หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่แถลงภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีแรกปรับตัวดี แต่ราคาสินค้าเกษตรยังต่ำทำให้เกษตรกรมีภาระหนี้สิน คาดเศรษฐกิจครึ่งปีหลังดีขึ้น ท่องเที่ยวขยายตัวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนคาดทะลุ 2 ล้านคน ขณะที่การลงทุนภาคอสังหาฯเริ่มฟื้นตัว ปธ.หอฯยันผลักดันโครงการเมกะโปรเจคเข้าครม.สัญจรที่ลำปาง หวังรัฐลงทุนจะทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่มีแรงขับเคลื่อน
วันที่ 25 ก.ค.61 ที่ห้องอิมพีเรียล 2 โรงแรมแม่ปิง นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายสมชาย ทองคำคูณ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันแถลงข่าวเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ไตรมาสแรกและไตรมาส 2 และแนวโน้มในครึ่งปีหลังของปี 2561
นายสมชาย ทองคำคูณ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ ไตรมาส 1และไตรมาส 2 ปี 2561 ปรับตัวดีขึ้น ตามภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี และพยุงการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคให้ปรับตัวดีขึ้นบ้าง เนื่องจากกำลังซื้อภาคชาวบ้านยังไม่เข้มแข็ง จากราคาพืชผลที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำและภาระหนี้สินของเกษตรกร การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัวในบางสาขา เช่น ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากกำลังซื้อของลูกค้าที่มีคู่ สมรสเป็นชาวต่างประเทศดูดซับบ้านและคอนโดมิเนียมคงเหลือให้ลดลง ทำให้เริ่มมีสัญญาณลงทุนในโครงการบ้านจัดสรรขนาดเล็กและคอนโดมิเนียม ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการในช่วงปลายปีนี้ต่อถึงปีหน้า การลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวยังมี ต่อเนื่องทั้งในส่วนของการลงทุนใหม่และปรับปรุงโรงแรมเดิม
“แม้ว่าผลผลิตทางการเกษตรจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8 โดยเฉพาะหอมแดง กระเทียมและหอมหัวใหญ่แต่ราคาพืชผลทางเกษตรตกต่ำลง แม้กระทั่งสุกรซึ่งราคาตกมาหลายปี ทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงสุกรมีรายได้ลดลง ขณะเดียวกันในส่วนของอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตรดีขึ้น เนื่องจากวัตถุดิบราคาถูกจึงผลิตได้มาก ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกและผู้เลี้ยงมีรายได้ลดลง ซึ่งทางหอการค้าฯเองก็จะส่งสัญญาณเตือนไปยังภาครัฐให้เข้ามาดูแลช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตต่อไป”รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวและชี้แจงอีกว่า
ทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้ง 2 ไตรมาสพิจารณาจากเครื่องบ่งชี้ เช่น การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมและดัชนียอดขาย เช่น อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปยังขยายตัวจากวัตถุดิบที่เอื้ออำนวยและความต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ อุตสาหกรรมสุขภาพขยายตัว ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ
ภาคท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่องทั้งสองไตรมาส แม้ว่าผู้ประกอบการเกสเฮ้าส์อยู่ในช่วงจัดระเบียบ แต่ นักท่องเที่ยวโดยรวมยังขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่ ไตรมาสที่ 1 และ 2 เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกับปีก่อน ร้อยละ 8.7 และร้อยละ 10.1 ตามลำดับ ในส่วนผู้โดยสารมีเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศสู่เชียงใหม่ไตรมาสที่ 1 และ 2 เพิ่มสูงถึงร้อยละ 16.7 และร้อยละ 13.3 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 67 เป็นนักท่องเที่ยวจีน ประกอบกับตลาดการประชุมสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจต่อเนื่องยังขยายตัวดี ทั้งนี้เหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวใน จังหวัดเชียงใหม่
รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนของภาคเอกชนในไตรมาส 1 และ 2 ยังไม่เติบโตเท่าที่ควรดูจากยอดการจดทะเบียนรถยนต์กระบะยังติดลบ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเอกชนยังไม่มีการลงทุนเพิ่มจึงไม่ซื้อรถกระบุบรรทุกเพื่อขนส่งสินค้า สินเชื่อทางด้านอสังหาริมทรัพย์ก็ยังไม่ค่อยดี ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายบ้านราคาล้านกว่าถึง 2 ล้านบาท ทั้งนี้เพราะธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ แต่หากเป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบนเครดิตจะดีธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อให้ ทำให้สินเชื่อกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างดี
“ในช่วงปลายปี 60 กำลังซื้อของคนไทยค่อนข้างน้อย ในช่วงกลางปีที่แล้วกำลังซื้อของคู่สมรสชาวต่างประเทศค่อนข้างดีขึ้นจึงทำให้ยอดอสังหาฯกระเตื้องขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังเพิ่มสูงขึ้น ในไตรมาสแรก 0.7 และเพิ่มเป็น 1.2 ในไตรมาส 2 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นตาม และเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ก็อยู่ในอัตราที่เพิ่มขึ้นด้วย”นายสมชาย กล่าว
ทางด้านนางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจเชียงใหม่ครึ่งปีหลัง จะแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการมอนิเตอร์ในการทำโฟกัสกรุ๊ป และประเมินโดยใช้เครื่องมือทางตัวเลข ผลก็จะออกมาทางวิชาการที่จับตัวเลขหลัก ๆ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชียงใหม่เป็นหลักคือด้านการท่องเที่ยว การเกษตร การค้า อสังหาริมทรัพย์ การลงทุน และอีกส่วนเป็นการวิเคราะห์เสริม
ในด้านการท่องเที่ยว คาดว่ายังไปได้ดี แม้ว่าจะมีปัญหาเรือล่มที่ภูเก็ต แต่ที่ทางหอการค้าได้วิเคราะห์ก็พบว่าในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเชียงใหม่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว นักท่องเที่ยวจีนยังเข้ามาตามปกติ และการเอาใจใส่และการดูแลของทางการ ก็ช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว หอการค้าฯ คิดว่าเมื่อถึงสิ้นปีคาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวน่าจะขยับแตะที่ 11 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ซึ่งตัวเลขที่ยืนยันได้ว่า นักท่องเที่ยวจีนที่มาเชียงใหม่ไม่ได้ลดน้อยลงกว่าปีที่แล้วแต่อย่างใด และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนมากกว่า 1 แสนล้านบาท
ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า หอการค้าฯให้ความสำคัญด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนมี 2 ด้านที่ต้องมองด้านโอกาสและผลกระทบ ซึ่งจากทีมที่ปรึกษาของ ได้สรุปพบว่า นอกจากนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาแล้ว ยังมีกลุ่มทุนจีนเข้ามาลงทุนใน 3 ธุรกิจหลัก ๆ คือ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจขนส่งหรือโลจิสติกส์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งด้านการท่องเที่ยวก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับภูเก็ตที่ทุนเข้ามาครอบงำทั้งซัพพลายเชนแล้วไม่ได้เกิดประโยชน์กับธุรกิจในพื้นที่เลย ไม่ว่าจะเป็นทัวร์ ร้านอาหาร โรงแรม หรือแม้กระทั่งของที่ระลึก ตลอดจนการขนส่งสินค้าของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่นิยมซื้อของฝากของที่ระลึกจากเชียงใหม่ส่งกลับไปยังจีน ตรงนี้ยังเป็นประเด็นที่หอการค้าฯ ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และยิ่งเป็นตัวเลขที่ชัดเจนว่าเกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย
จากผลการวิจัยของบริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ก็ได้ระบุว่าจำนวนลูกค้าชาวต่างชาติที่ซื้อคอนโดมิเนียมในเชียงใหม่ พบว่า 60% และคาดว่าปีนี้สัดส่วนจะขยับมากขึ้นถึง 70% เป็นกลุ่มลูกค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ 20% คือกลุ่มลูกค้าในย่านเอเชียประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะฮ่องกงและเกาหลี อีก 20% เป็นชาติยุโรปและอเมริกาในสัดส่วนโควตาชาวต่างชาติที่ถือครองกรรมสิทธิ์ได้ 49% เนื่องจากคนจีนมองเห็นโอกาสในการลงทุน รวมไปถึงมีการส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนต่อในไทยที่ จ.เชียงใหม่ มากขึ้นด้วย รูปแบบการซื้อจึงซื้อไว้เพื่อการลงทุน รวมไปถึงเป็นที่อยู่อาศัยในวัยเกษียณ สอดคล้องกับสถิติสายการบินประจำที่ทำการบินตรงจากเชียงใหม่ไปยังจีนแผ่นดินใหญ่และเขตปกครองพิเศษของจีนอีก 15 สายการบินใน 14 เส้นทาง 36 เที่ยวบิน/วัน หรือเฉลี่ยวันละ 6,000 คน
เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากจีนเดินทางมายังเชียงใหม่ประมาณ 1.4 ล้านคน คาดว่าภายในปี 2561 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามายังเชียงใหม่กว่า 2 ล้านคน เรียกได้ว่าอนาคตเชียงใหม่จะเป็นเมืองที่เป็นบ้านหลังที่สองของจีนก็ว่าได้ ในทางกลับกันหอการค้าฯ ก็มองโอกาสทางด้านการค้าฯ การผลิตสินค้าทีตรงกับความต้องการโดยเฉพาะด้านผลไม้ สินค้าหัตถกรรม โดยหอการค้าฯ กำลังผลักดันให้เชียงใหม่เป็น Market Place ที่จะส่งสินค้า Cross border Ecmmerce
ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ปีนี้ผลไม้เศรษฐกิจของเชียงใหม่ผลผลิตออกมาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะลำไยซึ่งขณะนี้ระดับราคายังอยู่ระดับกลางๆ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะลดต่ำลง เพราะในช่วงเดือนสิงหาคมจะเป็นช่วงที่ผลผลิตออกมามาก ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ก็น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เพราะ สต๊อกบ้านและคอนโดก็ลดลงไปพอสมควร มีสัญญาณที่ดีโดยเริ่มเห็นผู้ประกอบการขยับตัวลงทุนใหม่ ๆ ในธุรกิจบ้านและคอนโดมิเนียม ซึ่งจะทำให้ช่วงครึ่งหลังหรือต้นปีหน้า ภาคอสังหาริมทรัพย์กระเตื้องขึ้น ที่สำคัญ สัญญาณการลงทุนภาครัฐมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในโครงการเมกกะโปรเจคที่หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมผลักดันมาโดยตลอด ทั้งโครงการขยายสนามบินเชียงใหม่เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว 18 ล้านคนในปี 2568 โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โครงการมอเตอร์เวย์ เชื่อมเชียงใหม่-เชียงราย รวมถึงโครงการลงทุนด้านขนส่งมวลชนในพื้นที่เป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน และบนดิน ซึ่งหอการค้าฯ จะได้นำเสนอประเด็นด้านลงทุนทุกด้านให้รัฐบาลได้เร่งรัดให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะนำเสนอในการประชุม ครม.สัญจรที่จะเกิดขึ้นที่จังหวัดลำปางในเร็ว ๆ นี้ด้วย
นางวิภาวัลย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นความท้าทายทางเศรษฐกิจ ซึ่งหอการค้าฯ ได้ร่วมกับ กกร. เร่งรัดผลักดันโครงการใหญ่ ๆ ให้เป็นรูปธรรมและกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงด้านการค้าชายแดน ที่ด่านหลักแต่ง อ.เวียงแหง ที่จะเป็นส่วนเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่ในอนาคตและจะเป็นการเปิดช่องทางเศรษฐกิจเชื่อมกับพม่า และอินเดียในอนาคตด้วย ส่วนราคาสินค้าเกษตรขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ และปัจจัยการผลิต สำหรับด้านการตลาดหอการค้าฯ จะเร่งสนับสนุนการแปรรูป ต่อยอด เพื่อเพิ่มมูลค่าสู่ตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานด้านฮาลาล การต่อยอดสินค้าเกษตรในโครงการคอสเมติก วัลเล่ย์ ซึ่งเป็นการต่อยอดการนำสมุนไพรที่มีมากในภาคเหนือมาเพิ่มมูลค่าและยกระดับมาตรฐานสินค้า รวมถึงผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์
สำหรับปัญหาภาวะหนี้ครัวเรือน ซึ่งก็เปรียบเหมือนกับเชือกที่ดึงขาไม่ให้เศรษฐกิจฟื้น วิธีที่ดีที่สุดคือช่วยด้านราคา มีการหาช่องทางการขายใหม่ ๆ เช่น e-commerce รวมทั้ง cross border เพื่อให้ราคาสูงขึ้น โดยสรุปแล้วหอการค้าฯคาดว่าเศรษฐกิจเชียงใหม่ในครึ่งหลังของปียังมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว การเกษตรและการลงทุน และทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันต่อสู้กับความท้าทาย เพื่อให้เศรษฐกิจเชียงใหม่คึกคักให้ได้ และคาดว่าเศรษฐกิจในปีหน้าก็จะกระเตื้องขึ้นโดยมีปัจจัยด้านการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2562 ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น.