะย่านนิมมานเหมินท์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวในรูปแบบ New Normal ในอนาคต ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนให้เม็ดเงินหมุนเวียนด้านเศรษฐกิจใหม่ด้านดิจิตอลในพื้นที่มากกว่า 5,000 ล้านบาท สนับสนุนให้เกิดการประชุมและแสดงสินค้า หรือ MICE City และส่งเสริมเศรษฐกิจบ้านพี่เมืองน้อง (Sister City) ที่จะสานต่อความร่วมมือในอนาคต หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง โดยหอการค้าฯจะติดตามผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศตามนโยบายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย รวมถึงทางยุโรปที่เคยมีความร่วมมือกัน อันจะเป็นการส่งออกสินค้า และการค้าขายระหว่างกันในอนาคตรวมถึงการท่องเที่ยวด้วย

ขณะที่นายสัมฤทธิ์ ไหคำ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หากดูแนวโน้มเศรษฐกิจแล้วธุรกิจที่หนักและน่าเป็นห่วงคือธุรกิจอุตสาหกรรมขนส่งและบริการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนส่งนำเที่ยวทั้งรถบัสและรถตู้ที่ทำทั้งเอ้าท์บาวน์และอินบาวด์ เนื่องจากเกิดการระบาดของโควิดฯทำให้เจ้าของธุรกิจต้องแบกรับภาระ เพราะไม่มีลูกค้า รถต้องจอดนิ่งมานานแต่ขณะเดียวกันภาระค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ค่าผ่อนค่างวดรถยังเท่าเดิม

“รถเหล่านี้ต้องผ่อนชำระกับไฟแนนซ์และหากไม่มีเงินผ่อนก็จะปล่อยให้ถูกยึด และทางไฟแนนซ์เองก็ไม่ได้อยากจะยึดเท่าไหร่แต่หากไม่มีเงินชำระค่างวดจะให้ทำอย่างไร รถตู้ รถทัวร์มือ 2 ทางเต้นท์รถมือ 2 ก็ไม่รับเพราะรถตู้ไม่ได้ขายง่ายเหมือนรถส่วนบุคคลทั่วไป ขนาดจอดทิ้งไว้ข้างทางยังไม่มีคนขโมยเลย รถตู้ รถบัสหลายบริษัทจึงใช้มาตรการแขวนป้าย บางบริษัทมีรถ 50-80 คันต้องแขวนป้ายถึง 90%และผู้ประกอบการก็ไม่สามารถไปขอกู้เงินจากโครงการช่วยเหลือ SMEs ได้เพราะแบงก์ถือว่ารถไม่ใช่สินทรัพย์”รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวและว่า

ในขณะนี้เข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และเข้าสู่ไฮซีซั่น ในส่วนของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการก็เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว ตอนนี้เชียงใหม่ก็เริ่มเป็นที่นิยม มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นเมื่อมีการเปิดสวนดอกไม้และแหล่งท่องเที่ยวใหม่ทางธรรมชาติ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวเองก็ต้องปรับตัวหันมาทำตลาดในประเทศมากขึ้น ล่าสุดก็เจาะกลุ่มที่เพิ่งเกษียณอายุหรือกลุ่ม YO ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องการความสะดวก สบายและไปท่องเที่ยวย้อนรำลึกความหลัง โดยจัดท่องเที่ยวันเดย์ทริปขึ้นรถไฟไปรำลึกความหลังที่ลำปาง พาไปไหว้พระและสัมผัสวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่นั่น โดยร่วมกับทางททท.ลำปางซึ่งได้เริ่มกิจกรรมเมื่อ 29 ก.ย.และจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ย.โดยกิจกรรมจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก.

You may also like

ชมรมผู้บริหารงานแม่บ้านโรงแรมจัดงาน“ Chiang Mai Housekeeping Fair 2024

จำนวนผู้